สรุปหุ้น IPO CPT

สรุปหุ้น IPO CPT

12 ธ.ค. 2017
สรุปหุ้น IPO CPT / โดย เพจลงทุนแมน
บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มวิศวกรคนไทย เมื่อปี 2537 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ทำธุรกิจหลักคือ การจำหน่ายอุปกรณ์และระบบควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและตึกสูง รวมไปถึงการให้บริการติดตั้งและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย
นอกจากจะมีฐานที่ตั้งอยู่ในไทยแล้ว บริษัทฯ ยังได้เริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศแล้วด้วย และได้ตั้งเป้าที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการออกแบบและติดตั้งระบบควบคุมไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งปัจจุบันรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศเฉลี่ยแล้วยังคิดเป็นเพียงประมาณ 2% ของรายได้ (เฉพาะ 9 เดือนในปี 2560) ที่ผ่านมาไม่เกิน 10%
ธุรกิจของ CPT คืออะไร?
อย่างแรกคือการจำหน่ายตู้ไฟฟ้า (Panel) โดยจะแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือตู้ไฟฟ้าระบบควบคุมเครื่องจักรในการผลิต และตู้ไฟฟ้าระดับแรงดันต่ำและแรงดันปานกลาง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 55% ของรายได้ทั้งหมด (จากการเฉลี่ย 3 ปี)
ต่อมาคือการจำหน่ายสินค้าสำเร็จรูป (Unit) ประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุม เช่น ตัวปรับความเร็วมอเตอร์กระแสสลับแรงดันต่ำและปานกลาง อุปกรณ์ควบคุมความเร็วมอเตอร์กระแสตรงแบบดิจิตอล และอุปกรณ์เก็บประจุไฟฟ้า เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 17%
บริษัทฯ ยังมีรายได้จากการให้บริการรับเหมาและติดตั้ง (Installation/ Substation) ออกแบบและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงการวางรากฐานและการติดตั้งสายเคเบิ้ลสำหรับเชื่อมต่องานตู้ไฟฟ้าทั้งในโรงงานและสถานีไฟฟ้าย่อย คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 25%
ที่เหลือ คือ การให้บริการ (Service) ซ่อมสำหรับลูกค้าที่อยู่ในระยะและนอกเวลารับประกัน รวมไปถึงบริการตรวจสอบสภาพอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 3%
ผลประกอบการของ CPT
ปี 2557 รายได้ 1,068 ล้านบาท กำไร 53 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 4.98%
ปี 2558 รายได้ 1,061 ล้านบาท กำไร 86 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 8.03%
ปี 2559 รายได้ 1,227 ล้านบาท กำไร 113 ล้านบาท อันตรากำไรสุทธิ 9.19%
ปี 2560 งวด 9 เดือน รายได้ 763 ล้านบาท กำไร 86 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 11.18%
บริษัทฯ มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มโรงงานน้ำตาล แต่ก็น่าจะสามารถที่จะเติบโตไปตามภาวะของเศรษฐกิจโดยรวมและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสินค้าและบริการของบริษัทฯ ไม่ได้เจาะจงสำหรับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่เป็นเครื่องจักรและระบบควบคุมไฟฟ้าที่มีความจำเป็นสำหรับโรงงานหรือการก่อสร้างทุกประเภท
ในส่วนของการทำกำไรที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการขายตู้ไฟฟ้าและสินค้าสำเร็จรูปที่มีอัตราส่วนของกำไรที่ดีกว่างานรับเหมาได้มากขึ้น รวมถึงการที่บริษัทฯ หันมาซื้อสินค้าในประเทศ และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงและมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าลง
ทั้งนี้ CPT จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 270 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นชำระแล้วทั้งหมด มี บมจ. หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่าย
สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ หลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งแรก
หุ้นของกลุ่มคุณสมศักดิ์ หลิมประเสริฐ ซึ่งถือหุ้นอันดับ 1 จากเดิม 45% เป็น 31.5%
หุ้นของกลุ่มคุณอภิชาติ ปีปทุม จากเดิม 40% เป็น 28%
หุ้นของกลุ่มคุณนพดล วิเชียรเกื้อ จากเดิม 15% เป็น 10.5%
หุ้นของประชาชนทั่วไปหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ 30%
เงินที่ได้จากการเข้าระดมทุนจะนำไปใช้ทำอะไร?
เนื่องจากทางบริษัทฯ มีโครงการในอนาคตที่ต้องการจะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทฯ ได้แก่ ตู้ไฟชนิดไม่มีโครงสร้าง (MCSG) การประกอบตู้ Ring Main Unit (RMU) และการขายระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) รวมถึงแผนการร่วมทุนกับบริษัทในต่างประเทศเพื่อทำการขยายตลาด
จึงจะนำเงินประมาณ 200 ล้านบาท ไปซื้อที่ดิน ก่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรใหม่
อีกประมาณ 70 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้เพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
ส่วนที่เหลือก็จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทฯ
ก็น่าติดตามกันว่าการขยายงานของ CPT จะเป็นอย่างไรในอนาคต..
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://cpt-ipo.com/
หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
 
Tag: CPT
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.