สรุปกลยุทธ์การปั้นแบรนด์ไทย ให้โตแรงในสหรัฐฯ ฉบับ Dang Foods

สรุปกลยุทธ์การปั้นแบรนด์ไทย ให้โตแรงในสหรัฐฯ ฉบับ Dang Foods

11 ธ.ค. 2021
สรุปกลยุทธ์การปั้นแบรนด์ไทย ให้โตแรงในสหรัฐฯ ฉบับ Dang Foods | THE BRIEFCASE
การปั้นแบรนด์ให้เติบโตในต่างประเทศ คงเป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันของคนที่ทำธุรกิจหลาย ๆ คน
แต่การจะเข้าไปเจาะตลาดในต่างประเทศเหล่านั้นได้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเจ้าตลาดที่มีประสบการณ์ และเข้าใจความต้องการของคนในประเทศนั้น ๆ ได้มากกว่า
ในวันนี้ THE BRIEFCASE จะมาสรุปกลยุทธ์การปั้นแบรนด์โดยคนไทย ให้โตแรงในสหรัฐอเมริกา
โดยแบรนด์ของคนไทย ที่ชื่อ Dang Foods ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ขนมที่เติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้
Dang Foods เป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยว ที่ก่อตั้งในปี 2012
โดยคุณวินเซนต์ กิติรัตน์ตระการ และคุณแอนดรูว์ กิติรัตน์ตระการ ซึ่งเป็นสองพี่น้องชาวไทย ที่เติบโตในนครนิวยอร์กและกรุงเทพมหานคร
ภายใน 5 ปี Dang Foods กลายเป็นแบรนด์ขนมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
มีการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกกว่า 10,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา
โดยในปี 2016 Dang Foods สามารถทำรายได้ไปมากกว่า 300 ล้านบาท
และในปี 2019 แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการรายงานว่าทางบริษัทมีรายได้เติบโตขึ้น 54% เมื่อเทียบกับปี 2018
Dang Foods ทำอย่างไร ให้เติบโตในตลาดต่างประเทศได้ ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
1. แม้เริ่มต้นจากความบังเอิญ แต่ก็เรียนรู้ที่จะหาช่องว่างในตลาด
ในปี 2011 คุณวินเซนต์พบว่า อาหารไทยที่มีขายในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีตัวเลือกที่หลากหลาย
ส่วนใหญ่มักจะเป็น ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง และชาไทย
เรื่องนี้จึงจุดประกายให้คุณวินเซนต์อยากจะเปิดร้านอาหารไทย ในเมืองซานฟรานซิสโก
โดยคุณแม่แดง หรือคุณแม่ของคุณวินเซนต์ ก็ได้ให้สูตรทำเมี่ยงคำกับเขามาเพื่อใส่ลงไปในเมนู
แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกไปซื้อวัตถุดิบ เขากลับพบว่าร้านขายของชำในสหรัฐอเมริกา ไม่มีมะพร้าวคั่วอบกรอบที่เป็นส่วนประกอบของเมี่ยงคำขาย
เขาจึงลองฝานเนื้อมะพร้าวสดและนำไปอบด้วยตนเอง และปรากฏว่า มะพร้าวนั้นมีกลิ่นหอมหวานและรสชาติกรุบกรอบ และดึงดูดความสนใจเพื่อนของเขาได้มากกว่า
คุณวินเซนต์จึงได้ไอเดียในการทำธุรกิจขนมขบเคี้ยวแทน โดยนำเนื้อมะพร้าวมาหั่นเป็นแว่นแล้วอบให้สุก เพื่อเป็นอาหารว่างคล้ายมันฝรั่งทอด และเกิดเป็นแบรนด์ Dang Foods ที่มาจากชื่อของคุณแม่แดง ผู้เป็นแรงบันดาลใจของแบรนด์นั่นเอง
2. หาจุดเด่นและมุ่งผลิตสินค้าที่ดีให้ลูกค้า
จุดเด่นของ Dang Foods ก็คือ การเน้นเรื่องของสุขภาพ โดยใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% ปราศจากการตัดต่อพันธุกรรม ปลอดกลูเทน และไม่ใส่สารกันบูด
และอีกปัจจัยการเติบโตหลัก ๆ ก็มาจากผลิตภัณฑ์อย่าง “คีโตบาร์” โปรตีนบาร์สำหรับชาวคีโต ที่มียอดขายสูงสุดในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จับตลาดคนรักสุขภาพ อย่าง Whole Foods Market ในปี 2019 ตามรายงานของ FoodNavigator-USA
3. เอาชนะความไม่คุ้นเคยของต่างชาติ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์มากที่สุด
เส้นทางของ Dang Foods ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมะพร้าวอบกรอบผลิตภัณฑ์แรกของพวกเขา เป็นสินค้าที่คนอเมริกันไม่คุ้นเคย เพราะพวกเขาไม่ได้รับประทานมะพร้าวอบกรอบเป็นของว่าง
อีกทั้งมะพร้าวเป็นวัตถุดิบสำหรับทำขนม หรือเป็นเพียงของหวานที่เข้ากับช็อกโกแลตแท่ง ซึ่งมีอยู่แล้วในตลาด เช่น แบรนด์ Mounds และ Almond Joy
ดังนั้นจึงต้องปรับเรื่องรสชาติของขนม ให้มีส่วนผสมของอาหารตะวันออกและตะวันตกไว้อย่างลงตัว โดยการรวมขนมที่ชาวอเมริกันคุ้นเคยในหมวดหมู่ มันฝรั่งทอดและบาร์ธัญพืช เข้ากับส่วนผสมและรสชาติจากเอเชีย เช่น มะพร้าว, ข้าวเหนียว, งา, ซอสสะเต๊ะถั่วลิสง และ Matcha
4. ใช้ความพยายามในการสื่อสาร และสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภค
นอกจากปรับปรุงเรื่องของรสชาติสินค้าแล้ว การที่แบรนด์จะขายได้ก็ต้องมีการสื่อสารคุณค่าออกไปให้มากพอว่า มะพร้าวอบกรอบเป็น “อาหารว่างเพื่อสุขภาพ” ที่สามารถนำไปใส่ในโยเกิร์ต ทานคู่กับสลัด หรือจะใช้เป็นท็อปปิงไอศกรีมก็ยังได้
โดย Dang Foods ก็ได้ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปาก, การแจกสินค้าตัวอย่าง, การสาธิตในร้านค้า และการทำแคมเปญทางโซเชียลมีเดีย
5. ไม่หยุดพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ๆ
เมื่อแบรนด์สำเร็จได้ถึงจุดหนึ่ง ก็เริ่มมีการวางกลยุทธ์เพื่อให้โตกว่าคู่แข่ง
Dang Foods จึงไม่หยุดพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ๆ และได้ปล่อยสินค้าหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
เช่น ข้าวเหนียวอบกรอบ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากข้าวแต๋นน้ำแตงโม และคีโตบาร์รสชาติต่าง ๆ เพื่อสร้างความหลากหลาย และเพิ่มโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงจะเห็นแล้วว่า การมองเห็นช่องว่างในตลาดคือ จุดเริ่มต้นของโอกาส แต่การมี Empathy หรือเข้าใจพฤติกรรมเดิมของกลุ่มลูกค้า พยายามปรับและพัฒนาสูตร พร้อมกับสื่อสารคุณค่าของสินค้าออกมาให้ชัดเจน คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มเข้าถึงและเข้าใจแบรนด์ได้
และเมื่อตัวตนของแบรนด์เราชัดมากพอ ลูกค้าก็จะจดจำและบอกต่อกันปากต่อปากเหมือนกับที่ Dang Foods ทำได้ นั่นเอง..
References
-บทความจากเพจลงทุนเกิร์ล
-https://dangfoods.com/
-https://www.entrepreneur.com/article/330117
-https://www.fooddive.com/news/about-dang-time-why-a-snack-brand-is-playing-up-its-asian-american-heritag/573503/
-https://www.bakeryandsnacks.com/Article/2017/05/30/Dang-Foods-aims-at-40-growth-through-the-mass-channel
-https://www.radiche.com/food-blog/the-chip-tale-dang-foods-vincent-kitirattragarn
-https://www.pewresearch.org/fact-tank/2021/04/29/key-facts-about-asian-americans/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.