สรุปเรื่องรถไฟ JR Hokkaido ที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น

สรุปเรื่องรถไฟ JR Hokkaido ที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น

10 ก.ย. 2021
สรุปเรื่องรถไฟ JR Hokkaido ที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น /โดย ลงทุนแมน
รถไฟ JR Hokkaido ที่เป็นข่าวร้อนแรงในวันนี้
ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำเข้ารถไฟที่ปลดระวางแล้วจากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งจะมาถึงไทยช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2564 นี้ จากที่ล่าช้าตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 17 คัน
แบ่งได้เป็น 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ และอีก 1 ตู้ไว้สำรอง
โดยเสียงบประมาณในการขนส่ง 42.5 ล้านบาท และค่าปรับปรุงตัวรถอีกคันละ 16 ล้านบาท
เพื่อมาใช้รองรับเส้นทางรถไฟระหว่างจังหวัดนครราชสีมา-ขอนแก่น และตามเส้นทางท่องเที่ยว
สาเหตุที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเป็นเพราะอะไร
แล้วข้อมูลรถไฟ JR Hokkaido จากญี่ปุ่น น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หากพูดถึงรถไฟของประเทศญี่ปุ่น นับได้ว่าเป็นหนึ่งเทคโนโลยีอันดับต้น ๆ ของโลก
ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางไกล รถไฟฟ้า ไปจนถึงรถไฟความเร็วสูง
ที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนรุ่นขบวนรถไฟอยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งรถไฟญี่ปุ่นจะใช้งานเฉลี่ยเพียง 30 ปี ขณะอายุการใช้งานสูงสุดได้เต็มที่ถึง 50 ปี
อย่างรถไฟจาก JR Hokkaido รุ่น KiHa 183-0 ซึ่งเป็นรุ่นที่ รฟท. สั่งนำเข้า
ถูกใช้งานในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2524 และปลดระวางในปี 2545 รวมแล้วใช้งานเพียง 21 ปี
เมื่อนำมาปรับปรุงใช้งานต่อในไทย จะยังสามารถใช้งานต่อไปอีกหลาย 10 ปี
เพื่อชดเชยในระหว่างที่รอการจัดหาและรอการผลิตหัวรถจักรดีเซลรุ่นใหม่เพิ่มเติม
ถ้าลองสังเกต การที่นำเข้ารถไฟจากญี่ปุ่นมาใช้งานในไทย มีจุดที่น่าสังเกตคือ
1. ขนาดล้อของรถไฟ ที่ใกล้เคียงกับขนาดรางรถไฟที่ใช้ในไทย โดยปรับปรุงเพียงเล็กน้อยก็สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพราะ
- ขนาดล้อเดิมของรถไฟญี่ปุ่น จะใช้กับขนาดความกว้างราง 1.067 เมตร
- ส่วนขนาดรางของรถไฟในไทย จะมีความกว้าง 1.000 เมตร
2. เครื่องยนต์ดีเซลของรถไฟสามารถใช้งานร่วมกับโครงข่ายรถไฟของไทยได้ไม่ยาก เมื่อเทียบระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้ทั้งเงินทุนและระยะเวลาที่นานกว่าจะพร้อมใช้งาน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างรางและต่อเติมระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าไว้รองรับ
3. ตัวตู้โดยสารเดิมของรถไฟ รองรับการติดตั้งระบบปรับอากาศไว้อยู่แล้ว จึงเพียงแค่นำมาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นภายใน 1 ปี โดยไม่ต้องออกแบบใหม่ให้ยุ่งยาก
โดยก่อนหน้านี้ ไทยเองก็เคยนำเข้าตู้รถไฟมือสองของ JR-WEST จากญี่ปุ่นมาแล้ว
ซึ่งถูกใช้ในโครงการ SRT Prestige สำหรับเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวตามจังหวัดต่าง ๆ
ด้วยบริการแบบเฟิสต์คลาส พร้อมตู้นอน และห้องจัดประชุมแบบครบวงจร
แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของราคาที่แพง และเน้นการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ
ขณะที่รถไฟชุดใหม่จาก JR Hokkaido จะรองรับการนั่งโดยสารเป็นหลัก
ที่น่าสนใจคือ การนำเข้ารถไฟจากญี่ปุ่นในครั้งนี้ ก็เพื่อนำมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ในเรื่องของการขาดหัวรถจักรเดิมที่เริ่มล้าสมัย และมีจำนวนไม่เพียงพอ
ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวอาจเป็นแค่ผลพลอยได้
คงต้องดูกันต่อไปว่า เมื่อรถไฟจากญี่ปุ่นชุดล่าสุดนี้พร้อมให้บริการอย่างเต็มที่
จะช่วยทำให้คนไทยเดินทางสะดวกขึ้น หรือช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยได้แค่ไหน..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.