เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อใช้ P/BV วิเคราะห์การลงทุน

เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อใช้ P/BV วิเคราะห์การลงทุน

26 ธ.ค. 2021
เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อใช้ P/BV วิเคราะห์การลงทุน /โดย ลงทุนแมน
“จะดีแค่ไหน ถ้าเราซื้อหุ้นถูกกว่าเจ้าของ”
เป็นประโยคที่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยน่าจะเคยได้ยินกัน ในโลกของการลงทุน
และเครื่องมือที่บอกเราว่า ตอนนี้เรากำลังซื้อหุ้นถูกกว่าเจ้าของหรือไม่
นั่นคือ P/BV Ratio หรือ อัตราส่วนราคาตลาดของหุ้น ต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price-to-book value ratio)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรานำค่า P/BV มาใช้
เราจำเป็นต้องรู้ข้อจำกัดบางประการที่ไม่ควรมองข้าม
แล้วเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อใช้ P/BV วิเคราะห์การลงทุน มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
P/BV Ratio หรือ อัตราส่วนราคาตลาดของหุ้น ต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น
ความหมายของ P/BV Ratio คือ อัตราส่วนที่บอกให้เรารู้ว่า ราคาหุ้น ณ ขณะนั้น สูงเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชี
- P คือ ราคาตลาดของหุ้น
- BV คือ มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น
โดยมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นนั้นคำนวณจาก
สินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม แล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
ซึ่งหนึ่งเหตุผลสำคัญที่นักลงทุนบางส่วนหันมาใช้ P/BV Ratio ในการวิเคราะห์ แทนที่จะใช้ P/E Ratio
นั่นก็เพราะว่า สัดส่วนที่นำมาคำนวณ ซึ่งในที่นี้คือมูลค่าทางบัญชีนั้น มีความผันผวนน้อยกว่ากำไรซึ่งใช้คำนวณ P/E Ratio
และในกรณีที่บริษัทที่เราจะดู รายงานผลขาดทุน พอไปคำนวณค่า P/E ก็ออกมาติดลบ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่ได้นั้นไม่มีความหมายเมื่อนำไปใช้วิเคราะห์หุ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ P/BV Ratio จึงถูกนำมาใช้แทนในหลายกรณี
ลองมาดูตัวอย่างการตีความหมายของ P/BV Ratio
สมมติว่า บริษัท A มีหุ้นอยู่ 100 ล้านหุ้น มีสินทรัพย์รวม 1,000 ล้านบาท หนี้สินรวม 500 ล้านบาท หมายความว่า มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 5 บาท และถ้าราคาหุ้น A อยู่ที่ 5 บาท P/BV Ratio ก็จะเท่ากับ 1 เท่า
กรณีนี้ การที่หุ้นที่มี P/BV Ratio เท่ากับ 1 เท่า หมายความว่า เรากำลังซื้อหุ้นราคาเดียวกับมูลค่าทางบัญชี
แต่ในอนาคตถ้า P/BV Ratio เปลี่ยนไปจนน้อยกว่า 1 เท่า เรากำลังซื้อหุ้นถูกกว่ามูลค่าทางบัญชี หรือถ้ามากกว่า 1 เท่า เรากำลังซื้อหุ้นแพงกว่ามูลค่าทางบัญชีนั่นเอง
โดยหลักการทั่วไปสำหรับการนำ P/BV Ratio มาใช้ก็คือ
- ถ้า P/BV Ratio ยิ่งสูง หมายถึงหุ้นนั้นยิ่งแพง
- ถ้า P/BV Ratio ยิ่งต่ำ หมายถึงหุ้นนั้นยิ่งถูก
แม้ว่าตามทฤษฎีนั้น นักลงทุนควรมองหาหุ้นที่มี P/BV Ratio ต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนในหุ้นที่มี P/BV Ratio ต่ำ จะเป็นการลงทุนที่ดีเสมอไป และในทางกลับกัน การลงทุนในหุ้นที่มี P/BV Ratio สูง ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นการลงทุนที่แย่เสมอไปเช่นกัน
ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่นำ P/BV Ratio มาใช้ในการวิเคราะห์หุ้น เราต้องคิดอยู่เสมอว่า
- ไม่ควรมองแต่หุ้นที่มี P/BV Ratio ต่ำเท่านั้น
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า หุ้นบางตัวที่ P/BV Ratio ต่ำ อาจเป็นผลมาจากการที่หุ้นตัวนั้น อยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้า อิ่มตัวลง หรือแม้แต่กำลังถดถอย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ตลาดหุ้นหรือนักลงทุนจึงให้คุณค่าของหุ้นตัวนั้น ๆ น้อย และการที่เราเข้าไปซื้อหุ้นเหล่านั้นก็อาจทำให้เราเจ็บตัวหนักได้เช่นกัน
- หุ้นที่มีค่า P/BV Ratio สูง ๆ เพราะมีมูลค่าที่มองไม่เห็นอยู่มาก
จริง ๆ แล้วในทางบัญชี ทรัพย์สินบางอย่างไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ ทำให้ตัวเลขในงบการเงินอาจไม่ได้สะท้อนศักยภาพบางอย่างที่อาจซ่อนอยู่
เราลองนึกถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น ความจงรักภักดีของลูกค้าที่มีต่อสินค้าของบริษัท ความรู้ ความสามารถของผู้บริหารและพนักงาน
สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเลขทางบัญชี ทั้ง ๆ ก็เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าไม่แพ้สินทรัพย์อื่น ๆ ที่ตีมูลค่าได้ เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ต่าง ๆ
ซึ่งหมายความว่า จริง ๆ แล้วหุ้นบางตัวที่มี P/BV Ratio สูง ๆ ก็เพราะตลาดมองเห็น ให้มูลค่ามาก กับสิ่งที่ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่ประเมินได้
- มูลค่าตามบัญชีอาจไม่สะท้อน มูลค่าที่แท้จริง
บริษัทที่มีทรัพย์สินเยอะ ๆ และหนี้สินน้อย จะมีมูลค่าตามบัญชีสูง และทำให้หุ้นของบริษัทมีค่า P/BV Ratio ต่ำ มักเป็นที่สนใจของนักลงทุน
แต่สิ่งที่นักลงทุนควรตั้งคำถามต่อก็คือ ทรัพย์สินที่ว่านั้นคืออะไร ?
ถ้าไม่ใช่เงินสด เช่น สินค้าคงเหลือ อาคาร โรงงาน อุปกรณ์ ก็ต้องมาดูว่า มูลค่าตามบัญชีนั้นสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์นั้นในตลาดหรือไม่
แม้แต่ที่ดินซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนหลายคนมองว่า ราคาในปัจจุบันมักสูงกว่าราคาในอดีต แต่เราก็ต้องดูว่า ที่ดินที่บริษัทมีนั้นสามารถขายเปลี่ยนมือได้ยากแค่ไหนด้วย หรือถ้าขายยากต้องมีส่วนลดไหม
ดังนั้น P/BV Ratio ที่เราเห็นต่ำ ๆ ก็อาจไม่ได้ต่ำอย่างที่เราคิดก็ได้
- ราคาหุ้น ไม่ได้สัมพันธ์กับ มูลค่าตามบัญชี
การวิเคราะห์หรือค้นหาหุ้นด้วยการใช้ P/BV Ratio นั้นเหมาะกับการนำมาเป็นตัวช่วยในการประเมินเรื่องความถูกแพงของหุ้นเพียงปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ควรนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหุ้นหรือไม่
เพราะในความเป็นจริงนั้น การที่ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงนั้น จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ กระแสเงินสดของธุรกิจ ความเชื่อมั่นในบริษัท ซึ่งมูลค่าทางบัญชีอาจเป็นเพียงแค่ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้ไอเดียเกี่ยวกับการใช้ P/BV Ratio มาวิเคราะห์หุ้นสักตัวที่เรากำลังสนใจ
แน่นอนว่า วิธีการวิเคราะห์หุ้นด้วยการใช้ P/BV Ratio นั้นเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่งในอีกหลาย ๆ วิธี ซึ่งการที่เราใช้แต่วิธีนี้วิธีเดียว ย่อมไม่เพียงพอ
ดังนั้น ทางที่ดีเราควรที่จะต้องใช้เครื่องมือการวิเคราะห์อื่น ๆ
รวมไปถึงการติดตามผลประกอบการ แนวโน้มการเติบโต แผนธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทที่เรากำลังติดตามอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เรามีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจลงทุนนั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.investopedia.com/terms/p/price-to-bookratio.asp
-https://qmarks.wordpress.com/2010/05/01/price-to-book/
-https://www.set.or.th/set/financialplanning/knowledgedetail.do?contentId=3730&type=article
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.