รู้จักภาวะ Toxic Positivity การคิดบวกมากไป จนกลายเป็นผลเสีย

รู้จักภาวะ Toxic Positivity การคิดบวกมากไป จนกลายเป็นผลเสีย

20 ส.ค. 2021
รู้จักภาวะ Toxic Positivity การคิดบวกมากไป จนกลายเป็นผลเสีย | THE BRIEFCASE
ตั้งแต่เล็กจนโตเรามักได้ยินคนส่วนใหญ่พูดกันว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ให้พยายามมองโลกในแง่ดี หรือคิดบวกให้มาก ๆ เพื่อที่ชีวิตของเราจะได้มีสิ่งดีผ่านเข้ามา
หรือแม้แต่เวลาที่เราเจอเรื่องร้าย ๆ เรื่องแย่ ๆ แล้วรู้สึกหดหู่ แล้วมีคนมาปลอบใจเรา พวกเขามักมาพร้อมกับคำพูดที่ว่า “อย่าคิดมาก เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” หรือ “อย่ามองโลกแง่ร้าย หัดมองโลกในแง่ดีบ้าง” ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่ ที่เราควรต้องมองโลกในแง่ดี หรือพยายามคิดบวกให้มากเข้าไว้
แต่อะไรที่มากเกินไป ไม่เว้นแม้กระทั่ง “การคิดบวก” หรือมองโลกในแง่ดี ก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน..
การมองโลกในแง่ดี หรือคิดบวกมาก ๆ จนตามมาด้วยผลเสีย นักจิตวิทยาเรียกว่า “Toxic Positivity”
Toxic Positivity เป็นภาวะที่คนคนหนึ่ง กำลังมองโลกในแง่บวก โดยที่ปราศจากความเป็นจริง หรือเหตุผลใด ๆ มารองรับ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตามมามากมาย
เพราะเมื่อเกิดปัญหาอะไรก็ตาม คนที่อยู่ในภาวะ Toxic Positivity จะพยายามมองโลกในแง่บวกหรือมองแต่ด้านดี พร้อมกับอาจบอกตัวเองเสมอว่า “ยังไหวอยู่” “เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้น” หรือแม้แต่ “ช่างมันเถอะ”
แต่ถ้ามองอีกมุม นักจิตวิทยาบอกว่า พฤติกรรมลักษณะนี้ เป็นการหาข้ออ้าง เพื่อปฏิเสธความจริงของปัญหา หรือแม้แต่กลบเกลื่อนความรู้สึกแย่ ๆ ที่คนคนนั้นกำลังเจออยู่
แต่ประเด็นของเรื่องนี้กลับไม่ได้อยู่ที่ การมองโลกในแง่ดี หรือมองด้านบวกมากเกินไปอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่ การที่คนคนหนึ่งกำลังหลอกตัวเอง หรือปฏิเสธความจริงของปัญหา จนปล่อยให้ปัญหาเหล่านั้นจะยังคงอยู่ โดยไม่ได้รับการแก้ไข ที่แย่ก็คือ ปัญหานั้นอาจลุกลามบานปลาย จนสายเกินไปที่จะแก้ไข
นักจิตวิทยาบางคนถึงขนาดบอกว่า การคิดบวกมักส่งผลเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย
แล้วคนที่อยู่ในภาวะ Toxic Positivity จะมีลักษณะอย่างไร ?
- ซ่อนหรือปิดบังความรู้สึกแย่ ๆ ของตัวเองเอาไว้คนเดียว
- เพิกเฉยต่อปัญหา เพราะคิดว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป
- บอกกับตัวเองให้ทนไปก่อน เมื่ออยู่ในสถานการณ์ลำบากหรือเกิดความไม่สบายใจ จนนานเข้าก็นำไปสู่ความเก็บกดในจิตใจ
ทีนี้ลองนึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ดูว่า ภาวะ Toxic Positivity จะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ในทุกวันนี้ คนที่ทำธุรกิจ อาจกำลังประสบปัญหายอดขายของบริษัทกำลังย่ำแย่ ผลประกอบการขาดทุนอย่างหนัก แต่หัวหน้ากลับบอกว่าไม่เป็นไร และเชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี เพราะไม่ต้องการให้พนักงานตื่นตระหนก
พอพนักงานได้ยินแบบนี้ พวกเขาเลยไม่ได้เตรียมพร้อม หรือวางแผนว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าบริษัทต้องปิดตัวลง หรือตัวเองต้องถูกปลดออกจากงาน
ดังนั้น การบอกให้พนักงานยอมรับความจริง และเตรียมความพร้อมกรณีที่บริษัทต้องปิดตัวลง หรือเลิกจ้าง น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการปลอบใจพนักงานหรือให้มองโลกในแง่บวกที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง
หรือแม้แต่การที่เรากำลังรู้สึกเสียใจอย่างหนัก จากเหตุการณ์บางอย่าง แต่ตัวเราเองพยายามทำให้คนอื่นเห็นว่าเรามีความสุข เพราะต้องการซ่อนหรือปิดบังความรู้สึกแย่ ๆ ไม่ให้ใครรู้ พฤติกรรมแบบนี้ก็นำไปสู่ภาวะ Toxic Positivity เช่นเดียวกัน ซึ่งนักจิตวิทยาบอกว่า คนที่ทำแบบนี้จะกลับเสียใจหนักยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจบอกว่า แล้วแบบนี้เราควรต้องมองโลกในแง่ร้ายหรือคิดลบเข้าไว้สินะ! เพราะเป็นเหมือนการทำให้ตัวเองต้องรู้สึกมีการเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ กับเรื่องไม่คาดฝันอยู่ตลอดเวลา หรือไม่หลอกตัวเองในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
แต่คนที่มองโลกในแง่บวก ก็คงไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งเชื่อว่า คนเราควรพยายามมองโลกในแง่ดีและคิดบวกเข้าไว้ เพื่อช่วยทำให้เราไม่จมปลักอยู่กับสิ่งร้าย ๆ ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราต้องคิดไว้เสมอว่า ทั้งการมองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือการมองโลกในแง่ดีเกินไปก็สามารถส่งผลเสียหายได้ทั้งคู่
ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ การพยายามมองโลกอย่างเป็นจริง “ด้วยเหตุและผล” ไม่หลอกตัวเอง แม้ว่าบางครั้งเราจะกำลังรู้สึกแย่
เราไม่จำเป็นต้องมองโลกในแง่ร้ายเกินไปจนเกิดความหวาดระแวง ไม่เชื่อใครหรือแม้แต่ตัวเอง และก็ไม่จำเป็นต้องมองโลกในแง่ดีเกินไปจนเมินเฉย และไม่รู้สึกใด ๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ การใช้เวลาอยู่กับเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกแย่สักระยะ เพื่อที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาด พยายามหาทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดอีก ก็น่าจะทำให้ในอนาคตเราสามารถรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างดี
และเราจะกลายเป็นคนที่มีความสุข ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ผ่านเข้ามาในชีวิตก็ตาม..
References:
-https://www.verywellmind.com/what-is-toxic-positivity-5093958
-https://th.jobsdb.com/th-th/articles/toxic-positive-คิดบวกจนเป็นพิษ/
-https://www.bbc.com/thai/features-49154443
-https://www.youtube.com/watch?v=uWPVxjQ0DxI
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.