Tiki อีคอมเมิร์ซ เวียดนาม ที่ใกล้เป็นยูนิคอร์น

Tiki อีคอมเมิร์ซ เวียดนาม ที่ใกล้เป็นยูนิคอร์น

21 มิ.ย. 2021
Tiki อีคอมเมิร์ซ เวียดนาม ที่ใกล้เป็นยูนิคอร์น /โดย ลงทุนแมน
จากข้อมูลเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปใช้งานมากที่สุดในปี 2020
อันดับที่ 1 และ 2 คือ Shopee และ Lazada จากสิงคโปร์
อันดับที่ 3 และ 4 คือ Tokopedia และ Bukalapak จากอินโดนีเซีย
อันดับที่ 5 และ 6 คือ Thegioididong และ Tiki จากเวียดนาม
สำหรับ Shopee และ Lazada คนไทยน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี
ส่วน Tokopedia และ Bukalapak ของอินโดนีเซียหลายคนคงคุ้นหู
แต่หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับชื่อ Thegioididong และ Tiki
นั่นก็เพราะว่าทั้ง 2 แบรนด์นี้เป็นอีคอมเมิร์ซจากเวียดนาม
ที่แม้จะยังไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจในไทย
แต่ก็ขึ้นมาติดอันดับอีคอมเมิร์ซระดับภูมิภาค
แล้วอีคอมเมิร์ซเวียดนาม มีหน้าตาเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประเทศเวียดนาม ยังคงเป็นประเทศที่ใช้เงินสดเป็นหลัก
โดยมีเพียง 1 ใน 3 ของประชากร ที่มีบัญชีธนาคาร
และมีเพียง 5% ของประชากร ที่มีบัตรเครดิต
การซื้อของออนไลน์ ที่มักรับชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด จึงยังได้รับความนิยมไม่มากนัก
โดยสัดส่วนการซื้อของผ่านทางออนไลน์ ยังคิดเป็นเพียง 3% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด
ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน
หรือเทียบกับประเทศไทย ที่มีสัดส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 8%
แต่ด้วยตลาดอีคอมเมิร์ซที่เริ่มต้นช้ากว่าคนอื่น และขนาดตลาดที่ยังเล็กอยู่ในปัจจุบัน
อีคอมเมิร์ซในประเทศเวียดนามจึงจัดว่าอยู่ในช่วงต้นของการเติบโต
ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเองก็ผลักดันอีคอมเมิร์ซและสังคมดิจิทัลเป็นอย่างมาก
โดยตั้งใจให้สัดส่วนของอีคอมเมิร์ซขยับขึ้น
จาก 3% เป็น 10% ของยอดค้าปลีกรวม ภายในปี 2025
แล้วผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนามตอนนี้เป็นใครกันบ้าง ?
จากจำนวนคนที่เข้าไปใช้งานต่อเดือนบนเว็บไซต์เวียดนาม ในไตรมาสแรกของปี 2021
เว็บไซต์ที่มีผู้ใช้งานสูงสุดก็คือ
อันดับที่ 1 Shopee มีผู้ใช้งาน 63.7 ล้านครั้งต่อเดือน
อันดับที่ 2 Thegioididong มีผู้ใช้งาน 29.3 ล้านครั้งต่อเดือน
อันดับที่ 3 Tiki มีผู้ใช้งาน 19.0 ล้านครั้งต่อเดือน
อันดับที่ 4 Lazada มีผู้ใช้งาน 17.9 ล้านครั้งต่อเดือน
หากไม่นับ Thegioididong ที่เป็นช่องทางขายสินค้าออนไลน์
ของร้านค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ในเครือบริษัท Mobile World
ที่คล้ายกับ Com7 ของไทย
ผู้เล่นที่น่าจับตามองก็คือ “Tiki” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติเวียดนาม
ที่เฉือนเอาชนะ Lazada และกำลังท้าชิง Shopee เจ้าตลาดแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน
Tiki ก็ตามมาเป็นอันดับ 3 เป็นรองเพียง Shopee และ Lazada
สำหรับเจ้าตลาดอย่าง Shopee ได้เริ่มเข้ามาให้บริการในประเทศเวียดนามในปี 2016
โดยเริ่มต้นใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับในประเทศอื่น
นั่นก็คือเน้นที่ตลาดผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Consumer to Consumer หรือ C2C)
ก่อนที่ภายหลังจะมีบริการ Shopee Mall ซึ่งเป็นช่องทางการขายระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (Business to Consumer หรือ B2C)
จุดเด่นที่ใช้ดึงดูดลูกค้า นอกจากเรื่องการไม่คิดค่าส่งสินค้า
และค่าธรรมเนียมที่ต่ำแล้ว Shopee ยังมีระบบนิเวศอื่นเข้ามาเสริม
ให้การซื้อขายทำได้อย่างสะดวกมากขึ้น อย่างเช่น E-wallet
ในขณะที่ Tiki อีคอมเมิร์ซสัญชาติเวียดนาม
ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2010 เริ่มจากการใช้กลยุทธ์ B2C
เหตุผลสำคัญก็เพื่อต้องการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้ก่อน
หลังจากนั้นค่อยเริ่มขยายมาให้บริการแบบ C2C ด้วย
ซึ่งทาง Tiki ก็เข้มงวดกับการคัดกรองผู้ขาย เพราะต้องการเน้นที่คุณภาพของสินค้า
และการสร้างความพึงพอใจให้ผู้ซื้ออยู่เหมือนเดิม
หากได้รับคำร้องจากลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพสินค้าไม่ตรงกับตอนขาย
หรือได้รับของปลอม Tiki จะถอดผู้ขายรายนั้นออกทันทีหากตรวจสอบแล้วว่าผู้ขายนั้นผิดจริง
และเพื่อเพิ่มความประทับใจให้กับผู้ที่ซื้อสินค้าผ่านทาง Tiki มากขึ้นไปอีก
Tiki ได้เน้นลงทุนไปกับระบบการจัดการโลจิสติกส์แบบครบวงจร
ตั้งแต่คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งถึงมือผู้รับ
ที่เริ่มจากโฟกัสลูกค้าในเมืองใหญ่ ๆ ก่อน
แล้วค่อยขยายพื้นที่บริการออกไปตามนอกเมืองมากขึ้น
ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ ระบบทั้งหมดนี้ เป็น Smart Logistics
ซึ่ง Tiki ก็ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเช่น AI และหุ่นยนต์
เข้ามาช่วยจัดการภายในคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า เพื่อช่วยลดเวลาลงในทุกขั้นตอน
การวางระบบ Smart Logistics ทั้งหมดนี้ ดูแลโดยคุณ “Henry Low”
ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานในบริษัทอีคอมเมิร์ซระดับโลก
จากทั้ง Amazon ที่สหรัฐอเมริกา และ Coupang ที่เกาหลีใต้
ซึ่งความรวดเร็วจากการจัดการด้วยระบบ Smart Logistics
ก็ได้ทำให้ Tiki สามารถให้บริการที่ใช้ชื่อว่า TikiNOW ได้สำเร็จ
โดย TikiNOW เป็นบริการที่ลูกค้าจะได้รับสินค้าหลังจากสั่งซื้อภายใน 2 ถึง 3 ชั่วโมงเท่านั้น
ซึ่งก็ได้เริ่มให้บริการสำหรับผู้ซื้อในเขตเมือง เช่น ฮานอย โฮจิมินห์ และดานังก่อน
ด้วยความสะดวกรวดเร็ว บริการนี้ก็ได้กลายมาเป็นจุดเด่น
และจุดขายหลักของ Tiki ที่ได้รับความนิยมสูงมากจากลูกค้า
มาถึงตรงนี้ หากจะมองว่า Tiki เปรียบเสมือน Amazon ของเวียดนาม ก็คงไม่แปลกนัก
ซึ่งความคล้ายคลึงกันนั้น นอกจากเรื่องการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีระบบขนส่งครบวงจรแล้ว
จุดเริ่มต้นของ Tiki ยังมาจากการขายหนังสือ เหมือนกับจุดกำเนิดของ Amazon อีกด้วย
คำถามต่อมาก็คือ แล้วผู้ก่อตั้ง Tiki คือใคร ?
คุณ Tran Ngoc Thai Son หรือคุณ Son ผู้เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์
และจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านอีคอมเมิร์ซจากออสเตรเลีย
เขาคนนี้ได้เริ่มก่อตั้ง Tiki ในปี 2010 จากการเขียนโคดเพื่อสร้างเป็นแพลตฟอร์มสำหรับขายหนังสือภาษาอังกฤษในเวียดนาม
สมัยนั้นในเวียดนามยังแทบไม่มีหนังสือภาษาอังกฤษขายเลย คุณ Son จึงมองว่านี่เป็นโอกาส
คุณ Son มีเงินทุนตั้งต้นราว 180,000 บาท เริ่มจากซื้อหนังสือภาษาอังกฤษมาจาก Amazon
และใช้ห้องนอนตัวเองเป็นทั้งห้องทำงานเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม
โกดังเก็บสต็อกหนังสือ และห้องบรรจุสินค้าพร้อมส่ง
เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อหนังสือ คุณ Son จะขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งสินค้าเอง
เรียกได้ว่าในระยะแรก ต้องลงมือทำเองทุกขั้นตอน ซึ่งที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า
คุณ Son ไม่ได้มีผู้ร่วมก่อตั้ง และยังมีเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับจ้างพนักงาน
หลังจากทำธุรกิจพร้อมกับเริ่มสร้างทีมเล็ก ๆ ไปได้ 2 ปี
Tiki ก็สามารถระดมทุนครั้งแรกได้สำเร็จ
จนมาถึงในปัจจุบัน Tiki ระดมทุนไปแล้วกว่า 5,996 ล้านบาท
จาก JD.com, Temasek Holdings, Sumitomo รวมถึง VNG ยูนิคอร์นบริษัทแรกของเวียดนาม
ซึ่ง Tiki ก็ยังคงมุ่งเน้นลงทุนในระบบ Smart Logistics ต่อเนื่อง
เพื่อขยายขนาดคลังสินค้า และกระจายศูนย์กระจายสินค้า
ให้ครอบคลุมหลายพื้นที่มากขึ้น
รวมไปถึงพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
ปัจจุบัน นอกจากสินค้ากลุ่มหนังสือแล้ว
Tiki มีสินค้าครอบคลุมกว่า 26 หมวด
ตั้งแต่เครื่องสำอาง สินค้าแฟชั่น และเครื่องเขียน
ไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
และ Tiki ยังเริ่มต่อยอดไปในธุรกิจอื่นที่ยังคงเกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ เช่น
ในปี 2019 Tiki ได้เข้าซื้อกิจการ Ticketbox บริการจำหน่ายตั๋วออนไลน์
ในปี 2020 Tiki ได้ออกบัตรเครดิตร่วมกับธนาคารท้องถิ่นที่ชื่อ Sacombank
แม้ว่ามูลค่าบริษัทของ Tiki จะยังไม่ถูกเปิดเผย
แต่หลายฝ่ายก็จัดให้ Tiki อยู่ในกลุ่มมีแนวโน้ม
ที่จะมีมูลค่ากิจการในระดับยูนิคอร์น
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า
ต่อจากยูนิคอร์นตัวแรกของเวียดนามอย่าง VNG แล้ว
ยูนิคอร์นตัวต่อไปของเวียดนามอาจจะเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ที่ชื่อว่า Tiki ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-Spotlight/Alibaba-and-Shopee-clash-in-Vietnam-as-ASEAN-e-commerce-war-rages
-https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/3135716/vietnams-booming-e-commerce-sector-sparks-feeding-frenzy
-https://theconomics.net/ecommerce-c-c-or-b-c-business-case/
-https://iprice.vn/insights/mapofecommerce/en/
-https://www.bain.com/insights/e-conomy-sea-2020/
-https://www.vietchallenge.org/post/the-history-of-tiki-vn-an-amazon-of-vietnam
-https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-dominates-list-of-top-southeast-asian-e-commerce-sites-4249599.html
-https://www.crunchbase.com/organization/tiki-vn
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.