ทำไมชาวฟิลิปปินส์ นิยมออกไปหารายได้ ในต่างแดน

ทำไมชาวฟิลิปปินส์ นิยมออกไปหารายได้ ในต่างแดน

6 ก.ค. 2021
ทำไมชาวฟิลิปปินส์ นิยมออกไปหารายได้ ในต่างแดน /โดย ลงทุนแมน
“1 ล้านล้านบาท” คือมูลค่าเงินที่ชาวฟิลิปปินส์ผู้อพยพไปทำงานในต่างประเทศ
ส่งกลับประเทศบ้านเกิดต่อปี ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
เป็นรองเพียงประเทศอินเดีย จีน และเม็กซิโก
โดยเงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทนี้ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ฟิลิปปินส์
ถ้าเทียบชาวอินเดีย ที่ส่งเงินกลับประเทศมากที่สุดในโลก ยังคิดเป็นสัดส่วน 3% ของ GDP เท่านั้น
แล้วทำไมชาวฟิลิปปินส์จึงนิยมออกไปทำงานหารายได้ที่ต่างประเทศ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในแต่ละปีจะมีชาวฟิลิปปินส์อพยพไปทำงานที่ต่างประเทศราว 10 ล้านคน
หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 10 ของประชากร
ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีอัตราการเกิดของประชากรเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ความต้องการจ้างงานจึงเพิ่มขึ้นไม่ทันกับจำนวนแรงงานที่เพิ่ม ส่งผลให้มีอัตราการว่างงานสูง
การหางานทำในฟิลิปปินส์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
บวกกับอัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ย ก็ไม่ได้สูงนัก
ส่งผลให้เงินที่หาได้เลยไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว
โดยภาระค่าใช้จ่ายที่ว่านี้หมายถึงค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน
เช่น ค่าเล่าเรียนของลูก ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่
รวมไปถึงเงินที่ต้องกันไว้สำหรับยามเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฟิลิปปินส์
ต้นทุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานเหล่านี้ต่างก็อยู่ในระดับสูง
สวนทางกับอัตราค่าจ้างและรายรับที่หาได้
ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ
ต่างก็อยากส่งเสียให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนเอกชนที่ดี จบการศึกษาในระดับสูง
เพื่อหวังให้อนาคตจะมีหน้าที่การงานที่สร้างรายได้มากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ชาวฟิลิปปินส์ออกไปหางานทำในต่างประเทศและส่งเงินกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายหลักให้กับคนในครอบครัว เพราะงานในต่างประเทศนอกจากจะหาง่ายกว่าแล้ว ยังได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า อย่างน้อย ๆ ก็ดีกว่าค่าแรงเฉลี่ยในประเทศตัวเองเกือบ 3 เท่า
ซึ่งนี่ก็ไม่ได้เป็นกระแสเพียงชั่วคราว แต่การไปทำงานในต่างประเทศเกิดขึ้นมานานจนกลายเป็นค่านิยมของชาวฟิลิปปินส์ไปแล้ว
ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก อพยพไปทำงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งส่วนใหญ่จะไปเป็นคนงานในไร่ในสวน
ช่วงทศวรรษ 1970s ที่เป็นยุครุ่งเรืองของน้ำมัน ชาวฟิลิปปินส์ก็นิยมอพยพไปทำงานก่อสร้างและงานในโรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศในตะวันออกกลาง อย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งในสมัยนั้นผู้ที่อพยพไปทำงานในต่างแดนยังคงเป็นผู้ชายเป็นหลัก ก่อนที่ในทศวรรษ 1980s ผู้หญิงฟิลิปปินส์ต่างก็เริ่มออกไปหางานทำนอกประเทศมากขึ้นเช่นกัน
จนในปัจจุบัน ชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงมากกว่า
โดยประเทศที่มีชาวฟิลิปปินส์เลือกไปทำงานมากที่สุด ก็คือประเทศในแถบตะวันออกกลาง
หรือที่เรียกว่า “Gulf States” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40%
อาชีพที่ชาวฟิลิปปินส์นิยม ก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น
ซาอุดีอาระเบีย นิยมทำงานเป็น พนักงานโรงแรม แม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก และพนักงานขับรถ
จีน นิยมทำงานเป็น นักร้องในโรงแรม
ฮ่องกง นิยมทำงานเป็น พี่เลี้ยงเด็กและแม่บ้าน
ญี่ปุ่น นิยมทำงานเป็น คนงานก่อสร้าง
และอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมสูงมากก็คือ ลูกเรือขนส่ง
ซึ่งชาวฟิลิปปินส์ได้กลายเป็นกำลังหลักของลูกเรือทั่วโลก โดยคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 เลยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน คนฟิลิปปินส์ที่มีทักษะสูงในวิชาชีพ ก็เกิดการสมองไหลไปประเทศอื่นเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ที่ต่างก็นิยมหางานทำในต่างประเทศ เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
หมอและบุคลากรทางการแพทย์นิยมไปทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา
รวมถึงประเทศในยุโรปและตะวันออกกลาง
ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
รัฐบาลซึ่งรับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ ได้พยายามออกนโยบายที่เชิญชวน
ให้คนฟิลิปปินส์กลับมาทำงานในประเทศบ้านเกิด เช่น การการันตีว่าจะมีงานทำแน่นอน
การยกระดับเงินเดือนขึ้น ให้ทุนการศึกษากับลูก รวมถึงประกันสุขภาพ
แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวฟิลิปปินส์ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเองก็ยังคงสนับสนุนระบบการศึกษาที่ช่วยฝึกฝนและเตรียมพร้อมกับการไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะอาชีพที่ได้รับความนิยมสูง อย่างเช่น โรงเรียนพยาบาล โรงเรียนช่างเรือ โรงเรียนการโรงแรม รวมถึงศูนย์ฝึกการเป็นแม่บ้านและพี่เลี้ยงเด็ก
เพราะรัฐบาลรวมไปถึงชาวฟิลิปปินส์ ต่างก็ยกย่องกลุ่มคนที่ออกไปทำงานในต่างประเทศว่าเป็นฮีโร
ที่ยอมเสียสละ ละทิ้งครอบครัว ทิ้งลูกไว้ให้คนในครอบครัวช่วยเลี้ยง และออกไปทำงานส่งเงินกลับมาในประเทศ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัวและถือเป็นการกระทำที่ช่วยเหลือประเทศ
แต่แน่นอนว่าการที่ประชากรออกไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้มีเพียงด้านที่ดีเสมอไป
นั่นก็เพราะว่ากลุ่มคนที่ไปอยู่ต่างประเทศนั้น คือวัยที่เป็นเสาหลักของครอบครัว
นั่นหมายความว่าสังคมฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ต้องทิ้งให้ผู้สูงอายุและเด็กอยู่บ้านกันเอง
กลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงขาดคนคอยดูแล โดยเฉพาะยามเจ็บไข้ได้ป่วย
ส่วนเด็ก ๆ ก็ต้องอยู่กับญาติแทน ไม่ได้มีพ่อแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ซึ่งแน่นอนว่าได้ส่งผลเสียต่อเด็กเหล่านี้
โดยงานศึกษาพบว่าเด็กฟิลิปปินส์ที่ต้องห่างจากพ่อแม่ที่ไปทำงานนอกประเทศ
มักมีผลการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และยังมีแนวโน้มเลิกเรียนกลางคันสูงกว่าด้วย
ซึ่งแม้ว่าพ่อแม่จะรับรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้
แต่พวกเขาก็ยอมเลือกเส้นทางแบบนี้
เพราะมันอาจไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-06-15/filipinos-who-came-home-during-the-pandemic-go-abroad-again
-https://www.economist.com/asia/2020/11/12/filipinos-working-abroad-are-a-source-of-money-not-reform
-https://edition.cnn.com/interactive/2020/11/asia/hong-kong-filipino-helpers-dst/
-https://blogs.lse.ac.uk/seac/2020/10/08/a-heros-welcome-repatriated-overseas-filipino-workers-and-covid-19/
-https://www.nationalgeographic.com/magazine/article/filipino-workers-return-from-overseas-philippines-celebrates
-https://www.bbc.com/news/magazine-31762595
-https://www.statista.com/chart/20166/top-10-remittance-receiving-countries/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.