วิธีทำงาน กับลูกน้องที่ มีอายุมากกว่า

วิธีทำงาน กับลูกน้องที่ มีอายุมากกว่า

10 ส.ค. 2021
วิธีทำงาน กับลูกน้องที่ มีอายุมากกว่า | THE BRIEFCASE
ในเวลาการทำงานเราคงต้องมีการทำงานร่วมกับคนที่หลากหลายอายุ
ซึ่งเรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหาในการวางตัวเท่าไร หากเราต้องทำงานร่วมกับคนเหล่านั้นในฐานะเพื่อนร่วมงานตำแหน่งระดับใกล้เคียงกัน
แต่ถ้าวันหนึ่งเรากลายมาเป็นหัวหน้า และมีลูกน้องที่อายุมากกว่า เราจะมีวิธีทำงานกับลูกน้องกลุ่มนี้อย่างไร
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพาทุกท่านไปหาคำตอบกัน
ในสังคมไทยนั้น เป็นที่ยอมรับกันมานานว่า เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อาวุโส ดังนั้นคนที่อายุน้อยกว่า มักจะถูกมองว่าต้องเชื่อฟังคนที่อายุมากกว่า
อาจเนื่องจากคนที่อายุมากกว่านั้น ผ่านร้อนผ่านหนาวและมีประสบการณ์มากกว่าในหลาย ๆ เรื่อง รวมไปถึงเรื่องการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ในโลกของการทำงาน ทุกวันนี้เรามักจะพบเห็นหลายคนที่ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้ขึ้นเป็นตำแหน่งสูง ๆ โดยที่ยังมีอายุไม่เยอะ
ซึ่งอาจเกิดมาจากการที่พวกเขาทำงานหนักตั้งแต่อายุน้อย รู้จักไขว่คว้าทุกโอกาสที่เข้ามาในชีวิต มีการเรียนรู้ความสำเร็จจากคนอื่น หรือการหมั่นศึกษาหาความรู้และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
จึงทำให้คนเหล่านั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนที่มีอายุหรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่าได้ไม่ยาก
แต่ปัญหาก็คือ หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าคนที่อายุน้อยกว่าจะสามารถมาเป็นผู้นำได้จริงหรือไม่
ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าและมีลูกน้องที่อายุมากกว่า สิ่งที่เราต้องทำ เพื่อทำให้ลูกน้องให้การยอมรับก็คือ..
1. รู้จริงในเรื่องงาน
ข้อนี้เป็นข้อสำคัญอันดับแรก ๆ สำหรับหัวหน้าที่ทำงานกับลูกน้องที่อายุมากกว่า เพราะคนที่เป็นหัวหน้านั้น ต้องรู้ลึก รู้จริงในเรื่องงาน ซึ่งต้องผ่านการศึกษา ปฏิบัติ และลงมือทำจริงมาก่อน
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง หรือต้องมานั่งทำเองทุกอย่าง แต่อย่างน้อยคนเป็นหัวหน้าจะต้องรู้ลึกและรู้ละเอียดในเรื่องที่มีความสำคัญ และต้องสามารถให้คำปรึกษาอย่างชัดเจนเมื่อลูกน้องมีปัญหาหรือข้อสงสัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้หัวหน้าคนนั้นได้รับการยอมรับจากลูกน้องได้ง่ายขึ้น
2. สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้พบเห็น
คนอายุน้อยมักถูกมองว่า ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในมุมมองของคนที่มีอายุมากกว่า ดังนั้น สำหรับหัวหน้าที่มีลูกน้องอายุมากกว่านั้น ต้องทำตัวให้มีความน่าเชื่อถือ โดยความน่าเชื่อถือนี้ ไม่เพียงแต่มองจากมุมของการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การฝึกบุคลิกภาพ การพูดจา การสื่อสารกับลูกน้องแบบชัดเจนและชัดถ้อยชัดคำ รู้ว่าเวลาไหนควรเล่น เวลาไหนควรจริงจัง
นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือยังรวมไปถึงการดูแลเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องใช้เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายราคาแพง แต่หมายถึงการแต่งตัวให้เหมาะสม ถูกกาลเทศะ เป็นต้น
3. ไม่ใช้ความรู้สึก หรืออารมณ์ส่วนตัว ในการตัดสินใจเรื่องงาน
ในการทำงานนั้น ไม่ว่าคนคนนั้นจะอายุมากหรือน้อย ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับความเครียดและความกดดันจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำงาน
แต่บางคนอาจเจอปัญหาในการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งหลายครั้งก็เกิดจากการที่คนคนนั้นยังอายุน้อย และยังไม่เคยผ่านประสบการณ์กับบางเรื่องมาก่อน
ดังนั้น ในฐานะหัวหน้าที่มีอายุน้อย ต้องพยายามฝึกควบคุมอารมณ์ ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ให้เป็น เพราะการตัดสินใจโดยขาดความรอบคอบ ใช้ความรู้สึก หรืออารมณ์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง จะทำให้ความน่าเชื่อถือของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้าที่อายุน้อยกว่าจะยิ่งน้อยลง
4. มีความเคารพและนอบน้อม
หลายคนอาจสงสัยว่า การที่หัวหน้าที่มีอายุน้อยกว่าแสดงความเคารพและนอบน้อม จะทำให้เสียภาพลักษณ์การเป็นหัวหน้าหรือไม่
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าจุดสำคัญของการแสดงความเคารพและนอบน้อมในที่นี้คือ การให้ความเคารพต่อความคิด และการกระทำของลูกน้อง การเอาใจเขามาใส่ใจเรา
การรู้จักใช้คำพูดให้ดูนอบน้อมเวลางาน เช่น แทนที่จะออกคำสั่ง ให้เปลี่ยนมาเป็นการขอความร่วมมือแทน ก็จะทำให้ลูกน้องที่มีอายุมากกว่า รู้สึกว่า หัวหน้านั้น มีความเคารพและนอบน้อมต่อเขา ซึ่งจะยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ดีขึ้นได้ด้วย
5. หาจุดแข็งและดึงศักยภาพจากลูกน้องออกมาให้ได้
ข้อดีของหัวหน้าที่มีลูกน้องที่อายุเยอะกว่า คือ ลูกน้องบางคนอาจมีประสบการณ์การทำงานบางอย่างที่มากกว่า รู้ในเรื่องที่สำคัญที่หัวหน้าอาจจะยังไม่รู้
ดังนั้น ในฐานะหัวหน้า เราก็ควรพยายามหาจุดแข็งจากลูกน้องที่มีประสบการณ์สูง หรือมีความเชี่ยวชาญพิเศษในบางเรื่อง แล้วมอบหมายงานดังกล่าวให้เขาทำ
ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ลูกน้องรู้สึกดีที่หัวหน้าให้การยอมรับในความรู้และประสบการณ์ของเขา
แต่ยังส่งผลดีต่อการทำงานให้แก่ตัวหัวหน้าเองและบริษัทอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเห็นภาพว่า ในฐานะหัวหน้าที่อายุน้อยกว่านั้น สิ่งที่หัวหน้าต้องทำไม่เพียงแต่ต้องบริหารงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริหารคนด้วย
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ประสบการณ์ หลักจิตวิทยาในการทำงาน รวมไปถึงการให้เกียรติลูกน้อง ด้วยการแสดงความเคารพ ความนอบน้อม ในฐานะที่พวกเขามีอายุมากกว่า
ซึ่งการทำเช่นนี้ ไม่ได้เพียงแต่จะช่วยให้ได้งานจากลูกน้องเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการได้ใจจากพวกเขาด้วยเช่นกัน..
References:
-https://www.maruey.com/article/contentinjournal/711
-https://creativetalklive.com/young-leader/
-https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.