คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในบ้าน ที่สร้างโดยรัฐบาล

คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในบ้าน ที่สร้างโดยรัฐบาล

19 ก.ค. 2021
คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในบ้าน ที่สร้างโดยรัฐบาล /โดย ลงทุนแมน

“Public Housing” คือที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ โดยจัดสรรให้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศที่ร่ำรวยอย่างสิงคโปร์ มีประชากรกว่า 80% อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยรัฐบาล นั่นจึงทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ นโยบายการเคหะแห่งชาติประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก
แล้วรัฐบาลสิงคโปร์ทำได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลังจากที่ประเทศสิงคโปร์พ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1959 หรือเมื่อ 62 ปีก่อน
สิงคโปร์ในตอนนั้นจึงเต็มไปด้วยผู้อพยพจำนวนมากหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวมาเลเซีย จีน และอินเดีย
ความหลากหลายดังกล่าวนอกจากจะนำไปสู่การแบ่งแยกเชื้อชาติแล้ว
อีกปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว คือวิกฤติขาดแคลนที่อยู่อาศัย
จึงทำให้ประชากรบางส่วนต้องอยู่กันแบบชุมชนแออัดหรือที่เรียกว่าสลัม
ในปีถัดมา นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์อย่าง ลี กวน ยู ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเคหะที่ใช้ชื่อว่า Housing and Development Board หรือ “HDB” เป็นโครงการสร้างที่อยู่อาศัยให้เช่าสำหรับผู้ไม่มีกำลังทรัพย์
คุณลี กวน ยู มองว่าการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ผู้อพยพได้เริ่มลงหลักปักฐานในประเทศนี้
โดยในช่วงแรก HDB ได้เร่งสร้างที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมจำนวนประชากรให้เร็วที่สุด
รูปแบบของที่อยู่อาศัยในตอนนั้นจึงเป็นแฟลตขนาดเล็ก แต่เน้นสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้ได้มากที่สุด
แต่เมื่อนโยบาย HDB เริ่มไปได้ไม่นาน ในเดือนพฤษภาคม ปี 1961 กลับเกิดไฟไหม้ในย่านชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ราว 8 สนามฟุตบอล จนมีผู้เสียชีวิต 4 คน และกว่า 16,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
นี่จึงเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียที่พิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลลี กวน ยู ที่สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัยทั้งหมดได้ภายในปีเดียว ก่อนที่จะฟื้นฟูความเสียหายและสร้างที่อยู่อาศัยถาวรในบริเวณที่เกิดเหตุได้ภายใน 5 ปี
ผลงานนี้ได้ทำให้ชาวสิงคโปร์มีความเชื่อมั่นในนโยบาย HDB มากยิ่งขึ้นและทำให้รัฐบาลโน้มน้าวผู้คนที่คุ้นเคยกับที่อยู่อาศัยที่มีไม่กี่ชั้น ให้ไปอยู่อาศัยบนอาคารที่มีจำนวนชั้นมากขึ้น เป็นไปด้วยความราบรื่นมากยิ่งขึ้น
และในปี 1964 นอกจากการให้เช่าแล้ว HDB ได้เริ่มขายที่อยู่อาศัย
จนกระทั่งปี 1965 HDB ได้สร้างที่อยู่อาศัยไปกว่า 51,000 โครงการ
ซึ่งส่วนมากจะเป็นอะพาร์ตเมนต์ และทำให้ประชากรกว่า 1 ใน 4 หรือราว 400,000 คนมีที่อยู่อาศัย
เพื่อให้การสร้างที่อยู่อาศัยครอบคลุมไปทั่วประเทศ รัฐบาลได้ออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อกว้านซื้อที่ดิน จากในปี 1960 ที่รัฐครอบครองที่ดินอยู่ 44% มาเป็นกว่า 90% ในปัจจุบัน
ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศยังคงโฟกัสกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและมีกำลังทรัพย์ไม่พอที่จะเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาตลาดได้ แต่สำหรับประเทศสิงคโปร์ ที่แม้ว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรถือว่าร่ำรวย รัฐบาลได้เริ่มหันมาโฟกัสนโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อ “ทุกคน” เพราะต้องการให้ชาวสิงคโปร์มีที่อยู่อาศัยคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้
ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นปัจจัยที่เชิญชวนให้ชาวสิงคโปร์
เลือกที่อยู่อาศัยจาก HDB ก็มีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง
ปัจจัยแรกก็คือ “ราคา”
ราคาของที่อยู่อาศัยจาก HDB จะถูกกว่าของเอกชนราว 20 ถึง 30%
ซึ่ง HDB จะมีข้อกำหนดสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยโดยตรงกับทาง HDB ว่าห้ามขายภายใน 5 ปีแรก เพื่อป้องกันการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเก็งกำไร
หลังจากผ่าน 5 ปีแรกไปแล้ว จะสามารถขายต่อได้ในราคาตลาด หรือราคาที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันเอง แต่ราคาโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าราคาที่อยู่อาศัยมือหนึ่งของ HDB อยู่ราว 20 ถึง 25% ชาวสิงคโปร์จึงนิยมเลือกซื้อที่อยู่อาศัยมือหนึ่งจาก HDB มากกว่า ส่วนตลาดรองนี้จะเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ HDB ก็ยังมีนโยบายด้านราคาแบบอื่นเพิ่มเติม อย่างเช่น ผู้ซื้อจะได้รับส่วนลดเพิ่ม หากซื้อที่อยู่อาศัยในละแวกเดียวกับพ่อแม่
ปัจจัยที่สองก็คือ “ความช่วยเหลือทางการเงิน”
นอกจาก HDB จะช่วยอุดหนุนเพื่อกดราคาที่อยู่อาศัยให้ต่ำกว่าราคาตลาดแล้ว
ตัวโครงการยังมีนโยบายกองทุนที่ชื่อ Central Provident Fund โดยชาวสิงคโปร์จะถูกบังคับสะสมเงินในกองทุน โดยหักจากเงินเดือน 20% และเก็บจากนายจ้างอีก 17% ของเงินเดือน
ในตอนแรกกองทุนนี้มีเพื่อการเกษียณอายุเท่านั้น
แต่ในปี 1968 รัฐบาลอนุญาตให้ใช้เงินกองทุนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ด้วย
เพื่อช่วยให้ชาวสิงคโปร์เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายมากขึ้น
แต่เพียงราคาที่เข้าถึงง่าย และการสนับสนุนทางการเงิน คงไม่สามารถทำให้ชาวสิงคโปร์จำนวนมากตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากทาง HDB
นั่นจึงนำไปสู่ปัจจัยสำคัญอย่างที่สามก็คือ “คุณภาพ”
ที่อยู่อาศัยที่จัดสร้างโดย HDB ถือได้ว่ามีสภาพแวดล้อมและคุณภาพที่ดีกว่าสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในหลายประเทศ
โดยทาง HDB มีประเภทอสังหาริมทรัพย์ให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แฟลตขนาดย่อมไปจนถึงคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ที่มีทั้งยิมและสระว่ายน้ำในตัว
ในแต่ละโครงการก็ยังมีห้องหลายแบบหลายขนาดให้เลือก ตั้งแต่ขนาด 2 ห้องไปจนถึง 5 ห้อง
เพื่อตอบโจทย์ครอบครัวหลายรูปแบบ
และมีบางโครงการที่ HDB จ้างบริษัทเอกชนออกแบบและก่อสร้าง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ทัน แต่ราคาขายยังคงได้รับการอุดหนุนจาก HDB อยู่
นอกจากคุณภาพอสังหาริมทรัพย์แล้ว HDB ยังส่งเสริมในเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย
เพราะบริเวณโดยรอบที่อยู่อาศัย HDB กำหนดให้ต้องมีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ยิมหรือสถานที่ออกกำลังกาย และทำเลที่ตั้งต้องอยู่ในรัศมีใกล้รถไฟฟ้าใต้ดินทำให้การเดินทางเป็นเรื่องสะดวกสบาย
นอกจากนี้ ภายในโครงการยังต้องมีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาหรือตามประเพณีของทุกศาสนาและทุกเชื้อชาติ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ว่าผู้อาศัยในแต่ละโครงการต้องมีทุกเชื้อชาติรวมกันตามสัดส่วนที่ทาง HDB กำหนด เพื่อช่วยแก้ปัญหาการแบ่งแยกเชื้อชาติและแบ่งแยกชนชั้น
นอกจากเรื่องสัดส่วนของเชื้อชาติแล้ว HDB ยังกำหนดข้อจำกัดด้านอื่นไว้ด้วย ยกตัวอย่างข้อกำหนดที่สำคัญก็เช่น ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องจองซื้อก่อนล่วงหน้า และรอจนก่อสร้างเสร็จอีกโดยเฉลี่ยประมาณ 4 ปี
และแม้ว่าจะใช้คำว่าขาย แต่ในสัญญาจะพ่วงมากับสัญญาเช่า 99 ปี นั่นหมายความว่าเมื่อพ้นช่วง 5 ปีแรกที่ห้ามขายต่อแล้ว หลังจากนั้นผู้ซื้อจะขายต่อ หรือให้ตกทอดเป็นมรดกก็ได้
แต่เมื่อครบสัญญา 99 ปี อสังหาริมทรัพย์นั้นจะตกกลับไปเป็นของรัฐอีกครั้ง โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อนำที่ดินกลับมาใช้ใหม่ และสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชาวสิงคโปร์ในรุ่นต่อไป
สุดท้ายแล้วเจ้าของที่แท้จริงก็ยังคงเป็นรัฐบาลอยู่ดี โดยถ้านับตั้งแต่ปี 1960 ที่ HDB เริ่มก่อตั้ง จะมีบ้านที่ครบสัญญา 99 ปีครั้งแรกในปี 2059 ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังสร้างความกังวลให้กับชาวสิงคโปร์ ว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง การต่อสัญญาเช่าจะเป็นอย่างไร
อีกข้อกำหนดก็คือ ชาวสิงคโปร์ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเองครั้งแรก ต้องมีอายุครบ 35 ปีก่อน แต่จะได้รับการยกเว้นถ้าเป็นคู่แต่งงาน ซึ่งทางรัฐบาลตั้งข้อกำหนดนี้มาเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สร้างครอบครัว แก้ปัญหาการลดลงของประชากร
แต่ข้อกำหนดนี้ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมปัจจุบัน ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และการใช้ชีวิตคู่ที่ไม่จำเป็นว่าต้องแต่งงานเท่านั้นแบบในอดีต
อย่างไรก็ตาม HDB ได้ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ทำให้ประชากรเลือกที่อยู่อาศัยในโครงการของรัฐเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 1960 ที่เริ่มต้นโครงการ มาเป็นกว่า 80% ในปัจจุบัน ซึ่งมีโครงการที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยรัฐบาลกว่า 1 ล้านยูนิตทั่วประเทศ
และนโยบายที่ทำให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ในราคาไม่แพงนี้ ยังทำให้สิงคโปร์มีสัดส่วนประชากรที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยกว่า 91% มากเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงประเทศโรมาเนีย
ซึ่งถ้าเทียบกับในประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
ทั้งสองประเทศนี้มีสัดส่วนประชากรที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยราว 63% เท่านั้น
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นโยบายนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้พรรค People’s Action Party ที่ก่อตั้งโดยคุณลี กวน ยู เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ปกครองสิงคโปร์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลายาวนานกว่า 62 ปี อีกด้วย..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-07-08/behind-the-design-of-singapore-s-low-cost-housing
-https://www.economist.com/asia/2017/07/06/why-80-of-singaporeans-live-in-government-built-flats
-https://www.bbc.com/worklife/article/20181210-can-singapores-social-housing-keep-up-with-changing-times
-https://medium.com/discourse/singapores-paradoxical-housing-policy-6c3e21f8bca7
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.