อะไรที่ทำให้ ซีอีโอ Microsoft รู้จักคำว่า “เห็นอกเห็นใจคนอื่น”

อะไรที่ทำให้ ซีอีโอ Microsoft รู้จักคำว่า “เห็นอกเห็นใจคนอื่น”

20 ก.ค. 2021
อะไรที่ทำให้ ซีอีโอ Microsoft รู้จักคำว่า “เห็นอกเห็นใจคนอื่น” | THE BRIEFCASE
รู้หรือไม่ ? บริษัท Microsoft ที่ตอนนี้ถูกมองว่า เป็นบริษัทที่โดดเด่นในเรื่องของ Empathy หรือก็คือ ความเห็นอกเห็นใจ ยึดผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง
แต่รู้ไหมว่า ในอดีต ซีอีโอคนปัจจุบันอย่าง คุณสัตยา นาเดลลา ไม่เคยเข้าใจเรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย โดยเรื่องนี้ถูกเขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Hit Refresh ซึ่งเขียนโดยตัวเขานั่นเอง
หลายคนอาจไม่เชื่อว่า คนที่ดูใจเย็น คนที่แก้ปัญหาการเมืองในที่ทำงาน และคนพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาอยู่แถวหน้าได้อย่างคุณสัตยา จะเคยไม่มีความเข้าใจในเรื่อง Empathy มาก่อน
แล้วอะไรถึงทำให้คุณสัตยา นาเดลลา รู้จักคำว่า “เห็นอกเห็นใจ” มากขึ้น ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
เมื่อตอนที่คุณสัตยา อายุได้ 25 ปี เขาได้เข้ามาสัมภาษณ์งานกับ Microsoft ครั้งแรก
คุณริชาร์ด เทต ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทได้ถามคำถามหนึ่งกับคุณสัตยาว่า
“ถ้าคุณเห็นเด็กล้มลงต่อหน้า แล้วกำลังร้องไห้ คุณจะทำอย่างไร ?”
เมื่อเจอกับคำถามนี้ คุณสัตยาในตอนนั้นกลับคิดซับซ้อนไปว่า คำถามนี้จะต้องเป็นกลลวงอะไรสักอย่างแน่ ๆ หรือกำลังทดสอบเกี่ยวกับอัลกอริทึมบางอย่างที่ตัวเขาไม่รู้มาก่อน
คุณสัตยาจึงตอบไปว่า “ผมจะโทรเบอร์แจ้งเหตุฉุกเฉิน”
ทันใดนั้นคุณสัตยาก็ถูกผู้จัดการดึงตัวออกไปข้างนอกห้อง แล้วบอกกับเขาว่า
“นี่มันเป็นคำตอบที่ไร้สาระมาก ถ้าคุณเห็นเด็กหกล้มและร้องไห้ คุณควรยื่นมือไปช่วย ประคองให้เขาลุกขึ้นและปลอบเด็กคนนั้น.. คุณต้องพัฒนาความเห็นอกเห็นใจหน่อยนะเพื่อน!”
แม้สุดท้ายตัวเขาจะได้งานนี้ แต่หลังจากคุณสัตยาได้ยินคำแนะนำเรื่อง Empathy จากผู้จัดการ ที่แม้จะเป็นคำพูดที่เล็กน้อย แต่ตัวเขาก็ถึงกับคิดหนัก และคิดว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” คือเรื่องที่เขาต้องไปทำการบ้านอย่างหนัก
และต่อมาในปี 1996 คุณสัตยาก็ได้เจอกับเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขาได้เข้าใจเรื่อง Empathy อย่างลึกซึ้ง
ในปีนั้นเขาและภรรยาได้ให้กำเนิดลูกชายที่ชื่อว่า เซน
แต่ลูกชายของเขาเกิดมาพร้อมกับภาวะขาดออกซิเจน (Asphyxia) โดยโรคนี้ทำให้อวัยวะสำคัญ ๆ ของเซนเติบโตไม่ได้ ทำให้เซนไม่สามารถพูดและช่วยเหลือตัวเองได้ และมีโอกาส “เสียชีวิต” ได้ทุกเมื่อ
ดังนั้นครอบครัวต้องดูแลเซนอย่างใกล้ชิด
เมื่อคุณสัตยารู้เรื่องนี้จากทางโรงพยาบาล ในช่วงแรกเขารู้สึกแย่มาก ได้แต่เฝ้าถามตัวเองว่า
“ทำไมเรื่องนี้มันถึงต้องเกิดขึ้นกับตัวเองด้วย ?”
แต่สุดท้ายเขาก็ตกตะกอนกับตัวเองได้ว่า อาการป่วยนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเขา แต่เกิดกับลูกชายของเขา ซึ่งแปลว่า ตัวเขาเองยังสามารถช่วยดูแลลูกชายคนนี้ได้ ดังนั้นนี่คงถึงเวลาแล้ว ที่เขาจะได้ฝึกการมองชีวิต ผ่านสายตาของลูกชาย และทำในสิ่งที่ควรจะทำในฐานะพ่อ
หลังจากนั้นเขาต้องสนใจ สังเกตทุกสิ่งทุกอย่างที่เซนทำ ทั้งท่าทาง สีหน้าแววตาทั้งหมด เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกชายรู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร
และช่วงเวลาที่เขาต้องดูแลเซนหลายปีนี่เอง ทำให้คุณสัตยาได้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเข้าใจมันได้มาก่อน นั่นก็คือ “ความเห็นอกเห็นใจ”
จากที่เคยเป็นคนใจร้อน เคร่งเครียด เอาแต่บ้างาน ก็กลายเป็นคนใจเย็น ไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
และเริ่มมองเห็นว่า การเอาใจใส่และความเห็นอกเห็นใจ มันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กับคนในครอบครัว แต่มันสามารถใส่ความเห็นอกเห็นใจเข้าไปในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร สินค้า ลูกค้า และทีมงานได้
คุณสัตยาจึงมองว่า เราควรต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กร ไปจนถึงตัวสินค้า โดยออกแบบทุกอย่างโดยยึดปัญหาและความต้องการของลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
และวิธีที่ทำให้เขาและองค์กร สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ นั่นก็คือ “ฟังให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง และตัดสินใจเมื่อถึงเวลา”
และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะไม่เอาแต่พร่ำบ่น แต่จะลงมือแก้ไขมันให้ได้
ซึ่งการบริหารแบบใส่หัวใจลงไปในทุกกระบวนการนี่เอง ที่ทำให้ Microsoft ฟื้นขึ้นจากยุคที่ร่วงโรย มีสินค้าที่ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าอยู่ตลอดเวลา
เมื่อผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อตลาดทั่วโลก คุณสัตยา นาเดลลา ก็ได้นั่งเก้าอี้ซีอีโอ Microsoft ในปี 2014
ต่อจากคุณบิลล์ เกตส์ และคุณสตีฟ บัลเมอร์
จากช่วงชีวิตที่เกือบเสียลูกชายไป แต่สิ่งที่เขาได้กลับมา คือหัวใจของความเป็นมนุษย์ และทำให้เขามีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้
ซึ่งถ้าหากคุณสัตยาไม่เจอ “จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต”
ในวันนี้เราอาจจะไม่ได้เห็น คุณสัตยา นาเดลลา ในฐานะซีอีโอของ Microsoft ก็ได้..
References:
-https://www.morningfuture.com/en/2018/06/18/microsoft-satya-nadella-empathy-business-management/
-https://youtu.be/1p6P471PBx0
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.