อาณาจักร อาจารย์อุ๊

อาณาจักร อาจารย์อุ๊

20 พ.ย. 2017
อาณาจักร อาจารย์อุ๊ / โดย เพจลงทุนแมน
หากพูดถึงโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังของเมืองไทย
เคมี อ.อุ๊ น่าจะคุ้นหูในช่วงตลอด 30 ปีมานี้
อ.อุ๊ เป็นใคร ทำธุรกิจอะไรบ้าง ทำไมนักเรียนถึงชื่นชอบ
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ตลาดโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นเรื่อยๆจากปี 2555 ที่อยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะโตต่อเนื่องด้วยการแข่งขันของเด็กที่สูงขึ้นในทุกปี
แต่ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนเท่านั้นที่แข่งขันกัน โรงเรียนกวดวิชาเองในช่วงหลายปีมานี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนการบริการและรูปแบบธุรกิจให้เข้ากับเทคโนโลยีและคู่แข่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าถามว่าแล้วกวดวิชาเจ้าไหนที่ผ่านมาแล้วนับสิบปีก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ในใจนักเรียนอยู่ คำตอบคงหนีไม่พ้น เคมี อ.อุ๊
อาจารย์อุ๊ หรือ อุไรวรรณ ศิวะกุล จบปริญญาโทด้านเคมี จาก มศว.ประสานมิตร รับราชการครูตั้งแต่ปี 2519 ถึงปี 2537 โดยเริ่มสอนกวดวิชาเพื่อเป็นงานพิเศษในปี 2525 จนกระทั่งได้เปิดโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ (เคมี อ.อุ๊) สาขาแรกเมื่อปี 2532 ที่สะพานควาย
ปัจจุบันเคมี อ.อุ๊ มีทั้งสิ้น 29 สาขา กระจายทั่วทุกภาค โดย อาจารย์อุ๊จะสอนสดอยู่ที่สาขาพญาไทเพียงสาขาเดียว สาขาอื่นจะใช้ระบบเรียนผ่าน DVD หรือผ่านคอมพิวเตอร์สำหรับคอร์สส่วนตัว ณ สาขานั้นๆ โดย อ.อุ๊ ยังไม่มีระบบการเรียนออนไลน์ที่บ้าน
ด้วยสไตล์การสอนที่ถูกใจเด็กๆ ทำเรื่องยากอย่างเคมีให้เข้าใจง่ายๆ ทำให้ชื่อเสียงของ อ.อุ๊ เป็นที่โด่งดังในกลุ่มนักเรียน ม.ปลาย สายวิทย์คณิตเป็นอย่างมาก
เมื่อปี 2548 อาจารย์อุ๊ และสามีได้ประมูลที่ดินที่แยกพญาไทเพื่อมาเปิดเป็นศูนย์การศึกษาที่ครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “อาคารวรรณสรณ์” ด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างตึก 18 ชั้นที่เต็มไปด้วยโรงเรียนกวดวิชาชั้นแนวหน้าของเมืองไทยกว่า 20 สถาบัน ร้านอาหาร ธนาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองอย่างครบครัน
ด้วยทำเลที่ตั้งใจกลางเมือง มีรถประจำทางและรถไฟฟ้า BTS ผ่าน ตึกวรรณสรณ์กลายเป็นศูนย์กลางการกวดวิชาของกรุงเทพไปโดยปริยาย ทุกเสาร์-อาทิตย์และช่วงปิดเทอมเราจะเห็นนักเรียนนับแสนคนต่อวันมุ่งตรงสู่ตึกวรรณสรณ์
ธุรกิจของ อ.อุ๊ จึงไม่ใช่แค่การสอนหนังสืออีกต่อไป แต่เพิ่มการให้เช่าสถานที่ซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาล
อาจารย์อุ๊และสามี มีรายได้หลักจาก 2 บริษัท
บริษัท วรรณสรณ์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (โรงเรียนกวดวิชา เคมี อ.อุ๊)
ปี 2558 รายได้ 113 ล้านบาท กำไร 4.6 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 342 ล้านบาท กำไร 37.7 ล้านบาท
บริษัท วรรณสรณ์ ธุรกิจ จำกัด (ให้บริการเช่าพื้นที่อาคารวรรณสรณ์)
ปี 2558 รายได้ 161 ล้านบาท กำไร 48.3 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 165 ล้านบาท กำไร 46 ล้านบาท
เมื่อก่อนรายได้ของธุรกิจกวดวิชาที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้นไม่เสียภาษี ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมารัฐได้ทำการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเหมือนธุรกิจทั่วไป
แน่นอนว่ามีคนได้เงินเพิ่ม ก็ต้องมีคนจ่ายเงินเพิ่ม
ภาระภาษีจึงกลายมาเป็นอัตราค่าเรียนที่สูงขึ้น ตกมาเป็นภาระของผู้ปกครองแทน
อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น โรงเรียนกวดวิชาในปัจจุบันปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
อ.อุ๊ ที่เมื่อก่อนสอนเฉพาะวิชาเคมีของตน ก็ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกวดวิชาอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ ของ อ.ประกิตเผ่า สังคม ของ อ.ปิง (ดาว้องก์) ให้มาใช้สถานที่ร่วมกันในการเปิดคลาสเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มาที่เดียวสามารถเรียนได้ครบทุกวิชา
หากถามว่าปัจจุบันคู่แข่งของโรงเรียนกวดวิชาคือใคร เราอาจแปลกใจที่โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ลดการแข่งขันกันเอง แต่รวมตัวกันเพื่อสู้กับคู่แข่งใหม่อย่างติวเตอร์ตัวต่อตัวที่กำลังเป็นที่นิยมในโลกแห่งเทคโนโลยี
ปัจจุบันมีธุรกิจที่ตั้งตัวเป็นนายหน้าจับคู่ผู้เรียนกับผู้สอนมากมาย
เช่น นาย A ต้องการเรียนวิชาชีวะเพื่อสอบเข้าแพทย์ แทนที่จะเรียนกับโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง นาย A สามารถติดต่อนายหน้าเพื่อหาผู้สอนวิชานั้น โดยแจ้งอัตราค่าเล่าเรียนที่ต้องการจ่ายต่อชั่วโมง จากนั้นนายหน้าก็จะประกาศหาผู้ที่สนใจจะสอนวิชานั้นๆ โดยเก็บค่านายหน้าจากผู้สอนประมาณ 600 บาทขึ้นไปต่อวิชา (ส่วนใหญ่ผู้สอนก็จะเป็นนิสิต นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ทำเป็นรายได้เสริม)
เทรนด์การเรียนตัวต่อตัวนี้เกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
Facebook ทำให้การลงประกาศจับคู้ผู้เรียนกับผู้สอนนั้นง่ายขึ้น
Skype หรือ Line ทำให้การเรียนการสอนไม่ต้องเดินทางไปเจอตัวกันจริงๆ
ต้นทุนน้อยลงทั้งผู้เรียนและผู้สอน และที่สำคัญ ไม่เสียภาษี
เทรนด์ต่อมาที่จะมา disrupt นายหน้าเหล่านี้ก็คงจะเป็น platform ที่ผู้เรียนกับผู้สอนสามารถเลือกจับคู่กันได้เองโดยตรง ซึ่งก็เริ่มมีผู้สนใจนำแนวคิดธุรกิจแบบนี้ไปทำกันแล้ว
โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งได้ปรับตัวด้วยการเปิดคลาสออนไลน์ให้นักเรียนสามารถเรียนได้ที่บ้าน
แต่ก็ถือเป็นความเสี่ยง เพราะหากนักเรียนไม่ต้องไปเรียนที่สาขา ก็อาจจะรวมกลุ่มกับเพื่อน โดยสมัครคอร์สเดียว แต่เรียนด้วยกันหลายคน รายได้ของกวดวิชาก็คงลดลง
ถ้าถามว่าการเติบโตของธุรกิจการศึกษาที่นอกเหนือจากในโรงเรียนปกตินั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่
เพราะมันแปลว่าการศึกษาในโรงเรียนนั้นคุณภาพดีไม่พอรึเปล่า ผู้เรียนถึงต้องแสวงหาตัวช่วย
คำตอบนี้นั้นคงยากที่จะตอบ เพราะ เกาหลีใต้กับฟินแลนด์เป็น 2 ประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
เกาหลีใต้เป็นประเทศทีมีอัตราการเรียนกวดวิชาสูงเป็นอันดับต้นๆ
ในขณะที่ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีการเรียนกวดวิชา (แทบไม่มีการบ้านด้วยซ้ำ)
ทั้ง 2 ประเทศต่างมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์สูงมาก
แต่แน่นอนว่า นักเรียนที่ฟินแลนด์คงฟินกว่าประเทศเกาหลีใต้ไม่น้อย..
----------------------
<ad> แทนที่จะให้ลูกเรียกกวดวิชา มาให้ลูกเล่นกิจกรรมดีกว่า KIDDEEPASS คิดดีพาส แอปพลิเคชันรูปแบบใหม่ที่จะพาคุณและลูกน้อย “จองกิจกรรม และ ที่เล่นชั้นนำ” หลากหลายรูปแบบด้วยดีลสุดคุ้ม #แอปพลิเคชันเดียวครบทุกประสบการณ์เรียนรู้ #passporttoallthefun fb.com/KIDDEEPASS/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.