NETbay บริษัทเทคโนโลยี สัญชาติไทย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

NETbay บริษัทเทคโนโลยี สัญชาติไทย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

18 มิ.ย. 2021
NETbay บริษัทเทคโนโลยี สัญชาติไทย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ /โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจแปลกใจถ้าได้รู้ว่า บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท
ไม่ได้ก่อตั้งโดยคนที่จบด้านไอทีหรือด้านเทคโนโลยีเลย
บริษัทที่เรากำลังพูดถึงนี้ มีชื่อว่า บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “NETbay”
บริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร แล้วผู้ก่อตั้งคนที่เราพูดถึงนี้คือใคร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
NETbay ก่อตั้งโดยคุณพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์
ชายผู้เรียนจบทางด้านรัฐศาสตร์ แต่กลับมาเอาดีทางด้านเทคโนโลยี
แต่เดิมนั้นคุณพิชิตทำธุรกิจซื้อมาขายไป
โดยเป็นการนำเข้าเครื่องพิมพ์มาขาย
ซึ่งในช่วงแรกนั้นธุรกิจนี้ทำกำไรได้ค่อนข้างดี
แต่เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจนำเข้าเครื่องพิมพ์
เริ่มทำกำไรน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้เขาต้องเริ่มมองหาธุรกิจใหม่
ระหว่างนั้นเขาได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำธุรกิจด้านไอที 2 เล่ม
หนึ่งในนั้นคือ “Business @ the Speed of Thought”
ซึ่งเขียนโดย บิลล์ เกตส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft
ประโยคสำคัญในหนังสือของบิลล์ เกตส์
ที่เป็นการจุดประกายในการเข้าสู่ธุรกิจไอทีให้คุณพิชิตนั่นคือ
“ถ้าเราไม่รีบปรับตัวให้ทันกับโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สุดท้ายเราจะเป็นคนที่โดนกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงเข้าเล่นงาน”..
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณพิชิตจึงตั้งใจหันหน้าเข้าสู่โลกไอที
โลกธุรกิจใหม่ที่เขาแทบจะไม่มีความรู้เลยแม้แต่น้อย
เพียงสิ่งเดียวที่มีคือความเชื่อมั่น ว่าเทคโนโลยีและโลกดิจิทัล จะเข้ามาเปลี่ยนโลกในอนาคต
เขาเริ่มต้นด้วยการตั้งบริษัทด้วยทีมงานไม่กี่คน ช่วงแรกลองผิดลองถูกอยู่หลายอย่าง
ซึ่งคุณพิชิตบอกว่า เขาสังเกตเห็นธุรกิจลักษณะนี้เกิดขึ้น และประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาก่อน จึงนำมาปรับใช้ทำธุรกิจที่ประเทศไทย
ธุรกิจของเขาในช่วงเริ่มต้น ถือเป็นธุรกิจ Startup ที่เริ่มจากการให้บริการ Software as a Service (SaaS) และ Platform as a Service (PaaS)
อธิบายง่าย ๆ เป็นบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา แล้วเปิดให้ลูกค้าเข้ามาใช้งาน จากนั้นจึงเก็บค่าบริการตามการใช้งานจากผู้ใช้บริการ
ในสมัยนั้น ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ว่านี้ ยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย
ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเขานั้นถือว่าทำได้ยากมาก และช่วง 4 ปีแรกที่ก่อตั้งบริษัท ธุรกิจของเขาไม่มีกำไรเลย
จุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัทคือ การเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม สำหรับสร้างและส่งใบขนสินค้านำเข้า-ส่งออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ประกอบการใช้งานเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร
เนื่องจากสมัยก่อน ขั้นตอนพิธีการศุลกากรค่อนข้างยุ่งยาก ล่าช้า และมีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งผู้นำเข้า-ส่งออก หรือแม้แต่กรมศุลกากรมักมีอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน
ความสำเร็จในครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของบริษัท
ทำให้ในเวลาต่อมา NETbay เป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ได้เป็น e-Customs Gateway หรือ ผู้ทำหน้าที่พัฒนาระบบงานในการสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์สำหรับขนสินค้าขาเข้าและขาออก และให้บริการรับส่งเอกสารดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร
โดยปัจจุบัน ธุรกิจของ NETbay คือการคิดค้นและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร โดยมีลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ NETbay จะเป็นผู้สร้าง Ecosystem ของแพลตฟอร์ม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงกันของทุกฝ่าย และบริษัทจะเก็บค่าบริการจากลูกค้าที่เข้ามาใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ซึ่งค่าบริการที่บริษัทเรียกเก็บจากลูกค้านั้นจะมีทั้งค่าบริการต่อรายธุรกรรม (Pay per Transaction) และเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายเดือน (Monthly Fee)
การเติบโตของบริษัท ทำให้ในปี 2559 NETbay ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งนับว่าเป็นสตาร์ตอัปเจ้าแรกในไทย ที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้
ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ของบริษัทเกิดมาจาก 4 กลุ่ม
- ธุรกิจ E-Logistics Trading เช่น บริการพิธีการศุลกากร รายงานบัญชีสินค้าเข้า-ออกแบบไร้เอกสาร
- ธุรกิจ E-Business Services เช่น บริการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ให้แก่สถาบันการเงิน
- ธุรกิจ E-Payment บริการรับส่งข้อมูลการรับชำระเงิน
- ธุรกิจที่มีลักษณะเป็นรายโครงการ (Projects)
โดยบริการของ NETbay นั้นครอบคลุมหลายกลุ่มตั้งแต่ ภาคธุรกิจกับภาครัฐ (B2G), ภาคธุรกิจกับภาคธุรกิจ (B2B) และระหว่างภาคเอกชนกับประชาชนหรือผู้บริโภค (B2C)
รายได้และกำไรของ บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 รายได้ 368 ล้านบาท กำไร 149 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 422 ล้านบาท กำไร 179 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 394 ล้านบาท กำไร 156 ล้านบาท

รายได้และกำไรที่ลดลงในปีล่าสุด
ก็เพราะการระบาดของโควิด 19 กระทบกับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและกลุ่ม Logistics Supply Chain ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นอย่างหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดคือ NETbay เป็นบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิค่อนข้างสูง
โดยรายได้ทุก 100 บาท จะเป็นกำไรให้บริษัทถึงประมาณ 40 บาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 40% เลยทีเดียว
ซึ่งการที่บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิค่อนข้างสูง เนื่องจากธุรกิจของบริษัทนั้นเป็นธุรกิจให้บริการโดยลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีให้ลูกค้าใช้
โดยธุรกิจลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานหนัก ๆ ไปแล้วในช่วงแรก
และเมื่อยิ่งมีลูกค้าใช้งานมากขึ้น รายได้ก็จะเริ่มไหลเข้ามามาก
แต่ต้นทุนจะไม่เพิ่มสูงมากตามไปด้วย จากการที่ลงทุนวางพื้นฐาน วางระบบไว้แล้วในเบื้องต้น
จึงทำให้บริษัทมีอัตรากำไรที่สูงได้นั่นเอง
และด้วยความที่เป็นธุรกิจบริการที่ต่างจากธุรกิจผลิตสินค้า
บริษัทจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดหาวัตถุดิบในการผลิต จึงไม่มีภาระเกี่ยวกับต้นทุนในสินค้าคงคลัง และค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าไปให้ลูกค้าเหมือนธุรกิจผลิตสินค้า
นอกจากนี้ แนวโน้มหลายธุรกิจที่เข้าสู่การทำธุรกรรมแบบไร้เอกสาร (Paperless) มากขึ้น ก็น่าจะถือเป็นโอกาสของบริษัทในการเติบโตในอนาคตเช่นกัน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงของ NETbay ที่มีอยู่ ก็อย่างเช่น
ธุรกิจหลักของบริษัท คือ การให้บริการพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร
โดยที่นอกจาก NETbay แล้ว ก็ยังมีเจ้าอื่นอีก 2 ราย ที่ให้บริการในลักษณะเดียวกัน และทุกรายที่กรมศุลกากรเลือกใช้บริการ ก็ไม่ได้มีการให้สัมปทานแต่อย่างใด
ทำให้อาจมีความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ได้ตลอดเวลา
นอกจากนั้นหากเกิดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากภาครัฐ
ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ
หรือองค์กรในภาครัฐและเอกชนที่เลือกใช้แพลตฟอร์มของบริษัท เปลี่ยนไปใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มของผู้เล่นรายอื่น ก็ถือเป็นโจทย์ ที่ต้องติดตามสำหรับ NETbay ในอนาคตเช่นกัน..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2563, บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
-https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/maojummai-NETbay/
-แบบฟอร์ม 56-1 2562, บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
-https://www.youtube.com/watch?v=1_mGXfsDY4Y
-https://www.youtube.com/watch?v=Hevyhw7UGq8
-https://www.tiscowealth.com/trust-magazine/issue-55/people.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.