Cornell Note เทคนิคจดโน้ตให้เข้าใจง่าย พร้อมได้พัฒนาสมอง

Cornell Note เทคนิคจดโน้ตให้เข้าใจง่าย พร้อมได้พัฒนาสมอง

13 ก.ค. 2021
Cornell Note เทคนิคจดโน้ตให้เข้าใจง่าย พร้อมได้พัฒนาสมอง | THE BRIEFCASE
เคยเป็นกันไหม เวลาเราจดโน้ตหรือเลกเชอร์ เรามักจะเสียสมาธิหรือไม่ก็จดไม่ทัน หรือแม้จะจดทันทุกคำ แต่เมื่อกลับมาอ่านทบทวนกลับไม่เข้าใจเนื้อหาที่จดไป
ซึ่งสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เราเป็นแบบนี้ ก็เพราะเราขาดการคิดวิเคราะห์ขณะจดโน้ตเหล่านั้น..
แต่การจดโน้ตให้ทันและครอบคลุมอย่างเดียวก็ว่ายากแล้ว การจดโน้ตเพื่อให้กลับมาอ่านแล้วเข้าใจนั้นยากกว่า
แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะสามารถจดโน้ตและกลั่นกรองความรู้ไปได้พร้อม ๆ กัน ?
วันนี้ THE BRIEFCASE นำเทคนิคการจดโน้ตที่ไม่ว่ากลับมาอ่านกี่ครั้งก็เข้าใจ นั่นก็คือ “Cornell Note” ที่จะช่วยพัฒนาการคิดวิเคราะห์ขณะจดโน้ตได้
การจดโน้ตแบบ Cornell หรืออ่านว่า “คอร์เนลล์” ไม่ได้เป็นทฤษฎีใหม่ แต่เป็นเทคนิคที่ถูกใช้กันมานานเกือบ 80 ปี ที่คิดค้นโดยคุณ Walter Pauk
โดยการจดโน้ตนี้เริ่มต้นเมื่อช่วงศตวรรษที่ 1940s ในขณะที่คุณ Pauk เป็นหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์
คุณ Pauk ได้คิดค้นวิธีการจดนี้ขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาใช้ในการจดเลกเชอร์ระหว่างคลาสเรียน เนื่องจากการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นการสอนเนื้อหาที่เข้มข้น บวกกับมีนักศึกษาจำนวนมาก ทำให้อาจารย์ไม่สามารถดูแลนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง
การจดโน้ตขณะเรียนไปพร้อม ๆ กันทำให้สมองต้องแยกหลายประสาทสัมผัส ทำให้นักศึกษาที่จดโน้ตไม่ดีอาจจะตามไม่ทันเนื้อหาหรือเสียสมาธิได้ และสุดท้ายก็ไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียน
คุณ Pauk จึงคิดค้นการจดโน้ตแบบคอร์เนลล์ ที่สามารถทำให้นักศึกษาจดโน้ตได้อย่างรวดเร็ว และเข้าใจเมื่อกลับมาทบทวนในภายหลัง เนื่องจากแบ่งเนื้อหาและใจความสำคัญที่เรียนเป็นส่วน ๆ
ลองมาดูหลักการจดโน้ตแบบคอร์เนลล์กัน..
โดยอันดับแรกให้จดหัวข้อที่ต้องการจดเลกเชอร์ไว้ด้านบนสุดก่อน
แล้วแบ่งหน้ากระดาษเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน
ซึ่งในแต่ละส่วนของกระดาษก็จะจดเนื้อหาที่ต่างกันออกไป
ส่วนที่ 1 ที่จะอยู่ฝั่งด้านขวา ไว้สำหรับจดคีย์เวิร์ด หรือคำถามสั้น ๆ
ส่วนที่ 2 คือส่วนตรงกลางที่เป็นพื้นที่มากสุด ไว้สำหรับจดรายละเอียดทั้งหมด
ส่วนที่ 3 ใช้พื้นที่ล่างสุดในการสรุปเนื้อหาสำคัญ หรือการวิเคราะห์จากผู้จดว่ามีไอเดียอะไรเพิ่มเติม
ซึ่งการจดแยกเนื้อหาเป็นส่วน ๆ นั้น ทำให้ผู้จดสามารถใส่ข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ และสามารถสังเคราะห์เนื้อหาที่เรียนมาผ่านการสรุปเนื้อหาทุก ๆ ครั้ง
ซึ่งการจดสรุปเนื้อหาด้านล่างกระดาษนี่เอง ที่เป็นตัวช่วยให้ผู้จดได้ฝึกวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลออกมาให้สามารถเข้าใจเนื้อหาได้รวดเร็วขึ้น เวลากลับมาอ่านทบทวน
นอกจากในคลาสของคุณ Pauk แล้ว การจดโน้ตแบบคอร์เนลล์ยังถูกใช้อย่างแพร่หลาย และได้รับการยอมรับจากสถานศึกษาหลาย ๆ แห่งว่าเป็นการจดที่มีประสิทธิภาพ
โดยในปี 2010 มหาวิทยาลัย Wichita State ได้นำการจดเลกเชอร์แบบคอร์เนลล์ และการจดโน้ตประเภทอื่น ๆ ไปทดสอบกับกลุ่มนักศึกษาในคลาสภาษาอังกฤษ
ซึ่งผลปรากฏว่า การจดโน้ตแบบคอร์เนลล์ช่วยให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ และประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาได้ดีกว่า
ดังนั้นหากใครจดโน้ตและเสียสมาธิบ่อย ๆ หรือกลับมาอ่านทบทวนแล้วมักไม่เข้าใจเนื้อหา ลองนำเทคนิคการจดโน้ตแบบคอร์เนลล์ไปทดลองใช้ดู อาจทำให้การจดโน้ตของเราอ่านเข้าใจมากขึ้นได้..
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งเทคนิคการจดโน้ตที่น่าสนใจ
จากคุณ Maeda Yuji เจ้าของ SHOWROOM บริษัทสตรีมมิงถ่ายทอดสดชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น คือการจดโน้ตแบบ “แบ่งซีกสมอง” ที่ช่วยให้เกิด “ไอเดีย”
วิธีคือ ให้กางหน้ากระดาษออกมาเป็น 2 หน้า และจดแบ่งด้านซ้ายและขวาพร้อม ๆ กัน โดยเปรียบกระดาษหน้าแรกเป็น “สมองซีกซ้าย” ที่ควบคุมเรื่องตรรกะการคิดวิเคราะห์ ดังนั้นด้านซ้ายจึงใช้จดเรื่องที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้ยินมา หรือข้อเท็จจริงทางฝั่งนี้ก่อน
และค่อยจดบันทึก “ไอเดีย” ของตัวเอง ลงไปในกระดาษด้านขวา ที่เปรียบเสมือน “สมองซีกขวา” ใช้ในแง่ความคิดสร้างสรรค์และความจำ
เนื่องจากสมองของมนุษย์มีกลไกว่า “ต้องเติมเต็มสิ่งที่ว่างอยู่” ดังนั้นหากเราจดโน้ตด้วยเทคนิคนี้เป็นประจำ ก็จะทำให้สมองได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ อยู่บ่อย ๆ นั่นเอง..
Reference
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cornell_Notes
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.