ประเทศแถบหนาว เจริญกว่า ประเทศแถบร้อน จริงหรือ?

ประเทศแถบหนาว เจริญกว่า ประเทศแถบร้อน จริงหรือ?

13 มิ.ย. 2021
ประเทศแถบหนาว เจริญกว่า ประเทศแถบร้อน จริงหรือ? /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ไหน ?
คำตอบคือ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีอากาศหนาวเย็น
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จะอยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา ที่มีอากาศร้อนกว่า
จึงมีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า จริง ๆ แล้วสภาพอากาศ
อาจมีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศ
ประเทศแถบหนาว ต้องเจริญกว่า ประเทศแถบร้อน จริงหรือ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเรามาดูข้อมูลเหล่านี้กันก่อนว่า แนวคิดดังกล่าวสะท้อนความจริงของเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
รู้ไหมว่า ประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่เมื่อวัดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเป็นประเทศที่อยู่ในเขตหนาว และส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
โดย 10 ประเทศ ที่มี GDP มากที่สุดในโลก เมื่อเอา GDP มาบวกรวมกันแล้ว จะมีมูลค่าประมาณ 1,980 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 70% ของ GDP ทั้งโลก
ซึ่ง 10 ประเทศนั้นมาจาก
- ทวีปอเมริกาเหนือ 2 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
- ทวีปยุโรป 4 ประเทศ คือ เยอรมนี สหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศส
- ทวีปเอเชีย 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย
ถ้าไม่นับจีนและอินเดีย ที่มี GDP สูงจากจำนวนประชากรที่มาก
ประเทศที่เหลือทั้งหมดจะเป็นประเทศที่อยู่ในเขตที่มีอากาศหนาว
อีกประเด็นคือ ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงสุด 10 อันดับแรกของโลก มาจาก
- ทวีปยุโรป 6 ประเทศ คือ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และเดนมาร์ก
- ทวีปอเมริกาเหนือ 1 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา
- ทวีปเอเชีย 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และกาตาร์
- ทวีปออสเตรเลีย 1 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีอากาศหนาว
ยกเว้น สิงคโปร์และกาตาร์ ที่ตั้งอยู่เขตอากาศร้อน
และออสเตรเลียนั้น เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่
ที่มีพื้นที่ทั้งที่มีอากาศหนาวเย็น และบางพื้นที่มีอากาศอบอุ่นถึงร้อน
ซึ่งที่น่าสนใจคือ เมืองดาร์วินที่เป็นเมืองหลวงของรัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี รัฐทางตอนเหนือของออสเตรเลีย เป็นเมืองหลวงที่ร้อนที่สุดในประเทศ และเป็นเมืองหลวงที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวน้อยที่สุดในบรรดา 6 รัฐของออสเตรเลีย
จากข้อสังเกตเหล่านี้ จึงทำให้เกิดความเชื่อกันว่า ประเทศหรือพื้นที่ที่มีอากาศหนาวมักจะเจริญกว่าประเทศหรือพื้นที่ที่มีอากาศร้อน
David Landes อาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard เคยกล่าวไว้ว่า สำหรับประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศในแถบร้อน การจะมีชีวิตอยู่รอดได้ ผู้คนเหล่านั้นควรต้องทำงานช้าลง เพราะเหงื่อจะออกมาก ซึ่งนั่นอาจหมายถึง ผลิตภาพในการผลิต (Productivity) จะลดลงไปด้วย
สำหรับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า สภาพอากาศที่เย็น ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องมีการวางแผนและร่วมมือมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในฤดูหนาว
เช่น ในสมัยโบราณ การล่าสัตว์และการหาอาหารนั้น ถือว่าทำได้ยากในฤดูหนาว ทำให้มนุษย์ในสมัยก่อนต้องวางแผนล่วงหน้า ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น
การอาศัยในพื้นที่ที่หนาวเย็น ยังบังคับให้ผู้คนบริเวณนั้น ต้องหาทางสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความหนาวเย็น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือระหว่างคนหลายฝ่ายเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ
ในขณะที่ถ้าลองเทียบกับประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบร้อน จะพบว่า มนุษย์ที่อาศัยในภูมิอากาศแบบเขตร้อนที่มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมมากเท่าไรนัก
ขณะที่การล่าสัตว์และหาอาหาร ก็สามารถทำได้สะดวกกว่าตลอดทั้งปี
แม้หลักฐานหลายอย่างจะบอกว่า สภาพอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาประเทศหรือระดับของคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่หรือประเทศนั้น ๆ
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราก็จะเห็นว่า มีหลายประเทศที่ไม่ได้มีอากาศหนาว แต่กลับสามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวขึ้นไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
เช่น สิงคโปร์ และหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ก็เพราะว่า การพัฒนาประเทศมันไม่ได้มีแค่ ปัจจัยเรื่องอุณหภูมิในประเทศเพียงเท่านั้น
แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ความมั่นคงทางการเมือง เสถียรภาพของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ความมั่งคั่งของทรัพยากรทางธรรมชาติของแต่ละประเทศ และคุณภาพประชากร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีของสิงคโปร์
ที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน ทั้งยังเป็นประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1959 หรือเมื่อ 62 ปีที่แล้วเท่านั้น แต่ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน
ด้วยความที่สิงคโปร์นั้นเป็นเกาะขนาดเล็กและไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มากมายเหมือนหลายประเทศในเอเชีย ทำให้ในอดีตสิงคโปร์เคยถูกมองว่า จะเป็นประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาจนร่ำรวยได้
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำของสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นพัฒนาทรัพยากรบุคลากร ให้มีความรู้ทั้งด้านภาษาอังกฤษและเทคโนโลยี
มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างกรณีของท่าเรือที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการขนถ่ายสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
หลังจากนั้นก็ต่อยอดมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จนตอนนี้ได้ตั้งเป้าเพื่อเป็นศูนย์กลาง​เทคโนโลยีและสตาร์ตอัปของภูมิภาค ด้วยการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น
ยังไม่รวมการที่รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งมั่นในการปราบคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ในปี 2020
สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยทำให้เกาะเล็กอย่างสิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ต่อหัวของประชากรมากเป็นอันดับ 8 ของโลกในวันนี้
กรณีของประเทศในตะวันออกกลาง ที่อยู่ในเขตร้อนอย่าง กาตาร์ ก็เช่นเดียวกัน
แม้กาตาร์จะมีความโชคดี ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันและ​ก๊าซธรรมชาติอยู่จำนวนมหาศาล
มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 25,244 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 55 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก
แต่กาตาร์ก็รู้ว่า ในอนาคตรายได้จากน้ำมันมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น รายได้ดังกล่าวจึงต้องถูกนำมาใช้และบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างในปี 2008 รัฐบาลกาตาร์ได้ออกแผน Qatar National Vision 2030 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกาตาร์ เพื่อพัฒนาด้านบุคลากร เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สำหรับรองรับความท้าทายและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนด้านการศึกษาซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของประเทศ
อย่างเช่น การจัดตั้ง Education City ด้วยการดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เข้ามาตั้งเป็นวิทยาเขตในประเทศ
วันนี้ ประชาชนชาวกาตาร์ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 10 ของโลก และถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นกัน
สรุปคือ แม้เราจะเห็นหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นกันมาก และแม้ว่าความหนาวเย็นของอากาศในประเทศ จะมีผลต่อ Productivity ของคนในประเทศนั้นไม่มากก็น้อย
แต่อย่าลืมว่า การจะเป็นประเทศที่คนมีรายได้สูง และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น มันไม่สามารถตัดสินได้ด้วยปัจจัยเรื่องความสูงต่ำของอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว
ซึ่งเราคงบอกได้ว่า ถ้าประเทศนั้นมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน
ใช้จุดเด่นของประเทศให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ไม่ว่าประเทศนั้นจะตั้งอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก
อากาศในประเทศจะร้อนหรือจะหนาว
ประเทศนั้น ก็คงสามารถกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.sgsep.com.au/assets/main/SGS-Economics-and-Planning-Economic-performance-fo-asutralias-cities-and-regions-report.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://www.dailymail.co.uk/news/article-8477297/Why-colder-countries-richer-hot-nations.html
-https://data.worldbank.org/
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_proven_oil_reserves
-https://www.transparency.org/en/cpi/2020/index/nzl
-https://en.wikipedia.org/wiki/Education_City
- http://www.futurecasts.com/Landes,%20Wealth%20&%20Poverty%20of%20Nations.html
-https://blogs.worldbank.org/opendata/new-world-bank-country-classifications-income-level-2020-2021
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.