Instacart แพลตฟอร์มสั่งซื้อของชำ ล้านล้าน ที่ก่อตั้งโดยอดีตพนักงาน Amazon

Instacart แพลตฟอร์มสั่งซื้อของชำ ล้านล้าน ที่ก่อตั้งโดยอดีตพนักงาน Amazon

28 ธ.ค. 2021
พูดถึงชื่อ “Instacart” คนไทยอาจไม่คุ้นชื่อสักเท่าไร
แต่รู้ไหมว่า สตาร์ตอัปรายนี้ถูกประเมินมูลค่าไว้สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท
ซึ่งถือเป็นสตาร์ตอัปที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา รองจาก SpaceX และ Stripe เพียงเท่านั้น
โดยหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Instacart คือ คุณ Apoorva Mehta หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย-แคนาดา
เขาเคยทำงานอยู่ที่อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon มาก่อน แต่ตัดสินใจลาออก มาสร้างสตาร์ตอัปของตัวเอง ซึ่งปรากฏว่าล้มเหลวไปกว่า 20 ครั้ง..
จนวันหนึ่ง เขาพบปัญหาในชีวิตประจำวันที่ต้องการทำให้สะดวกสบายขึ้น
นั่นคือ “การซื้อของชำ” จากซูเปอร์มาร์เก็ต
แล้วแนวคิดดังกล่าว ถูกพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าล้านล้าน ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Instacart เป็นแพลตฟอร์มบริการสั่งซื้อของชำ สัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 โดยคุณ Apoorva Mehta, คุณ Max Mullen และ คุณ Brandon Leonardo
เจ้าของไอเดียธุรกิจนี้ คือ คุณ Apoorva Mehta ซึ่งเป็นชาวอินเดีย ที่เติบโตในประเทศแคนาดา และเคยทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง BlackBerry, Qualcomm และ Amazon
สมัยที่อยู่กับ Amazon เขามีหน้าที่ดูแลระบบบริหารจัดการคลังสินค้า แต่ต่อมาก็เริ่มเบื่องาน และต้องการหาความท้าทายใหม่ ๆ จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัท เพื่อไปตั้งกิจการสตาร์ตอัป
หลังจากนั้น ในช่วงปี 2010-2012 เขาได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมทั้งหมดกว่า 20 โปรเจกต์
เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับอาชีพทนายความ, เครือข่ายการลงโฆษณาสำหรับบริษัทเกม, แพลตฟอร์มรวมดีลร้านอาหาร แต่ทว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ไหนประสบความสำเร็จเลย
คุณ Mehta จึงกลับมาทบทวนถึงสาเหตุของความล้มเหลว และพบว่า ที่ผ่านมาได้พยายามหาโอกาสทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค แต่ความจริงแล้ว เขาไม่ได้หลงใหลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นเท่าไรนัก
คราวนี้ เขาลองมองในมุมของตัวเองบ้าง จนเจอเรื่องที่สนใจอยากแก้ปัญหาจริง ๆ
โดยปกติ เขาชอบทำอาหาร แต่เนื่องจากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทำให้การเดินทางไปซื้อของชำจากซูเปอร์มาร์เก็ตค่อนข้างลำบากและเสียเวลาพอสมควร
จึงเกิดไอเดียทำธุรกิจ แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับสั่งซื้อและบริการส่งของชำ
เลยชักชวนเพื่อนอีก 2 คน คือ คุณ Mullen และ คุณ Leonardo มาช่วยกันเขียนโคด สร้างแอปพลิเคชันชื่อว่า “Instacart” ขึ้นมา
โดย Instacart จะรวบรวมรายการของชำจากซูเปอร์มาร์เก็ต มาไว้บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อทางออนไลน์ และมีไรเดอร์ ซึ่งบริษัทเรียกว่า “Personal Shoppers” คอยรับหน้าที่ไปซื้อของ และบริการดิลิเวอรีถึงบ้าน
ต่อมา พวกเขาสนใจนำ Instacart เข้าร่วมโครงการของ Y Combinator สถาบันบ่มเพาะสตาร์ตอัปชื่อดัง เพื่อหาเงินระดมทุน แต่ดันพลาดสมัครไม่ทันกำหนดการ
อย่างไรก็ตาม คุณ Mehta ไม่ยอมแพ้ และติดต่อคณะกรรมการให้ลองใช้งาน Instacart ซึ่งแพลตฟอร์มก็โดนทดสอบทันที ด้วยออร์เดอร์น้ำโซดา 200 ขวดใหญ่ ทำให้ไรเดอร์แจ้งว่ายานพาหนะที่ใช้ ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ทั้งหมด
คุณ Mehta จึงเรียกรถ Uber ไปช่วยขนสินค้าด้วยตนเอง จนคณะกรรมการเกิดความประทับใจ และยอมรับ Instacart เข้าร่วมโครงการในที่สุด
พอได้เงินทุนสนับสนุน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านสตาร์ตอัปให้คำปรึกษา Instacart จึงเริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจ เพื่อสร้างฐานตลาดให้แข็งแกร่ง
หัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีกของชำทางออนไลน์ คงหนีไม่พ้นความรวดเร็วในการจัดส่ง ซึ่ง Instacart มีการเสนอบริการดิลิเวอรีภายใน 1 ชั่วโมง หรือตามเวลาที่กำหนดล่วงหน้า
โดยกลยุทธ์ที่บริษัทใช้เพื่อให้ดำเนินการแบบนั้นได้ คือ การเจรจาเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ให้ครอบคลุมในหลากหลายพื้นที่
ช่วงแรก Instacart เป็นพันธมิตรกับ Whole Foods Market ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และได้รับสิทธิ์ให้เป็นรายเดียวที่สามารถวางขายสินค้าของ Whole Foods Market บนแพลตฟอร์มได้
แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็ยุติลง เมื่อ Amazon เข้าซื้อกิจการของ Whole Foods Market ในปี 2017
ซึ่งส่งผลกระทบพอสมควร เพราะคำสั่งซื้อจาก Whole Foods Market คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของออร์เดอร์ทั้งหมดบน Instacart ในขณะนั้น
แต่ Instacart ก็แก้เกมด้วยการหันมาขยายความร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่น ๆ แทน
อีกทั้งผู้ประกอบการ ก็เกรงกลัวว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาด จากดีลที่ Amazon ซื้อ Whole Foods Market จึงสนใจทำธุรกิจกับ Instacart กันมากขึ้น
โดยล่าสุด Instacart มีเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 40,000 แห่ง จากผู้ประกอบการกว่า 600 ราย ซึ่งครอบคลุม 5,500 เมือง ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
แล้วปัจจุบัน Instacart เติบโตมากแค่ไหน ?
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด 19 ได้ทำให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อของชำทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องไปเจอความแออัดตามซูเปอร์มาร์เก็ต
ซึ่งจากการที่ Instacart มีบริการในเกือบทุกพื้นที่ และมีสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งให้เลือกซื้อ ก็ทำให้แพลตฟอร์มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ณ สิ้นปี 2020 ฐานผู้ใช้งานของ Instacart อยู่ที่ 9.6 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 5.5 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2019
และมีมูลค่ายอดสั่งซื้อสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท จนต้องรีบเพิ่มจำนวนไรเดอร์ จากเดิมที่มี 130,000 ราย เป็น 500,000 ราย
ซึ่งส่งผลให้ Instacart กลายเป็นผู้นำของตลาดดิลิเวอรีของชำในประเทศสหรัฐอเมริกา ครองส่วนแบ่งตลาดราว 66% ขณะที่ Amazon มีส่วนแบ่งในตลาดสินค้าประเภทนี้ราว 22%
ทั้งนี้ Instacart มีโมเดลการสร้างรายได้จากหลายช่องทาง เช่น
- ส่วนแบ่งมูลค่าขายสินค้า ตามที่ตกลงกับซูเปอร์มาร์เก็ต
- ค่าบริการขนส่ง เริ่มต้นที่ประมาณ 130 บาทต่อออร์เดอร์
- ค่าสมัครสมาชิกราว 3,300 บาทต่อปี ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ เช่น ฟรีค่าส่ง เมื่อสั่งซื้อเกิน 1,200 บาท
- ค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม
ซึ่งปริมาณการซื้อสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้ผลประกอบการของบริษัท เติบโตกว่าเท่าตัว
ปี 2018 รายได้ 18,000 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 25,000 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 50,000 ล้านบาท
แม้ก่อนหน้านี้ บริษัทยังขาดทุนต่อเนื่อง เพราะมีการออกโปรโมชันเพื่อจูงใจทั้งผู้บริโภคและไรเดอร์ แต่ก็มีรายงานว่า Instacart เริ่มทำกำไรได้แล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 เป็นต้นมา
และด้วยแนวโน้มธุรกิจที่ไปได้สวย บริษัทจึงเริ่มขยายไปสู่การขายสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ นอกเหนือจากของชำ ซึ่งถือเป็นการก้าวขึ้นไปแข่งขันในตลาดดิลิเวอรีที่ใหญ่และท้าทายกว่าเดิม
จากเรื่องราวนี้เราจะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของ Instacart ส่วนสำคัญมาจาก การไม่ยอมแพ้แม้ต้องล้มหรือเจออุปสรรคอันใหญ่หลวง
หากทำอะไรพลาดมา 20 ครั้ง เชื่อว่าหลายคนอาจท้อใจหรือล้มเลิกได้
แต่คุณ Mehta ใช้มันเป็นบทเรียนเพื่อหาโอกาสครั้งใหม่ จนเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง
หรือแม้กระทั่ง ตอนที่ถูก Amazon แย่งชิงพันธมิตรสำคัญอย่าง Whole Foods Market ไป
บริษัทก็ไม่ท้อถอย และหันไปสร้างเครือข่ายกับซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่น ๆ แทน
ซึ่งนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Instacart เติบโตอย่างต่อเนื่อง และระดมทุนสำเร็จมาแล้วถึง 18 ครั้ง
โดยในรอบล่าสุด บริษัทถูกประเมินมูลค่าไว้อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท ถือเป็นสตาร์ตอัประดับ “เดเคคอร์น” หรือกิจการที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 330,000 ล้านบาท
ส่งผลให้คุณ Apoorva Mehta ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 35 ปี และถือหุ้น Instacart อยู่ประมาณ 10%
จากที่เคยล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า
ได้กลายเป็นมหาเศรษฐี ที่มีทรัพย์สินกว่า 1.3 แสนล้านบาทแล้ว นั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.