ความมหัศจรรย์ และความน่ากลัว ของดอกเบี้ยทบต้น

ความมหัศจรรย์ และความน่ากลัว ของดอกเบี้ยทบต้น

10 ก.ค. 2021
ความมหัศจรรย์ และความน่ากลัว ของดอกเบี้ยทบต้น | THE BRIEFCASE
หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ดอกเบี้ยทบต้น คือ สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก”
ซึ่งประโยคนี้ถูกบอกเล่ากันต่อ ๆ มา ว่าเป็นคำกล่าวของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
แต่ขณะเดียวกันก็มีการโต้แย้งกันว่า ไอน์สไตน์ ไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นเลย
แต่ไม่ว่าคำกล่าวนั้นจะเป็นของ ไอน์สไตน์ จริงหรือไม่
เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าดอกเบี้ยทบต้น คือความมหัศจรรย์หนึ่งของโลก..
แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่เป็นลูกหนี้
ดอกเบี้ยทบต้นคงไม่ใช่ความมหัศจรรย์ แต่น่าจะเป็น “ความน่ากลัว”
ดอกเบี้ยทบต้นคืออะไร ทำไมถึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ?
ดอกเบี้ยทบต้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 14
ซึ่งถูกนำเสนอโดย Francesco Balducci Pegolotti พ่อค้าชาวอิตาลี ที่เขานำเรื่องดอกเบี้ยทบต้นมาเขียนไว้ในหนังสือ “Merchant's Handbook” หนังสือคู่มือสำหรับการทำการค้าระหว่างประเทศในสมัยนั้น
ดอกเบี้ยทบต้น คือ การเอาดอกเบี้ยหรือกำไรที่เราได้รับจากการลงทุน แล้วนำกลับไปลงทุนต่อซึ่งทำให้เงินลงทุนเรายิ่งเพิ่มสูงขึ้น
การที่เงินลงทุนยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้เราได้รับดอกเบี้ยสูงเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามไปด้วย
และยิ่งเวลาผ่านไปเงินลงทุนของเราจะยิ่งเติบโตมากขึ้นกว่ากรณีที่เราเอาดอกเบี้ยหรือกำไรที่เราได้รับจากการลงทุนถอนออกมาใช้ก่อน
เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ถ้ามีนักลงทุน 2 คน ทั้งคู่มีเงินทุน 1,000,000 บาท นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนปีละ 10% โดยตั้งใจจะลงทุนเป็นเวลา 10 ปีเท่ากัน
ความแตกต่างเดียวของทั้งคู่คือ คนที่ 1 เมื่อได้รับดอกเบี้ยจะนำไปลงทุนต่อ ขณะที่คนที่ 2 จะถอนดอกเบี้ยออกมาใช้โดยไม่ลงทุนต่อ
สำหรับนักลงทุนคนที่ 1
สิ้นปีที่ 1 เขาจะได้ดอกเบี้ยจำนวน 100,000 บาท ไปลงทุนต่อในปีที่ 2 ทำให้ต้นปีที่ 2 เงินลงทุนเริ่มต้นจะเท่ากับ 1,100,000 บาท
สิ้นปีที่ 2 เขาจะรับดอกเบี้ยและกำไรจำนวน 110,000 บาท ไปลงทุนต่อในปีที่ 3 ทำให้ต้นปีที่ 3 เงินลงทุนเริ่มต้นจะเท่ากับ 1,210,000 บาท
เมื่อเขาทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 ปี สรุปแล้ว เงินลงทุนของเขาจะเพิ่มเป็น 2.6 ล้านบาท หมายความว่า จากเงินลงทุน 1 ล้านบาท จะสร้างผลตอบแทนให้เขา 1.6 ล้านบาท หรือ 160% ของเงินต้น
แต่สำหรับนักลงทุนคนที่ 2 การที่ทุกปี เขาถอนดอกเบี้ยที่ได้ออกมาใช้ โดยไม่ลงทุนต่อทำให้ดอกเบี้ยที่ได้รับแต่ละปีจะเท่าเดิมคือ 100,000 บาท
หรือ 10 ปีผ่านไป จะได้ดอกเบี้ยเท่ากับ 1 ล้านบาท หมายความว่า จากเงินลงทุน 1 ล้านบาท จะสร้างผลตอบแทนให้เขา 1 ล้านบาท หรือ 100% ของเงินต้น
ความแตกต่างของเงินจำนวน 600,000 บาทนั้น เกิดมาจากพลังของดอกเบี้ยทบต้น นั่นเอง..
การลงทุนโดยใช้ดอกเบี้ยทบต้นนั้น จะเหมาะกับคนที่ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบนำเงินไปใช้ เพราะจะช่วยสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า กรณีที่นำเงินมาเก็บไว้ หรือออกมาใช้โดยไม่ได้นำไปลงทุนต่อ
ข้อเสียข้อเดียวสำหรับดอกเบี้ยทบต้นคือ นักลงทุนต้องใช้ความอดทนในการรอ เนื่องจากต้องใช้เวลานานถึงจะเห็นผลชัดเจน
เรื่องของดอกเบี้ยทบต้นยังมีความเกี่ยวข้องกับกฎของตัวเลข 72 หรือ “The Rule of 72”
ซึ่งใช้คำนวณว่า นักลงทุนจะต้องใช้เวลาลงทุนนานแค่ไหน ถึงจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นเติบโตขึ้นเป็น 2 เท่า
วิธีคือ ใช้ตัวเลข 72 หารด้วยอัตราผลตอบแทนแบบทบต้นที่คาดว่าจะได้รับต่อปีที่ 10%
จากตัวอย่างก่อนหน้า สำหรับนักลงทุนคนที่ 1
เงินลงทุน 1 ล้านบาท จะเติบโตเป็น 2 ล้านบาท ถ้าทบต้นไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 7.2 ปี
ไม่เพียงแต่เรื่องการคาดการณ์มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นในอนาคตเท่านั้น เรายังสามารถนำกฎนี้มาอธิบายเรื่องอื่น ๆ ได้อีก เช่น ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นจาก 50 บาทเป็น 100 บาท หรือเพิ่มเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 24 ปี ถ้ามีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 3%
แต่ดอกเบี้ยทบต้น ก็ไม่ได้มีด้านดีอย่างเดียว
เพราะถ้ามองในมุมกลับกัน ถ้าเราเป็นลูกหนี้ และต้องเจอการจ่ายดอกเบี้ยทบต้นให้แก่เจ้าหนี้ มันจะกลายเป็นฝันร้ายทันที
เช่น ถ้าตอนนี้เราติดหนี้บัตรเครดิตอยู่ 100,000 บาท และยังไม่สามารถหาเงินจำนวนนี้ไปจ่ายคืนหนี้บัตรได้ตามกำหนด
การคิดอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตนั้นจะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบต้น
หมายความว่า จำนวนดอกเบี้ยที่ค้างจ่ายก็จะถูกทบไปเป็นเงินต้นในงวดต่อ ๆ ไป จนกลายเป็นว่าเงินต้นยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกหนี้ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
อย่างในกรณีนี้ ถ้าเราต้องจ่ายดอกเบี้ย 16% ต่อปี โดยที่เราไม่ชำระหนี้เลย หนี้ก้อนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาท ในเวลา 4.5 ปี นั่นเอง
สรุปแล้ว ดอกเบี้ยทบต้นมีทั้งความมหัศจรรย์
และความน่ากลัวในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับว่าเรามองมันจากมุมไหน
ในมุมของนักลงทุน การลงทุนด้วยการได้รับอัตราผลตอบแทนแบบดอกเบี้ยทบต้น พร้อมกับมีระยะเวลาในการลงทุนยิ่งนานเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มูลค่าเงินลงทุนเติบโตเร็วยิ่งขึ้นกว่าการถอนดอกเบี้ยและกำไรออกมาใช้โดยไม่ลงทุนต่อ
แต่ในมุมของลูกหนี้ที่ต้องเจอกับการจ่ายดอกเบี้ยแบบทบต้น และยังไม่สามารถหาเงินไปจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้นั้น ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ก็ยิ่งเปรียบเสมือนฝันร้ายของลูกหนี้เลยทีเดียว..
References:
-https://www.thinkindependent.com.au/still-8th-wonder-world/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Compound_interest
-https://en.wikipedia.org/wiki/Pratica_della_mercatura
-https://www.investopedia.com/terms/r/ruleof72.asp
-https://www.set.or.th/set/financialplanning/glossary.do?contentId=22
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.