วิกฤติอินเดีย ขาดแคลนไฟฟ้า เพราะถ่านหินแพง

วิกฤติอินเดีย ขาดแคลนไฟฟ้า เพราะถ่านหินแพง

14 ต.ค. 2021
วิกฤติอินเดีย ขาดแคลนไฟฟ้า เพราะถ่านหินแพง /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองถ่านหิน มากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
แต่ปัจจุบัน ประเทศแห่งนี้กลับมีถ่านหินไม่เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ
ตอนนี้มีหลายพื้นที่ในประเทศอินเดียประสบปัญหาไฟฟ้าดับ จนกระทรวงพลังงานของอินเดีย
ถึงกับต้องออกมาแถลงว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้าแล้ว..

แล้วทำไมอินเดียกำลังเผชิญวิกฤติพลังงาน
และเรื่องดังกล่าวจะเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ภายหลังจากวิกฤติโรคระบาดในประเทศ มากแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

จริง ๆ แล้ว ไม่เพียงแต่ประเทศอินเดียเท่านั้น ที่กำลังเจอปัญหานี้
เพราะในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีน ก็ได้ประสบปัญหาวิกฤติพลังงาน เช่นกัน
โดยเหตุผลสำคัญที่ประเทศจีนประสบปัญหาพลังงานเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ

รัฐบาลจีนต้องการให้ประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าลง ตั้งแต่ภาคครัวเรือนไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักหลายอย่างที่สร้างมลพิษ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และซีเมนต์นั้น ถูกควบคุมปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเพื่อลดการใช้พลังงาน

ในขณะที่ปีนี้ ราคาถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า
เพราะถ่านหินนับเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ประเทศจีน
เมื่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น ในขณะที่ราคาขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกลับถูกควบคุมโดยรัฐบาล ทำให้โรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่เต็มใจที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ จึงเกิดปัญหาไฟฟ้าดับในช่วงที่ผ่านมา

ตัดกลับมาที่อินเดียที่ตอนนี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติความขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า
ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายถึงกับบอกว่า ปัญหานี้ที่อินเดียอาจจะหนักกว่าที่จีนกำลังประสบอยู่ในเวลานี้
เพราะอะไร ?

หากเรามาดู 3 ประเทศที่บริโภคถ่านหินมากที่สุดในโลก คือ
ประเทศจีน 4,631 เทระวัตต์-ชั่วโมง
ประเทศอินเดีย 947 เทระวัตต์-ชั่วโมง
ประเทศสหรัฐอเมริกา 774 เทระวัตต์-ชั่วโมง

แม้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศจีน มีปริมาณการใช้ถ่านหินมากกว่าเพื่อน
แต่หากเรามาดู สัดส่วนการใช้ถ่านหิน เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในแต่ละประเทศ
ประเทศอินเดีย ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า 71%
ประเทศจีน ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า 61%
ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า 19%
จะเห็นได้ว่าประเทศอินเดียพึ่งพาถ่านหินในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ที่มากระทบต่อถ่านหิน
จึงทำให้ความขาดแคลนไฟฟ้ากระจายไปทั่วประเทศ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทันที
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติพลังงานในประเทศอินเดียนั้น จะต่างจากประเทศจีน ตรงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนพลังงานสะอาดของรัฐบาล แต่เกิดขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
แล้วเศรษฐกิจในประเทศอินเดียฟื้นตัวเร็ว ขนาดไหน ?
เราต้องลองมาดูจากการเติบโต GDP ของประเทศอินเดียในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด
GDP ไตรมาส 3/2020 ลดลง 7.4%
GDP ไตรมาส 4/2020 เพิ่มขึ้น 0.5%
GDP ไตรมาส 1/2021 เพิ่มขึ้น 1.6%
GDP ไตรมาส 2/2021 เพิ่มขึ้น 20.1%
สำหรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ GDP ไตรมาสล่าสุด
ส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ที่โดนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
อีกส่วนก็ถูกขับเคลื่อนด้วยการคลายล็อกดาวน์ ที่ได้ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น
และด้วยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนั้น ก็ได้ทำให้ความต้องการพลังงาน
โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในประเทศนั้น พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งสวนทางกันกับราคาถ่านหิน ที่กำลังมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์..
นับจากต้นปีที่ผ่านมา ราคาถ่านหินนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 200%
ในขณะที่อินเดียนั้น เป็นประเทศที่นำเข้าถ่านหินมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
มีสัดส่วนกว่า 16.7% โดยในปี 2020 มูลค่านำเข้าถ่านหินของอินเดียนั้นอยู่ที่ 535,000 ล้านบาท
และเมื่อความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้น สถานการณ์ในอินเดียก็เหมือนกับที่เกิดขึ้นในจีน..
เมื่อราคาถ่านหินแพงขึ้น ต้นทุนในการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเพิ่มสูงขึ้น
ผู้ผลิตไฟฟ้านั้นไม่สามารถที่จะปรับขึ้นราคาขายไฟฟ้าได้มาก เพราะราคาขายถูกภาครัฐกำกับดูแลไม่ให้ขึ้นราคาขายได้ตามต้องการ
เมื่อเป็นอย่างนี้ ทุกหน่วยไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าผลิตเพิ่ม ก็จะประสบปัญหาขาดทุน
ดังนั้นโรงไฟฟ้าที่อินเดียก็จะผลิตไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น
จึงทำให้สถานการณ์ ณ ตอนนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินในอินเดียหลายแห่ง มีเหลือถ่านหินที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าเพียง 3 ถึง 4 วัน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลอินเดียตั้งไว้ที่ 14 วัน
ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินในอินเดียหลายแห่งก็ได้ตัดสินใจหยุดผลิตไฟฟ้า หลายแห่งต้องลดกำลังการผลิตลง โดยปัจจุบัน โรงไฟฟ้าเหล่านั้นใช้กำลังการผลิตเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น

ยังไม่รวมเรื่องสภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น สถานการณ์ฝนตกหนัก ที่ได้ทำให้การขนส่งถ่านหินออกจากเหมืองหลายแห่งในอินเดีย เพื่อนำออกมาใช้นั้น ไม่สามารถทำได้เหมือนในช่วงเวลาปกติ
เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ จึงทำให้ประเทศอินเดีย ณ ตอนนี้กำลังเจอวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนัก
ซึ่งมันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น
แต่ยังกระทบต่อสังคมและการใช้ชีวิตของคนทั่วไป อย่างการรักษาผู้ป่วยจากโควิด 19 ในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมไปถึงอาจทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในอินเดียล่าช้าจากที่คาดการณ์เอาไว้
แม้ว่าปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียจะพยายามผลักดันให้โรงไฟฟ้าที่ปิดไปแล้วกลับมาผลิตไฟฟ้าใหม่
เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า วิกฤติขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในครั้งนี้จะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นหรือไม่
เพราะถ้ามันยังลากยาวไปเรื่อย ๆ
มันอาจคุกคามต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศอินเดีย
และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงเช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://ember-climate.org/commentary/2021/04/14/top-25-coal-power-countries-in-2020/
-https://www.bbc.com/news/business-58824804
-https://tradingeconomics.com/india/gdp-growth-annual
-https://tradingeconomics.com/commodity/coal
-https://www.worldstopexports.com/coal-imports-by-country/
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_coal_reserves
-https://india.mongabay.com/2020/09/india-proposes-overhaul-of-mining-sector-amid-concerns-over-legality-and-social-impact/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.