กรณีไหนบ้าง ที่บริษัทจะถูกถอด ออกจากตลาดหุ้นไทย

กรณีไหนบ้าง ที่บริษัทจะถูกถอด ออกจากตลาดหุ้นไทย

9 พ.ย. 2021
กรณีไหนบ้าง ที่บริษัทจะถูกถอด ออกจากตลาดหุ้นไทย /โดย ลงทุนแมน
หลายบริษัทเมื่อเติบโตถึงระดับหนึ่ง ก็จะต้องการเงินทุนมากขึ้น เพื่อมาขยายกิจการ หรือเพื่อต้องการให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ซึ่งหลายบริษัท ก็เลือกที่จะนำหุ้นของบริษัท
มาเสนอขายแก่คนทั่วไป หรือ Initial Public Offering (IPO)
โดยหลังจากกระบวนการ IPO นั้นเสร็จสิ้นลง
หุ้นของบริษัทจะถูกนำมาซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้วนั้น
หุ้นของบริษัท ก็สามารถถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ ได้เช่นกัน..
คำถามคือ มีกรณีไหนบ้าง ที่บริษัทจะถูกถอดออกจากตลาดหุ้นไทย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
การที่หุ้นของบริษัทใดก็ตาม ถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่ากระบวนการ “Delisting” นั้น
ในทางปฏิบัติ เกิดมาจาก 2 กรณี คือ
1. บริษัทจดทะเบียน “สมัครใจ” ที่จะออกจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยตัวของบริษัทเอง
2. บริษัทจดทะเบียน “ถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ออก” จากตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของการเป็นบริษัทจดทะเบียนได้
เรามาดูกันว่า แต่ละกรณี มีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง
กรณีที่ 1: บริษัทจดทะเบียนเลือกที่จะออกจากตลาดหลักทรัพย์เอง หรือ “Voluntary Delisting”
เมื่อบริษัทตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ก็จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น
- เปิดเผยมติคณะกรรมการว่าบริษัทจะออกจากตลาดหลักทรัพย์
- ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น
- ทำคำเสนอซื้อหุ้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่จะขาดสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์ หลังจากหุ้นของบริษัทถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์

คำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยคือ ทำไมบางบริษัทเลือกที่จะออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ก็มีประโยชน์หลายอย่าง
ประโยชน์ที่ว่านี้ ก็อย่างเช่น
- สามารถระดมทุนโดยการขอเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นได้
- มีภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
- การอยู่ในตลาดฯ ช่วยเสริมสร้างชื่อเสียง ให้บริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

แต่เรื่องนี้ ถ้ามองในมุมของบริษัทหรือผู้บริหาร
มันก็จะมีภาระหน้าที่หลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ ขึ้นมามากกว่าการเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์
ตัวอย่างเช่น
- ต้องรายงานผลประกอบการ และจัดทำงบการเงินภายในรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ
- ต้องแต่งตั้งกรรมการชุดต่าง ๆ พร้อมด้วยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการเหล่านั้น
- ต้องจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น การจัดประชุมผู้ถือหุ้น การประชุมนักวิเคราะห์
- ต้องเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศตามที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล

โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งในมุมของนักลงทุนนั้น ยิ่งบริษัทเปิดเผยละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ดีในการตัดสินใจลงทุน

แต่ในมุมของบริษัทแล้ว การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทมากเกินไป
ก็อาจเป็นเหมือนดาบสองคม ที่อาจทำให้คู่แข่งรู้ข้อมูลเชิงลึก ที่มีผลต่อการแข่งขันในธุรกิจได้เช่นกัน
รวมไปถึงนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะกดดันผู้บริหารให้สนใจแต่ผลประกอบการระยะสั้น
ในบางครั้งผู้บริหารต้องการคำนึงถึงความยั่งยืนของบริษัทในระยะยาว ซึ่งอาจจะมีมุมมองที่ต่างจากนักลงทุนที่ต้องการเห็นผลทันที
ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของหลายเหตุผล ที่ทำให้บางบริษัทเลือกออกจากตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง
ตัวอย่างบริษัท ที่เลือกออกจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธี Voluntary Delisting ก็อย่างเช่น
- บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL เจ้าของธุรกิจ B2S และออฟฟิศเมท
โดยปัจจุบัน COL ถูกรวมอยู่ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC

- บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ที่มีแผนที่จะออกจากตลาดหุ้น หลังจากที่กลุ่มเซ็นทรัลทำคำเสนอซื้อหุ้นเรียบร้อยแล้ว
ซึ่ง 2 กรณีนี้บริษัทที่ลิสต์อยู่ในตลาด มีการถือหุ้นไขว้กันกับอีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในตลาดด้วยกัน ทำให้น่าจะเป็นเหตุผลให้บริษัทเลือกที่จะออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะตัวธุรกิจมีความทับซ้อนกันอยู่

ทีนี้มาดูอีกกรณีกันบ้าง คือบริษัทจดทะเบียนถูกบังคับให้ออกจากตลาด
ซึ่งกรณีนี้มีชื่อเรียกว่า “Compulsory Delisting”

กรณีที่ว่านี้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้องเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน
- สินทรัพย์ที่ใช้ในการทำธุรกิจ กำลังลดลงอย่างมาก
- ฝ่าฝืนหรือละเลย ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- การให้ข้อมูลเท็จ ที่ส่งผลเสียหายต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้น
- มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
- มีการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัท ซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน และสภาพคล่องของบริษัท

ตัวอย่าง ที่เคยเกิดขึ้นในกรณีนี้ ก็อย่างเช่น
- บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ โดนตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งเพิกถอนในปี 2562 เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินตามกำหนด

- บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW ที่ทำธุรกิจฟิตเนสเซนเตอร์ โดนตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งเพิกถอนในปี 2557 เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินตามกำหนดเช่นกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็จะสรุปได้ว่า
การถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน มีทั้งกรณีที่บริษัทสมัครใจที่จะออกจากตลาดหลักทรัพย์เอง และถูกบังคับให้ออก
ซึ่งกรณีที่บริษัทสมัครใจที่จะออกมาเอง ก็อาจมีเหตุผลภายในบางอย่างที่ตัดสินใจ เช่น เพื่อความสะดวกในการบริหาร

และอีกกรณีคือ แม้ว่าบริษัทจะต้องการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป
แต่ด้วยความที่บริษัทกำลังมีปัญหา เช่น ปัญหาการเงิน การบริหารงานภายใน
สุดท้าย บริษัทเหล่านั้นก็ต้องถูกบังคับให้ออกจากตลาดหลักทรัพย์ไป
ซึ่งที่ต้องเป็นแบบนี้ ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่นักลงทุน
โดยเฉพาะคนที่ไปซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านั้น
โดยที่ไม่รู้ว่าบริษัทกำลังมีปัญหาบางอย่าง นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.setinvestnow.com/th/glossary/delisting
-แบบแสดงรายการข้อมูล ปี 2563, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
-https://www.investopedia.com/terms/d/delisting.asp
-https://www.set.or.th/th/regulations/simplified_regulations/possible_delist_p1.html
-https://www.set.or.th/th/regulations/simplified_regulations/voluntary_delist_p1.html
-https://www.set.or.th/th/company/companylist.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.