กรณีศึกษา ปั๊ม Susco เคยเกี่ยวอะไรกับ Mobil และ Petronas

กรณีศึกษา ปั๊ม Susco เคยเกี่ยวอะไรกับ Mobil และ Petronas

18 ม.ค. 2022
กรณีศึกษา ปั๊ม Susco เคยเกี่ยวอะไรกับ Mobil และ Petronas /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า สถานีบริการน้ำมันแบรนด์คนไทยมีอะไรบ้าง ?
หลายคนคงนึกถึง PTT Station, PT หรือ บางจาก
แต่รู้ไหมว่า ยังมีอีกแบรนด์คนไทย ที่อยู่มากว่า 4 ทศวรรษแล้ว นั่นคือ “Susco”
ที่น่าสนใจคือ Susco ยังเคย มีความเกี่ยวข้องกับ Mobil และ Petronas
บริษัทน้ำมันข้ามชาติระดับโลก อีกด้วย
เส้นทางที่ผ่านมาของ Susco เป็นอย่างไร
แล้วเคยเกี่ยวอะไรกับ Mobil และ Petronas ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Susco ก่อตั้งขึ้นในปี 2520 ซึ่งก่อนหน้านั้น บริษัทมีชื่อเดิมว่า สยามสหบริการ
เพื่อทำธุรกิจบริการ การขนส่งน้ำมันทางน้ำ โดยนำน้ำมันเข้ามาจากสิงคโปร์ แล้วมาขายให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่ง ณ ตอนนั้น คือ ESSO, Shell และ Caltex
หลังดำเนินธุรกิจมาสักระยะ ผู้บริหารในตอนนั้นก็มองว่า
ทำไมบริษัทถึงไม่ขายน้ำมันโดยตรงกับผู้บริโภคเองเสียเลย แทนการที่บริษัทไปขนส่งน้ำมันให้แก่บริษัทน้ำมันต่างชาติแล้วมาขายให้คนไทยอีกที
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ในเวลาต่อมา บริษัทก็เริ่มแยกธุรกิจขนส่งน้ำมันทางเรือ ออกไปขายให้กับบริษัทร่วม
อย่างไรก็ตาม แม้จะตัดสินใจแล้วว่าจะเริ่มทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน แต่บริษัทก็ยังไม่แน่ใจว่า การปั้นแบรนด์ขึ้นมาด้วยตัวเอง จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
ทำให้บริษัทจึงเข้าไปคุยกับ “Mobil” บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน เพื่อเอาแบรนด์ Mobil มาใช้
หรือพูดง่าย ๆ คือ เหมือน Susco ไปซื้อแฟรนไชส์ของ Mobil มาทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ในประเทศไทยนั่นเอง
ในตอนนั้น Mobil บอกว่า กำลังสนใจจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ในประเทศไทยอยู่พอดี
จึงเกิดการตกลงกันว่า จะให้ Mobil บริษัทแม่นั้น ขยายสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ส่วน Susco จะใช้แบรนด์ Mobil ไปขยายสาขาตามต่างจังหวัดแทน โดยเริ่มเปิดสถานีบริการน้ำมันที่ภาคใต้ ก่อนที่จะกระจายไปเกือบทั่วทุกภาคในเวลาต่อมา
ต่อมาในปี 2542 บริษัท Mobil ได้ควบรวมกับ Exxon จนกลายเป็น “ExxonMobil”
ซึ่งหลังจากนั้น ทาง ExxonMobil มีนโยบายจะให้คนที่ใช้แบรนด์สถานีบริการน้ำมันของบริษัท ต้องเลือกใช้แบรนด์ ESSO หรือ Mobil ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ไหน เข้ามาทำธุรกิจก่อนในประเทศนั้น ๆ
สำหรับประเทศไทย ESSO เข้ามาทำธุรกิจก่อน ทำให้ ExxonMobil มีนโยบายจะเปลี่ยนชื่อสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งในประเทศไทยเป็นชื่อ ESSO
และแน่นอนว่า ทาง ESSO ก็มาถามว่า ทางผู้บริหารของ Susco สนใจจะเปลี่ยนจาก Mobil เป็น ESSO หรือไม่
ในตอนนั้น ผู้บริหารของ Susco ก็มานั่งคุยกัน และตัดสินใจเลือกที่จะทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันด้วยการใช้แบรนด์เป็นของตนเอง
ส่วนหนึ่งเกิดจากความตั้งใจแต่เดิมที่ต้องการเป็นปั๊มน้ำมันของคนไทย
ขณะที่อีกส่วน เกิดจากการที่บริษัทนั้นมี Know-how ในการทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันให้ Mobil มาแล้ว
จึงทำให้บริษัทตัดสินใจ เลิกใช้ชื่อ Mobil และเริ่มใช้ชื่อ “Susco” ในเวลาต่อมา
และนี่คือ จุดเริ่มต้นที่ว่าทำไม Susco จึงเป็นสถานีบริการน้ำมันที่เริ่มต้นจากต่างจังหวัด แทนที่จะเป็นในเมืองหลวงหรือปริมณฑล นั่นเอง
จุดเปลี่ยนอีกครั้งของ Susco เกิดขึ้นในปี 2555
เมื่อบริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นของ ปิโตรนาส รีเทล ซึ่งทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทย และได้ทำการเปลี่ยนชื่อจาก Petronas ที่มีอยู่ มาเป็น Susco แทน
ณ สิ้นปี 2563 จำนวนสถานีบริการน้ำมันของประเทศไทย มีทั้งหมด 29,271 แห่ง
โดยผู้นำในธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน 3 ราย ในประเทศ คือ
1. ปตท. จำนวนสถานีบริการ 2,225 แห่ง
2. พีที จำนวนสถานีบริการ 2,094 แห่ง
3. บางจาก จำนวนสถานีบริการ 1,233 แห่ง
โดยทั้ง 3 รายนั้น มีส่วนแบ่งตลาด ในแง่ของจำนวนสถานีบริการ รวมกันประมาณ 19% ของจำนวนทั้งหมดในประเทศ
สำหรับ Susco นั้น มีสถานีบริการน้ำมันจำนวน 241 แห่ง
หรือคิดเป็น 0.82% ของจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดของประเทศ
โดยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 29% ขณะที่ 71% อยู่ในต่างจังหวัด
รายได้และกำไรของ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน)
ปี 2562 รายได้ 28,144 ล้านบาท กำไร 388 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 16,778 ล้านบาท กำไร 218 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2564 รายได้ 14,124 ล้านบาท กำไร 215 ล้านบาท
ในมุมมองของผู้บริหารของบริษัทเองนั้น
มองว่า Susco เป็นผู้ค้าน้ำมันขนาดกลาง อาจมีข้อเสียเปรียบผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในแง่ของจำนวนสาขาบริการ
แต่อีกมุมหนึ่ง ก็มองเห็นช่องว่าง ในการขยายไปยังชุมชนทั้งขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้เล่นรายใหญ่ไม่ต้องการเข้าถึง
ปัจจุบัน กลยุทธ์ของ Susco คือ มุ่งเน้นขยายสาขาในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลัก ๆ มากขึ้น ในขณะที่ต่างจังหวัดจะเน้นรูปแบบการหาพันธมิตรเพื่อมาลงทุนร่วมกันเป็นหลัก
นอกจากนั้นก็มีการเพิ่มรายได้จาก Non-oil
ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ศูนย์ให้บริการดูแลและซ่อมรถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารจานด่วน ร้านบริการขนส่งพัสดุ เพื่อลดความผันผวนจากรายได้ที่เกิดจาก ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน
สำหรับการลงทุนในสถานีบริการน้ำมัน Susco นั้น
มีทั้งในรูปแบบที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด หรือบางส่วน และรูปแบบที่ให้ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันลงทุนทั้งหมด
โดยปัจจุบัน ประมาณ 83% เป็นรูปแบบที่บริษัทลงทุนและบริหารเองทั้งหมด
และนี่คือเรื่องราวของ Susco
สถานีบริการน้ำมันแบรนด์คนไทย ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้ว กว่า 4 ทศวรรษ..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
- แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน)
- https://www.susco.co.th/history.asp
- https://www.set.or.th
- แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
- https://www.youtube.com/watch?v=JBMv8CMxqaY
- https://www.youtube.com/watch?v=XlL0UK5PRXw
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.