ปรากฏการณ์ หนี้ล้นมือ ที่ครัวเรือนไทยกำลังเจอ

ปรากฏการณ์ หนี้ล้นมือ ที่ครัวเรือนไทยกำลังเจอ

30 ก.ค. 2021
ปรากฏการณ์ หนี้ล้นมือ ที่ครัวเรือนไทยกำลังเจอ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าในแต่ละเดือน เราหารายได้ได้ 100 บาท แต่มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายสูงถึง 90 บาท
ปรากฏการณ์นี้เราเรียกว่า “Debt Overhang”
ซึ่งหมายถึง การที่เรามีหนี้อยู่มาก มากเสียจนก่อหนี้เพิ่มได้ลำบาก
และปรากฏการณ์นี้ มันกำลังเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึง ประเทศไทย

Debt Overhang คืออะไร มีผลอย่างไรกับอนาคตของลูกหนี้
ทำไมตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า ครัวเรือนของไทยกำลังอยู่ในภาวะแบบนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Debt Overhang คือ สถานการณ์ที่ลูกหนี้ซึ่งในที่นี้รวมไปถึง ภาคธุรกิจ รัฐบาล ครอบครัว และบุคคล มีหนี้สินอยู่สูงมาก จนไม่สามารถขอกู้เงินเพิ่มอีกได้โดยง่าย
ไม่ว่าจะกู้มาเพื่อหมุนจ่ายคืนหนี้เดิม หรือแม้แต่กู้มาเพื่อไปลงทุนให้ธุรกิจเติบโตในอนาคต

ในทางเศรษฐศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่ผู้บริโภคเลื่อนการบริโภคในอนาคต มาใช้จ่ายในปัจจุบันมากเกินไป (Over Consumption) จนส่งผลให้การบริโภคในอนาคตนั้นหดตัวลง และกระทบภาพรวมกับเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

อย่างกรณีของบุคคลหรือครัวเรือน ที่มีหนี้สูงอยู่แล้ว ต้องการก่อหนี้เพิ่ม เพื่อมาจ่ายคืนหนี้เดิมหรือมาหมุนใช้จ่าย เจ้าหนี้รายใหม่ก็อาจไม่ค่อยเต็มใจที่จะปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ประเภทนี้
เพราะการที่ลูกหนี้มีภาระหนี้จำนวนมากอยู่ก่อนแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามแผน เจ้าหนี้รายใหม่ก็อาจไม่ได้รับเงินที่ให้ลูกหนี้กู้ยืมไปกลับคืนมา สุดท้ายก็กลายเป็นหนี้เสีย หรือที่เรียกว่า Non-Performing Loan หรือ NPL

หรืออย่างกรณีของการที่บริษัทต้องการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทมีภาระหนี้สินสูง ๆ จนไปขอกู้สถาบันการเงินได้ยาก
กรณีนี้ ผู้ถือหุ้นซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าของบริษัท ก็อาจไม่เต็มใจให้เงินทุนเพิ่ม เพราะเงินที่เพิ่มทุนไป ต้องถูกนำไปจ่ายคืนหนี้ก้อนโต แทนที่จะเป็นการนำไปลงทุนสร้างการเติบโตที่ดีให้บริษัทในอนาคต

จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา ครัวเรือน หรือภาคธุรกิจ ถ้ายิ่งมีหนี้สูง โอกาสจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ก็ยิ่งทำได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ ภาคส่วนที่ดูน่าเป็นห่วงมากที่สุดภาคส่วนหนึ่งก็คือ “ภาคครัวเรือน”
หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 2019 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อยู่ที่ 79.8%
ปี 2020 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อยู่ที่ 89.4%
ไตรมาส 1 ปี 2021 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อยู่ที่ 90.5%

เมื่อแบ่งตามประเภทหนี้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยก่อ ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย จะแบ่งเป็น
- หนี้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ 34.2%
- หนี้จากการอุปโภคบริโภค 20.7%
- หนี้เพื่อประกอบอาชีพ 18.1%
- หนี้จากการซื้อหรือเช่ายานพาหนะ 12.7%
- หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 7.0%
- หนี้เพื่อการศึกษา 2.0%
- หนี้อื่น ๆ 5.3%

หลายคนอาจบอกว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นผลมาจากการที่รัฐบาล ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19

ทั้งผ่านการปรับโครงสร้างหนี้และการพักชำระหนี้ หรือเลื่อนจ่ายออกไปก่อน จนทำให้หนี้ครัวเรือนในภาพรวมอยู่ในระดับสูง ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่ามีส่วนถูก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หนี้ครัวเรือนไทยก็อยู่ในระดับค่อนข้างสูงมาโดยตลอด

ซึ่งน่าจะมาจากหลากหลายเหตุผล เช่น รายได้ของครัวเรือนที่น้อย จึงทำให้การออมต่ำ ดังนั้นเมื่อต้องการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ก็ต้องพึ่งพาการก่อหนี้ในสัดส่วนที่มาก

นอกจากนั้น ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เวลาซื้อของอาจเลือกผ่อนนาน ๆ ซึ่งการผ่อนสินค้านาน ๆ ยิ่งทำให้ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น กรณีของการผ่อนรถยนต์

รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยี ที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้สะดวก รวดเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวเร่งให้ภาระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อหนี้ครัวเรือนสูงมาพร้อมกับการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อย่างเช่น วิกฤติโควิด 19 ในครั้งนี้ ที่ทำให้หลายคนตกงาน หลายคนค้าขายลำบาก
หลายครัวเรือนอาจต้องพยายามหาแหล่งเงินกู้มาเพิ่มสภาพคล่องเพื่อมาใช้จ่าย แต่กลับถูกปฏิเสธ เพราะภาระหนี้ที่มีอยู่ในมือ ก็อยู่ในสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว

เรื่องนี้อาจกำลังทำให้ หลายครัวเรือนหันหน้าเข้าหา “หนี้นอกระบบ” ที่ต้องแลกด้วยการแบกรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่กับทั้งภาคครัวเรือน และภาคเศรษฐกิจโดยรวม

จริง ๆ แล้ว การเป็นหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป
หากจำนวนหนี้ที่กู้มานั้นไม่สูงจนเกินไปเมื่อเทียบกับความสามารถในการชำระหนี้
หรือหากหนี้ก้อนนั้น เป็นหนี้ที่กู้มาเพื่อสร้างโอกาส สร้างธุรกิจ ที่ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเราได้ในอนาคต

แต่สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ คือภาพรวมครัวเรือนไทยกำลังมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ของหลายครัวเรือนกำลังหดหายหรืออยู่ในระดับต่ำ
ที่สำคัญคือ หลายครัวเรือนกำลังขาดสภาพคล่อง
และถ้าพวกเขาหาเงินกู้ก้อนใหม่ไม่ได้
หนี้เก่าที่มีอยู่ทั้งหมด ก็อาจจะต้องกลายเป็นหนี้เสียเช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/AnalystMeeting02_2021.aspx
-https://en.wikipedia.org/wiki/Debt_overhang
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=891&language=TH
-https://thaipublica.org/2021/07/eic-sees-looming-household-debt-overhang/
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_30Oct2019.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.