วิธีรับมือ กับหัวหน้าที่มี ลูกรัก-ลูกชัง

วิธีรับมือ กับหัวหน้าที่มี ลูกรัก-ลูกชัง

19 ส.ค. 2021
วิธีรับมือ กับหัวหน้าที่มี ลูกรัก-ลูกชัง | THE BRIEFCASE
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอคือ สังคมการทำงาน ซึ่งบ้างก็เป็นไปตามอย่างที่เราคิด แต่ส่วนมากก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังสักเท่าไร
คนที่โชคดีอาจเจอหัวหน้าที่ดีหรือลูกน้องที่ดี ตั้งแต่เข้าทำงานในที่แรก ๆ แต่คนที่โชคไม่ดี ก็อาจต้องเปลี่ยนงานหลายที่ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ เจอความถนัดที่ตัวเองทำได้ดี หรือแม้แต่สังคมการทำงานที่ดี
ซึ่งปัญหาหลัก ๆ ที่เรามักเจอในสังคมการทำงานคือ ปัญหาเรื่อง “คน”
วันนี้ THE BRIEFCASE จะขอยกตัวอย่าง หนึ่งในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคน ที่มักพบเจอได้บ่อยที่สุด นั่นคือ ปัญหาที่หัวหน้า มีลูกรัก-ลูกชัง พร้อมวิธีรับมือให้ก้าวข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างใจเย็น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุที่สังคมการทำงานในไทยมักเจอปัญหาเรื่องนี้ ก็เพราะว่า วัฒนธรรมไทย ถูกฝังรากลึกด้วยระบบอุปถัมภ์
การอุปถัมภ์ ในความหมายโดยทั่วไป คือ การค้ำจุน, การสนับสนุน และการเลี้ยงดู แต่ในทางการเมืองจะใช้คำว่า ระบบอุปถัมภ์ หมายถึง การได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่หรือญาติมิตรของตน
ซึ่งระบบอุปถัมภ์ หรือ Patronage System เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยยุโรปยุคกลาง ช่วงศตวรรษที่ 5-16
ส่วนในสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์ได้เกิดขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์ และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จากการที่ระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษ บวกกับลักษณะนิสัยพื้นฐานของคนไทย ที่มักเป็นคนประนีประนอม ในจุดนี้เอง ก็ยิ่งทำให้ระบบอุปถัมภ์แข็งแรงและฝังรากลึกมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในสังคมการทำงาน ระบบอุปถัมภ์ก็ไม่ได้ต่างจากระบบลูกรัก-ลูกชัง เท่าไรนัก
ซึ่งถ้าหากเราเป็นลูกรักก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าหากเราเจอกับสภาวะที่เราเป็นลูกชัง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ?
1. ยอมรับและเข้าใจ
ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า ทุกอย่างบนโลกนี้ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องงาน ไม่สามารถเป็นไปอย่างที่ใจเราต้องการได้ทุกเรื่อง
เมื่อยอมรับแล้วก็กลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่า สิ่งไหนที่เรายังขาดตกหรือบกพร่อง เราก็ค่อย ๆ ปรับปรุงและพัฒนาตัวเองไป
อาจจะไม่ต้องถึงกับเปรียบเทียบ ว่าจะต้องทำได้ดีแบบลูกรักของหัวหน้า เพราะการเอาความคาดหวังไปฝากไว้กับคนอื่น ย่อมผิดหวังได้ง่าย ๆ ขอเพียงแค่ทำให้ตัวเรา เก่งมากกว่าคนเดิม คนเมื่อวาน ก็พอแล้ว
2. ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด
ในสังคมการทำงานคือเรื่องของผลประโยชน์และผลงานเป็นหลัก ต่างจากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย หรือการใช้ชีวิตกับครอบครัว ที่ยังมีการอะลุ่มอล่วยหรือผ่อนปรนได้บ้าง
เราจึงต้องยอมรับให้ได้ว่า โลกของการทำงานมักเปรียบเหมือนพีระมิด เพราะยอดสูงสุดแคบกว่าฐาน ดังนั้น จึงมักมีกฎของการคัดสรรเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดระบบลูกรัก-ลูกชัง อยู่บ่อยครั้ง
เมื่อเราเข้าใจว่าสังคมการทำงาน ก็มักจะเป็นแบบนี้เสียส่วนใหญ่ เราก็จะโฟกัสถูกจุด ไม่เอาเรื่องงานมาทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว เมื่ออารมณ์ของเราแจ่มใสมากขึ้น ผลงานก็จะออกมาดียิ่งขึ้น
3. ความเห็นอกเห็นใจ คือสิ่งที่ไม่สามารถสอนกันได้
งานวิจัยของ Carol M. Davis ได้หยิบยกประเด็นการพูดคุยเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์จิตวิทยา Carl Rogers และ Dan J. Stein ว่า “ความเห็นอกเห็นใจ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนกันได้”
ความหมายของ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือ Empathy คือ การที่เราสามารถเข้าใจความรู้สึกหรือมุมมองของคนอื่น ๆ ได้ ผ่านประสบการณ์ของเขา โดยไม่เอาประสบการณ์ของเราเข้าไปตัดสิน
ทั้งนี้ การที่เราจะสามารถเข้าใจมุมมองคนอื่นได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น การที่คนรวยจะเข้าใจมุมมองของคนจน หรือคนขาวจะเข้าใจมุมมองของคนผิวสี
ซึ่งคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตแตกต่างกัน ก็จะส่งผลให้มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น มากน้อยต่างกันไปด้วย เหตุผลเป็นเพราะ ยิ่งคนคนนั้น มีวุฒิภาวะ (Maturity) มากเท่าไร ความสามารถในการเข้าใจมุมมองของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ก็จะมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือการเปิดใจให้กว้าง แล้วพยายามทำความเข้าใจมุมมองของหัวหน้า ที่อยู่อีกฟากความคิดของเราว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายความรู้สึกของเรา เพียงแต่เขาเลือกที่จะทำแบบนั้น เพราะเขาเต็มใจและมีความสุขที่จะทำ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นมุมมองการรับมือของคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่หัวหน้า มีลูกรัก-ลูกชัง
แต่ในมุมของหัวหน้า ก็อาจเคยมีความเชื่อที่ว่า พนักงานจำนวนแค่ 10-30% คือกลุ่มคนที่ทำให้บริษัทเติบโต เหมือนกับ กฎ 80:20 ของ วิลเฟรโด พาเรโต
เช่น สมมติร้านค้ามีสินค้า 100 ชนิด เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่า จำนวนสินค้าที่ขายได้ทั้งหมด 100% นั้น 80% ของที่ขายได้ มาจากสินค้าเพียง 20 ชนิด และสินค้าที่ขายได้ 20% มาจากสินค้าอีก 80 ชนิดที่เหลือ ซึ่งหลักการนี้ ตัวเลขอาจไม่จำเป็นต้อง 80:20 เสมอไป อาจจะเป็น 70:30 หรือ 90:10 ก็ได้
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการทำงาน จริงอยู่ว่าพนักงานเพียง 10-30% อาจเป็นกำลังหลักในการทำให้บริษัทเติบโต แต่อย่าลืมว่าพนักงานในส่วนที่เหลือ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
เพราะพนักงานที่ทำงานจิปาถะ หรือมีตำแหน่งทั่ว ๆ ไป คือผู้รับผิดชอบงานเล็ก ๆ ซึ่งดูผิวเผินอาจไม่สำคัญ แต่เมื่อนำผลลัพธ์มารวมกันแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทเติบโตได้เช่นกัน
สุดท้ายแล้วทุกอย่างในชีวิต มันก็ไม่สามารถเป็นไปตามที่เราหวังไว้ ได้ทั้งหมด
เราทำได้ดีที่สุด ในส่วนความรับผิดชอบของเรา นั่นคือทำทุกอย่างให้เต็มที่ เพื่อที่จะไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง
หากทุกอย่างเป็นไปตามที่เราคิดไว้ทั้งหมด ชีวิตคงน่าเบื่อ เพราะเหมือนการดูหนัง ที่รู้ตอนจบล่วงหน้าแล้ว..
สุดท้ายแล้วไม่ว่าหัวหน้าจะมีลูกรักหรือลูกชัง และเราจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม คงไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครผิดหรือใครถูก
เพราะชีวิตก็เป็นแบบนี้ เมื่อมีขาวก็ต้องมีดำ เพื่อให้ทุกอย่างสมดุลกัน ไม่มากและไม่น้อยไป
ในมุมของลูกน้อง หน้าที่ของเราคือทำงานออกมาให้ดีที่สุด ส่วนในมุมของหัวหน้าคือการบริหารคนและการดึงศักยภาพของลูกน้องออกมา ให้ได้มากที่สุด..
References:
-https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%96%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B9%8C
-https://web.facebook.com/told.psychologist/posts/540803389923391
-https://puktiwit.wordpress.com/2014/06/05/%E0%B8%81%E0%B8%8F-80-20-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%94-%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%95-vilfredo-federico/
-https://th.hrnote.asia/tips/th-190123-resignjobreason/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.