ฟังเพลงไป ทำงานไป ช่วยให้ทำงานดีขึ้น จริงไหม ?

ฟังเพลงไป ทำงานไป ช่วยให้ทำงานดีขึ้น จริงไหม ?

15 ก.ค. 2021
ฟังเพลงไป ทำงานไป ช่วยให้ทำงานดีขึ้น จริงไหม ? | THE BRIEFCASE
หลายคนบอกว่า การเปิดเพลงฟังในขณะทำงาน อาจมีส่วนให้เราทำงานได้น้อยลง ขณะที่บางคนก็บอกว่า การฟังเพลงขณะทำงานนั้น ช่วยให้ทำงานได้ลื่นไหลและเสร็จเร็วขึ้นได้เหมือนกัน..
สรุปแล้ว เปิดเพลงฟังขณะทำงาน ดีหรือไม่ดี ?..
จากงานวิจัยของ Teresa Lesiuk ศาสตราจารย์จาก University of Miami ค้นพบว่า
จริง ๆ แล้วการฟังเพลงนั้นไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของเราโดยตรง แต่ส่งผลต่ออารมณ์ของเราในขณะที่ฟัง โดยเฉพาะการได้ฟังเพลงที่ชอบ
ซึ่งหากเราอยู่ในอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ไม่มีความเครียด อารมณ์เหล่านั้นก็จะส่งผลให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้ดี และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งก็เหมาะกับงานที่ต้องใช้สมาธิมาก ๆ ได้เหมือนกัน
โดยจากการวิจัยยังพบว่า การเปิดเพลงขณะทำงานของศัลยแพทย์ มีส่วนช่วยในด้านอารมณ์และทำให้พวกเขามีสมาธิในขณะทำการผ่าตัดมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม หากเพลงที่ฟังนั้นมีลักษณะการกระตุ้นผู้ฟังที่มากเกินไป ก็จะดึงดูดความสนใจของเราออกไปจากตัวงานที่กำลังทำอยู่
อย่างเช่นเพลงร็อกหรือเพลงที่ไม่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ก็อาจจะไม่เหมาะในการเปิดฟังขณะอ่านหนังสือหรืองานที่ต้องใช้การจดจำ
และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าการฟังเพลงจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ความชำนาญในงานที่ทำด้วย
จากงานวิจัยของ Teresa Lesiuk พบว่า หากเราทำงานนั้นมาก่อน แต่ไม่เก่งถึงขั้นเชี่ยวชาญ
การฟังเพลงจะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้นได้
ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
รัฐบาลอังกฤษ ได้เปิดเพลงปลุกใจในโรงงานผลิตอาวุธ ที่ดูเป็นงานที่น่าเบื่อและซ้ำซาก วันละ 2 รอบ ผลปรากฏว่าผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 15%
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทดลองให้พนักงานในร้านค้าปลีกกลุ่มหนึ่งสามารถเปิดเพลงฟังขณะทำงานได้
และอีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้เปิดเพลงฟัง
ผลปรากฏว่า กลุ่มที่เปิดเพลงฟังมีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฟังเพลง อย่างเช่น พวกเขามีอารมณ์ที่ดีขึ้น สามารถให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วขึ้นและดีขึ้น จนทำให้จำนวนลูกค้าที่พวกเขาให้บริการใน 1 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น และมากกว่า พนักงานที่ไม่ได้ฟังเพลง
ซึ่งตัวอย่างข้างต้นก็อาจกล่าวได้ว่าสำหรับงานที่น่าเบื่อและซ้ำซาก และไม่ได้ใช้การคิดวิเคราะห์มากนัก
การฟังเพลงก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานนั้นดีขึ้นได้
เราลองมาดูตัวอย่างแนวเพลงที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้แก่
1. เพลงคลาสสิก
การที่ไม่มีเนื้อร้องในเพลง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดนตรีคลาสสิก ไม่ดึงความสนใจของเราออกจากงาน และดนตรีคลาสสิกก็ขึ้นชื่อในเรื่องความสงบ ผ่อนคลาย และช่วยลดความเครียด
2. เสียงประกอบจากเกม
ด้วยความหลากหลายของแนวเกมที่ถูกผลิตขึ้น ทำให้เพลงประกอบเกมต่าง ๆ ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันซึ่งเราสามารถเลือกฟังได้หลากหลายแนวเพลง ซึ่งมีงานวิจัยที่พบว่าผู้เล่นเกมที่เปิดเสียงเกมทั้งเสียงของเอฟเฟกต์และเสียงเพลงขณะเล่น จะทำได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เปิดเสียง
3. เสียงของธรรมชาติ
การฟังเสียงของธรรมชาติ อย่างเช่น เสียงน้ำไหล คลื่นทะเล หรือเสียงนกร้อง ช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของสมอง ลดความตึงเครียด ทำให้ผู้ฟังมีสมาธิมากขึ้นและมีส่วนช่วยทำให้อารมณ์ผ่อนคลายขึ้น
ซึ่งมีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้ที่มีความเครียด เมื่อได้ฟังเสียงของธรรมชาติทั้งร่างกายจะผ่อนคลายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
4. เพลงที่กระตุ้นหรือปลุกใจ
สำหรับเพลงแนวนี้อาจจะไม่เหมาะกับการต้องใช้สมาธิจดจ่อกับงานเท่าใดนัก แต่เหมาะกับงานที่ต้องมีแรงจูงใจหรือใช้การกระตุ้นและควบคุมร่างกายมากกว่าปกติอย่างเช่น นักกีฬา
โดยมีการทดลองฟังเพลงก่อนการอภิปรายในหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย พบว่าผู้ที่ฟังเพลงแนวปลุกใจ มีสัดส่วนการเลือกที่จะขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ฟังเพลงถึง 2 เท่า
ตัวอย่างเพลงที่ใช้ในการทดลอง เช่น
- วง Queen เพลง We Will Rock You
- วง 2 Unlimited เพลง Get Ready for This
- วง 50 Cent เพลง In Da Club
5. เพลงบรรเลง
การที่ไม่มีเนื้อร้อง ทำให้ผู้ฟังมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำมากขึ้นและด้วยทำนองที่เชื่องช้า เหมาะแก่การฟังเพื่อผ่อนคลาย อาจจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งนอกเหนือจากเพลงคลาสสิก
ซึ่งมีการศึกษา Middle Tennessee State University พบว่า นักศึกษาที่ฟังเพลงบรรเลงขณะทำแบบทดสอบ จะได้คะแนนสูงกว่าผู้ที่ฟังเพลงแบบมีคำร้องทั่วไป
6. เพลงแนวสนุกสนาน ที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกดี หรือ “Feel Good”
ในเวลาที่เรารู้สึกย่ำแย่ หรืออยากพักผ่อนจากงานที่กองอยู่ตรงหน้า การได้ฟังเพลงที่สนุก เพลิดเพลิน และถ้ายิ่งเป็นเพลงที่เราชอบ จะไปกระตุ้นสมองส่วนเดียวกันกับที่ถูกกระตุ้นด้วยอาหารอร่อย หรือความสุขอื่น ๆ
ถึงแม้จะมีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนข้อดีของการฟังเพลง แต่สำหรับบางคนก็อาจจะไม่ชอบฟังเพลงสักเท่าไร อย่างที่ Bill Gates เลือกที่จะไม่ฟังเพลงหรือดูโทรทัศน์ขณะทำงาน เพราะทำให้เขามีสมาธิและโฟกัสกับงานได้มากกว่า
ซึ่งสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุดคืออารมณ์ของเราขณะฟัง ว่าเรามีความสุขหรือไม่ เพราะเพลงไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานโดยตรง แต่เป็นอารมณ์ของเราที่มีผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งการเลือกเพลงให้เหมาะกับสถานการณ์หรือตัวเราเองก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดข้อดีจากการฟังเพลงได้มากขึ้นเช่นกัน
สรุปคือ การฟังเพลง มีส่วนกระตุ้นการทำงานให้ดีขึ้นได้จริง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า งานที่ทำเป็นงานประเภทที่ฟังเพลงแล้วทำได้ดีขึ้นหรือเปล่า เพลงที่ฟังเป็นเพลงประเภทไหน
และสำคัญที่สุดคือ เราเป็นคนสไตล์ไหน ระหว่างชอบฟังเพลง หรือไม่ชอบฟังเพลง ระหว่างทำงาน..
References
-https://www.bbc.com/worklife/article/20200317-does-music-help-us-work-it-depends
-https://futurism.com/affiliate-listening-music-work-alters-mind
-https://ideas.time.com/2012/09/12/does-listening-to-music-while-working-make-you-less-productive/
-https://blog.hubspot.com/marketing/productivity-playlists?toc-variant-a=
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.