เกาหลีใต้ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในประเทศเวียดนาม

เกาหลีใต้ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในประเทศเวียดนาม

17 ส.ค. 2021
เกาหลีใต้ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในประเทศเวียดนาม /โดย ลงทุนแมน
เศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไปในอนาคต
นั่นจึงทำให้บริษัทและนักลงทุนจากต่างชาติ ต่างก็สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศแห่งนี้
โดยเฉพาะการลงทุนสร้างโรงงาน เพื่อให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตหลัก อย่างเช่น รองเท้าของ Nike และสมาร์ตโฟนของ Samsung รวมถึงอีกหลายบริษัทที่กำลังย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม เช่น Apple และ Foxconn
แต่รู้หรือไม่ว่าประเทศเวียดนามที่เนื้อหอมในสายตาโลก ผู้ที่ทุ่มเงินลงทุนในประเทศแห่งนี้มากที่สุด คือประเทศ “เกาหลีใต้”
แล้วเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม อย่างไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เงินลงทุนจากต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนามแบบสะสม (FDI Stock) จนถึงปี ค.ศ. 2019 มีสัดส่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ก็คือ
อันดับ 1 เกาหลีใต้ 18.7%
อันดับ 2 ญี่ปุ่น 16.3%
อันดับ 3 สิงคโปร์ 13.7%
อันดับ 4 ไต้หวัน 8.9%
อันดับ 5 สหภาพยุโรป 7.0%
สำหรับประเทศจีนอยู่ในอันดับ 8 มีสัดส่วน 4.5% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 มีสัดส่วน 3.0%
โดยเกาหลีใต้ คือประเทศที่ลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนามมากที่สุด โดยความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ เริ่มแน่นแฟ้นมากขึ้น จากจุดเปลี่ยนที่สำคัญในอดีต 2 ครั้ง
ปี ค.ศ. 2007 ประเทศเวียดนาม เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO
ปี ค.ศ. 2015 ประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้ ทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่ส่งผลให้ เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้าจากเวียดนามลง 95% และเวียดนามลดภาษีนำเข้าจากเกาหลีใต้ลง 89%
นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว เรื่องโครงสร้างแรงงานในประเทศเวียดนาม ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยเติมเต็มสิ่งที่บริษัทเกาหลีใต้ต้องการ
ทั้งเรื่องอายุของคนวัยทำงาน ที่โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงอายุ 30 ปี ต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในเกาหลีใต้เอง ที่คนวัยทำงานโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี
รวมถึงปัจจัยด้านค่าจ้างโดยเฉลี่ย ที่นอกจากค่าจ้างแรงงานในเวียดนามจะคิดเป็นเพียง 1 ใน 8 ของค่าจ้างในเกาหลีใต้แล้ว งานที่ใช้ทักษะสูงขึ้นก็มีค่าจ้างที่ต่ำกว่าอย่างมีนัย เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่งวิศวกร ที่ค่าจ้างในเวียดนามคิดเป็น 1 ใน 5 ของค่าจ้างในเกาหลีใต้
หรือแม้แต่ตำแหน่งผู้จัดการ ที่ค่าจ้างในเวียดนามคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าจ้างในเกาหลีใต้
อีกปัจจัยสำคัญก็คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เพราะประเทศที่เกาหลีใต้ส่งออกไปมากที่สุดตามลำดับก็คือ จีน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
แต่เมื่อจีนและสหรัฐอเมริกากีดกันทางการค้ากันมากขึ้น จึงช่วยเร่งให้เกาหลีใต้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่เวียดนามเร็วขึ้น
แล้วเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนอะไรในเวียดนามบ้าง ?
หลัก ๆ แล้ว กว่า 70% ของการเข้ามาลงทุนในเวียดนามทั้งหมด บริษัทเกาหลีใต้จะเข้ามาสร้าง “โรงงานผลิต” เพื่อหวังเป็นฐานการผลิตหลัก และผู้ลงทุนที่ทรงพลังมากที่สุดก็คือ Samsung
Samsung เริ่มเข้าไปสร้างโรงงานที่เวียดนามในปี ค.ศ. 2008 และเริ่มผลิตโทรศัพท์มือถือเพื่อส่งออกในปีถัดมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ Samsung มีโรงงานผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน Samsung มีโรงงานในเวียดนามสำหรับผลิตสมาร์ตโฟน 2 แห่งและโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 1 แห่ง
โดยสมาร์ตโฟน Samsung ที่ส่งออกทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่ง ผลิตที่เวียดนาม โดยสินค้าจาก Samsung คิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม ซึ่งก็เรียกได้ว่าประเทศเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทไปแล้ว นั่นเอง
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามพยายามทำมาสักพักแล้วก็คือ โน้มน้าวให้ Samsung มาตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ผลิตชิปในประเทศด้วย
เมื่อบริษัทที่ใหญ่สุดในเกาหลีใต้อย่าง Samsung เลือกประเทศเวียดนาม จึงทำให้บริษัทอื่นก็ขยับตาม
เริ่มจากคู่แข่งอย่าง LG ที่เริ่มสร้างโรงงานผลิตที่เวียดนามในปี ค.ศ. 2014 ก่อนที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ตามมา เพื่อเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เป็นจอแสดงผลและระบบสร้างความบันเทิง
แต่นอกจากประเทศเวียดนามจะได้เปรียบในเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่าเกาหลีใต้แล้ว บุคลากรในตลาดแรงงานของเวียดนามยังมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าประเทศอาเซียนอื่นที่มีระดับค่าจ้างพอ ๆ กัน อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว
นั่นจึงทำให้บริษัทจากเกาหลีใต้ ไม่เพียงสร้างโรงงานการผลิตเท่านั้น แต่ยังลงทุนสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนา” หรือ R&D Center ที่ประเทศเวียดนามด้วย
อย่าง Samsung ได้ลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เมืองฮานอย ซึ่งตั้งใจว่าจะเป็นหนึ่งในศูนย์หลักของ Samsung ที่ใช้วิจัยและพัฒนาสมาร์ตโฟน รวมถึงนวัตกรรมด้านอื่น โดยคาดว่าจะเปิดในปี ค.ศ. 2022 และจะจ้างวิศวกรท้องถิ่นราว 3,000 คน
ด้าน LG ก็มีศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ฮานอยแล้ว และกำลังสร้างอีกศูนย์เพิ่มที่เมืองดานัง โดยเน้นวิจัยด้านชิ้นส่วนรถยนต์เป็นหลัก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเหล่านี้ ทำให้ประเทศเวียดนามไม่ได้เป็นเพียงแค่ฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศเวียดนามมีโอกาสสูงที่จะได้เรียนรู้และถูกถ่ายโอนเทคโนโลยีมาด้วย
และนอกจากการลงทุนไปกับการสร้างโรงงานผลิตหรือศูนย์วิจัยแล้ว บริษัทเกาหลีใต้ยังสนใจลงทุนในเวียดนามผ่านการเป็น “ผู้ถือหุ้น” ในกิจการท้องถิ่นด้วย
อย่างเมื่อปี ค.ศ. 2019 บริษัท Samsung SDS ได้เข้าไปถือหุ้น 30% ในบริษัท CMC ซึ่งเป็นบริษัท IT ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเวียดนาม
แต่บริษัทที่ทุ่มเงินลงทุนในบริษัทเวียดนามมากที่สุดก็คือ SK กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้
ที่เป็นรองแค่ Samsung และ Hyundai ยกตัวอย่างเช่น
ปี ค.ศ. 2018 SK เข้าไปถือหุ้น 9.5% ใน Masan Group กลุ่มบริษัทด้านอาหารขนาดใหญ่
ปี ค.ศ. 2019 SK เข้าไปถือหุ้น 6.1% ใน Vingroup กลุ่มบริษัทที่ใหญ่สุดในเวียดนาม
ปี ค.ศ. 2021 SK เข้าไปถือหุ้น 16.3% ใน VinCommerce เชนร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ที่เพิ่งเปลี่ยนเจ้าของจาก Vingroup ไปเป็น Masan Group เมื่อปี ค.ศ. 2019
ซึ่งการลงทุน 3 ครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 62,700 ล้านบาท
การเข้ามาลงทุนของบริษัทเกาหลีใต้ที่นิยมอีกรูปแบบก็คือ การ “เปิดสาขา” ในประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบริโภค ร้านค้าปลีก และบริการต่าง ๆ อย่างเช่นบริการการเงิน ซึ่งก็น่าสนใจว่าบริษัทเหล่านี้แทบจะไม่เคยมีสาขานอกประเทศเกาหลีใต้เลย
เพราะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางในประเทศเวียดนาม ซึ่งยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว
ถูกประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดและเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่สำคัญก็คือความนิยมในสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้
ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชาวเวียดนามกลุ่มหนึ่งคุ้นเคยกับแบรนด์เหล่านี้อยู่แล้ว
อย่าง Lotte หนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ ที่สร้าง Lotte Center ที่เมืองฮานอย โดยเป็นอาคารที่สูงเป็นอันดับ 3 ในเวียดนาม มีทั้งโรงแรม 5 ดาว, ส่วนพักอาศัย, ห้างสรรพสินค้า Lotte, ซูเปอร์มาร์เก็ต Lotte Mart รวมถึงภัตตาคาร สปา และบริการอื่น ๆ คล้ายกับ Lotte Tower ในกรุงโซล
นอกจากนี้ Lotte ยังมีธุรกิจอื่นในเครือที่ประสบความสำเร็จในเวียดนาม อย่างเช่น ร้าน Lotteria ที่เริ่มเปิดสาขาเวียดนามในปี ค.ศ. 1998 จนในปัจจุบันกลายเป็นเชนฟาสต์ฟูด ที่มีสาขามากที่สุดในเวียดนาม
รวมถึงโรงภาพยนตร์ Lotte Cinema ที่เริ่มให้บริการที่เวียดนามในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งนอกจาก Lotte แล้ว กลุ่ม CJ บริษัทแม่ของผู้ผลิตสื่อบันเทิงขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ อย่างเช่น Mnet, tvN และ Studio Dragon ก็มาเปิดสาขาโรงภาพยนตร์ CJ CGV ที่เวียดนามตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005
ซึ่งโรงภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ก็กลายเป็นเจ้าตลาดในเวียดนาม โดยกว่า 70% ของจำนวนโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในประเทศเวียดนาม เป็นของ CJ CGV และ Lotte Cinema
ในส่วนของบริการทางการเงิน กลุ่มบริษัทการเงิน ธนาคาร รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ก็เลือกมาเปิดสาขาที่เวียดนาม เช่นกัน
อย่างเช่น Shinhan Financial Group กลุ่มการเงินอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ เข้ามาเปิดสาขาธนาคาร Shinhan Bank Vietnam ตามเมืองใหญ่ในเวียดนาม รวมถึงบริษัท Shinhan Investment ที่ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพย์ท้องถิ่น
หรือ Hana Bank ธนาคารของกลุ่มการเงินอันดับ 4 ของเกาหลีใต้ ก็เข้ามาถือหุ้น 15% ในธนาคารรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม ที่ชื่อ Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) และมีแผนจะขยายสาขาในเวียดนามผ่านเครือข่ายสาขาของ BIDV
รวมถึงบริษัทการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง Mirae Asset Global Investments ซึ่งเป็นบริษัทแรกของเกาหลีใต้ที่ได้เปิดบริษัทจัดการกองทุนในเวียดนาม และเป็นสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเข้ามาลงทุนหลากหลายรูปแบบในประเทศเวียดนามของเกาหลีใต้ มีส่วนสำคัญในการเพิ่มการจ้างงานเกือบล้านตำแหน่งในตลาดแรงงานเวียดนาม รวมถึงยังทำให้เวียดนามมีโอกาสได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปด้วย
ที่สำคัญก็คือเรื่องของการส่งออก ที่ราว 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม มาจากการผลิตของโรงงานสัญชาติเกาหลีใต้
นอกจากนี้โครงสร้างการส่งออกของเวียดนาม ก็ปรับมามีสัดส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง จากเมื่อ 20 ปีก่อน ที่แทบไม่มีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เลย
ถึงตรงนี้ เราก็พอจะสรุปได้ว่าประเทศเกาหลีใต้ คือผู้มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2019-04-10/south-korea-s-investment-bonanza-in-vietnam-doesn-t-add-up
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/South-Korea-s-SK-Group-bets-big-on-Vietnam-s-100m-consumer-market
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-deals/SK-Group-takes-16-stake-in-Vietnam-s-top-retailer
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/South-Korean-investment-in-Vietnam-grows-amid-U.S.-China-trade-war
-https://m.koreatimes.co.kr/pages/article.asp?newsIdx=280920
-http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20181122000128
-https://www.kroll.com/-/media/kroll/pdfs/publications/the-rise-of-korean-investment-in-vietnam.ashx
-http://www.mpi.gov.vn/en/Pages/chuyenmuctin.aspx?idcm=277
-https://www.krungsri.com/en/research/regional-economic/RH/ih-vietnam-2021
-https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/country-competitiveness
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.