ว่าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงคนใหม่ กับภารกิจเปลี่ยนถ่ายพลังงานไฟฟ้าในยุค Disruption

ว่าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงคนใหม่ กับภารกิจเปลี่ยนถ่ายพลังงานไฟฟ้าในยุค Disruption

17 ธ.ค. 2021
<สัมภาษณ์พิเศษ>
ว่าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงคนใหม่ กับภารกิจเปลี่ยนถ่ายพลังงานไฟฟ้าในยุค Disruption
“ในอนาคตเราอาจต้อง ‘Disrupt’ ตัวเองก็เป็นไปได้”
คุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ว่าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA
ได้เปิดประเด็นสนทนากับลงทุนแมน ไว้อย่างน่าสนใจ เลยทีเดียว
พอได้ยินแบบนี้ ก็พอจะรู้ว่าต่อจากนี้ไป MEA จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง
ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่ก่อตั้งมา 63 ปี
แล้วทำไม MEA ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง
และอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงนี้ กำลังเกี่ยวข้องโดยตรงกับคนกรุงเทพฯ, นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ MEA
เรื่องราวทั้งหมด น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมน จะสรุปการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA
มีหน้าที่หลักคือ การส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนและธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ภายใต้ภารกิจสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
โดยในแต่ละปี MEA จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 50,000 ล้านหน่วยต่อปี
หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ
เหตุผลที่ในแต่ละปี MEA ต้องส่งกระแสไฟฟ้ามหาศาลให้แก่พื้นที่ดังกล่าว
ก็เพราะนี่คือพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่เต็มไปด้วยที่อยู่อาศัย, ศูนย์การค้า
และออฟฟิศสำนักงาน จนถึงการเป็นพื้นที่ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัย
สิ่งที่ตามมาก็คือ ไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯ ปริมณฑล เปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามความเจริญ
ยิ่งการระบาดของ COVID-19 ที่เป็นเสมือนการกระตุ้นให้คนเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้นกว่าเดิม
โจทย์เลยมาอยู่ที่ว่าเมื่อ MEA มีวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กร “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร”
แล้วเมื่อไลฟ์สไตล์จนถึงการใช้พลังงานของคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
MEA จะมีวิธีการรับมือเรื่องนี้อย่างไร ?
คุณวิลาศ เล่าให้ฟังว่าต่อจากนี้ไป บริการต่าง ๆ ของ MEA จะอยู่บนโลกดิจิทัล
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ MEA มีแผนที่จะนำทุกบริการไปอยู่ในแอปพลิเคชันที่ชื่อ MEA Smart Life
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันเราสามารถจ่ายค่าไฟฟ้า, แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้อง, ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้า, ขอใช้ไฟฟ้า
ผ่านแอปพลิเคชันชื่อ MEA Smart Life ได้ทันที โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานหรือจุดบริการให้เสียเวลาอีกต่อไป
อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ เวลานี้ MEA กำลังใช้เทคโนโลยี Smart Metro Grid
ระบบโครงข่ายจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะครบวงจร ซึ่งกำลังเกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้าของคนกรุงเทพฯ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่าย ๆ คือการติดตั้ง สมาร์ต มิเตอร์
ซึ่งเป็นระบบหนึ่งที่อยู่ในเทคโนโลยี Smart Metro Grid
คนไทยคุ้นเคยกับการใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบจานหมุนมายาวนาน
โดยแต่ละเดือนก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาจดบันทึกหน่วยค่าไฟฟ้า
แล้วคำนวณออกมาเป็นบิลให้เราต้องจ่าย
แต่หากเปลี่ยนมิเตอร์ จานหมุน มาใช้ สมาร์ต มิเตอร์ ที่อัปเกรดเทคโนโลยีอีกขั้น
ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ จะถูกส่งถึงเราผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที
ข้อดีก็คือ นอกจากเราจะตรวจสอบค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้แล้วนั้น
ก็ยังสามารถนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแต่ละเดือนมาวิเคราะห์
เพื่อนำมาปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง
โดยเริ่มต้นได้ทดลองติดตั้ง สมาร์ต มิเตอร์ จำนวน 31,539 ชุด
ในปี พ.ศ. 2565 จากนั้นจึงขยายการติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่
ส่วนสิ่งที่คนกรุงเทพฯ เฝ้ารอคำตอบมาอย่างยาวนานคือ การนำสายไฟฟ้าลงดิน
โดยมีเป้าหมายนำสายไฟฟ้าลงดินรวมเส้นทาง 215 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการเสร็จไป 48.6 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกประมาณ 150 กิโลเมตร
อุปสรรคเรื่องนี้มีสารพัดอย่างเลยทีเดียว เช่น คนงานทำงานได้เฉพาะเวลากลางคืน การประสานงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ต้องทำไปพร้อมกัน
หรืออย่างปีล่าสุด แคมป์คนงานต้องปิดเพราะการระบาดของ COVID-19
คุณวิลาศ บอกว่าในอนาคต สายไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ตามถนนสายหลัก และพื้นที่สำคัญจะลงสู่ใต้ดินหมด
เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเหมือนมหานครระดับโลก ที่เมื่อมองไปทางไหนก็สบายตา
ซึ่งวิธีไปสู่เป้าหมายนั้นคือ การบูรณาการงานก่อสร้างสายใต้ดินของสาธารณูปโภคต่าง ๆ
ต้องทำไปพร้อมกัน
ส่วนสิ่งที่เป็น เมกะเทรนด์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ
บนท้องถนนกรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยรถพลังงานไฟฟ้าหรือ EV เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
กลุ่มธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและธุรกิจอื่น ๆ ก็เริ่มหันมาทำสถานีชาร์จไฟ
จนถึงบริษัทและบ้านเรือนต่าง ๆ เริ่มหันมาใช้แผงโซลาร์รูฟผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองกันมากขึ้น
มองดูผิวเผินก็รู้ทันที ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกำลัง “Disrupt” ธุรกิจไฟฟ้าของ MEA
ซึ่งมันก็จะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง นั่นคือ
1. ทำธุรกิจในแบบเดิม ๆ ไม่ต้องสนใจการเปลี่ยนแปลง
2. ปรับเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่ เมกะเทรนด์ ที่จะเกิดขึ้น
โดยคุณวิลาศ เลือกคำตอบข้อ 2 คือ การปรับตัว
ที่จะทำให้ MEA เป็นมากกว่าองค์กรที่ทำหน้าที่จ่ายไฟฟ้าเหมือนอย่างในอดีต
รู้หรือไม่ว่า วันนี้ MEA ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนมากมาย เพื่อเริ่มติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อ MEA Smart Energy Solutions ที่ตัวเองถือหุ้น 100%
บริษัทลูกแห่งนี้ จัดทำธุรกิจด้าน Smart Energy เช่น บริการติดตั้งระบบจนถึงให้เช่าแผงโซลาร์รูฟผลิตไฟฟ้า
ให้อาคารสำนักงานและโครงการอสังหาฯ ต่าง ๆ
ซึ่งคุณวิลาศ ยอมรับว่า หากมองระยะยาวการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์
คุ้มค่ากว่า หากเทียบกับการจ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือน แต่ต้องประเมินพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมด้วย
การลงทุนในธุรกิจพลังงานจะค่อยเป็นค่อยไป
เพราะไม่แน่เหมือนกันว่า ในอนาคตก็อาจมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ดีกว่าระบบเดิม ก็เป็นได้
ซึ่งคุณวิลาศบอกว่า “ถ้าถึงวันนั้น MEA เองก็อาจต้อง Disrupt ตัวเองแบบชัดเจนขึ้นกว่าเดิม”
อย่างไรก็ตาม คุณวิลาศบอกว่า เป้าหมายทั้งหมดจะสำเร็จลงได้ก็ด้วย กลยุทธ์การบริหารองค์กร และความร่วมมือร่วมใจของพนักงานกว่า 7,600 คน ที่จะต้องมีวิธีทำงาน และมีแนวคิดสอดคล้องไป ในทิศทางเดียวกัน
นั่นคือ MEA ต้องเข้าใกล้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของคนเมือง ที่กำลังเปลี่ยนไป
ซึ่งเรื่องนี้ก็คือ ความท้าทายมากที่สุด ของว่าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงคนใหม่ นั่นเอง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.