ประชากรเกิดน้อยลง ส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจ

ประชากรเกิดน้อยลง ส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจ

28 ม.ค. 2022
ประชากรเกิดน้อยลง ส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจ /โดย ลงทุนแมน
จำนวนประชากรที่เกิดในประเทศไทย ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
จากปี 2555 ที่มีคนไทยเกิด 820,000 คนต่อปี
ล่าสุดปี 2564 เหลือเพียง 540,000 คนต่อปี
ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่ยังคงเพิ่มมากขึ้น
จนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนของสังคมผู้สูงอายุ
แล้วสถานการณ์แบบนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ค่าครองชีพที่สูง
การหางานที่มีการแข่งขันกันสูง
ภาระค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหากมีลูก
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ น่าจะเป็นเหตุผลที่ใครหลายคนตัดสินใจไม่อยากมีลูก
เมื่อคนต้องการมีลูกลดลงแล้ว การเติบโตของจำนวนประชากรในประเทศก็น้อยลงไปด้วย
ปี 2523 ประเทศไทย มีประชากร 47 ล้านคน
ปี 2543 ประเทศไทย มีประชากร 63 ล้านคน
ปี 2563 ประเทศไทย มีประชากร 70 ล้านคน
จะเห็นได้ว่า
ในช่วง 20 ปีแรก ประชากรเพิ่มขึ้นถึง 16 ล้านคน
ขณะที่ 20 ปีต่อมา เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 7 ล้านคน เท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม การแพทย์สมัยใหม่ ทั้งเทคโนโลยีการตรวจหาและรักษาโรค
บวกกับพฤติกรรมที่เราใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น ก็ได้ทำให้คนเรามีอายุขัยมากขึ้น
โดยในปี 2563 อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยคือ 77.7 ปี เพิ่มขึ้นจาก 70.2 ปีในอดีต
อายุขัยที่เพิ่มขึ้นมีผลโดยตรงต่อจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
ตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ถึง 13% ของประชากรทั้งประเทศ
สัดส่วนดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้ “ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” เรียบร้อยแล้ว
และจะยกระดับเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” หากสัดส่วนเพิ่มจาก 13% เป็น 14%
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้อัตราส่วน “วัยแรงงานต่อวัยสูงอายุ” ของไทยลดต่ำลง
จากเมื่อก่อนอยู่ที่ 15 ต่อ 1 มาในวันนี้ เหลือเพียง 6 ต่อ 1 เท่านั้นเอง
แล้วตัวเลขนี้ สำคัญอย่างไร ?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น
รัฐบาลก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น จากอัตราการล้มป่วยของผู้สูงอายุที่มากกว่ากลุ่มคนวัยทำงาน
- บำนาญหรือเบี้ยผู้สูงอายุ ก็ต้องจ่ายนานขึ้น
- สวัสดิการอื่น ๆ เช่น เงินทุนกู้ยืมสำหรับผู้สูงอายุแบบปลอดดอกเบี้ยนานขึ้น
รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและป้องกันอุบัติเหตุตามพื้นที่สาธารณะก็ต้องมากขึ้นไปด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว รายจ่ายของรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นตามมา
ในขณะที่รายได้หลักของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษี ซึ่งหากเราย้อนกลับไปที่อัตราส่วนวัยแรงงานต่อวัยสูงอายุแล้ว จะสะท้อนให้เห็นว่า
เมื่อก่อน รัฐบาลสามารถเก็บภาษีจากคนทำงาน 15 คน เพื่อแบ่งไปเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ 1 คน
แต่วันนี้ รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้เพียง 6 คนเท่านั้น และอาจจะเหลือเพียงแค่ 3 คน ในปี 2570
แล้วสังคมผู้สูงอายุ กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร ?
เมื่อวัยหนุ่มสาวลดลง การบริโภคและกำลังซื้อก็มีแนวโน้มที่จะลดลง
แถมค่าจ้างแรงงานก็อาจจะแพงขึ้น
ทำให้ขาดความน่าสนใจที่จะลงทุนในสายตาต่างชาติ
เมื่อวัยแรงงานมีน้อยลง กำลังการผลิตก็มีแนวโน้มจะลดน้อยลง
ทำให้ธุรกิจขยายตัวได้ช้า และอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
แล้วถ้าต้องไปเก็บภาษีจากบริษัทและคนทำงานมากขึ้น
แรงจูงใจในการทำงานก็จะยิ่งน้อยลง
จนวนลูปกลับไปสู่กำลังการผลิตไม่พออีกทอดหนึ่ง
แล้วประเทศที่เผชิญกับปัญหานี้
พวกเขามีแนวทางในการกำหนดนโยบาย กันอย่างไร ?
- รัฐบาลเกาหลีใต้ให้โบนัสสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นเงิน 8,000 บาทต่อเดือน
ให้ค่าใช้จ่ายสำหรับเตรียมคลอด 54,000 บาท รวมถึงพ่อและแม่สามารถลางานเพื่อดูแลลูกได้ 3 เดือน
- รัฐบาลสิงคโปร์จะมอบเงินสด 1.4 แสนบาทต่อบุตรหนึ่งคน และจะเพิ่มเป็น 1.9 แสนบาทต่อคน สำหรับบุตรคนที่ 3 ขึ้นไป
รวมถึงหากพ่อแม่เปิดบัญชีเพื่อลูกกับธนาคารที่กำหนด จะได้รับเงินสมทบอีกเท่าตัวจากรัฐบาลตั้งแต่ 1.4 ถึง 4.4 แสนบาทด้วย
- รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายที่ให้มีลูกแค่ 1 คน ซึ่งมีมากว่า 30 ปี และล่าสุดก็สนับสนุนให้มีลูกได้ถึง 3 คน รวมถึงพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการมีลูก เช่น ค่าเรียนกวดวิชา
นอกจากนี้ หลายประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา จูงใจชาวต่างชาติด้วยสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างที่ประเทศเยอรมนี ได้มีการเปิดรับแรงงาน ถึงปีละ 400,000 คน
หรือแม้แต่แคนาดาที่เปิดรับแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานถาวรกว่า 1,200,000 คน ในช่วงปี 2564 ถึง 2566
แล้วนโยบายสำหรับการเกษียณในแต่ละประเทศ มีอะไรบ้าง ?
- ประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้จ้างงานจนถึงอายุ 65 ปี และให้ตั้งศูนย์จัดหางานและส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ
- ประเทศสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุ และการเกษียณอายุเป็น 62 ปี และต่อสัญญาการทำงานได้ถึง 65 ปี
- ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดนิยามอายุของประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ 65 ปีขึ้นไป และบัญญัติกฎหมายเพื่อคุ้มครองห้ามไม่ให้เลิกจ้างงานโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ในการเลิกจ้าง
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นนโยบายที่จะช่วยแรงงานในประเทศ และเป็นการรักษาเสถียรภาพของจำนวนแรงงานในระบบ
แล้วโอกาสของเรื่องนี้มีบ้างไหม ?
แน่นอนว่าธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ ก็คือ
- สินค้าเกี่ยวกับการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์ IoT
ที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงอายุได้
- การบริการด้านสุขภาพ
ตรงนี้ประเทศไทย ถือเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติอยู่แล้ว
- การท่องเที่ยวอาจจะเป็นรูปแบบใหม่
เป็นกลุ่มเฉพาะลูกค้าสูงวัย, พักยาวนานขึ้น และใช้พนักงานน้อยลง
- อสังหาริมทรัพย์
เป็นบ้านแนวราบนอกเมือง รวมไปถึงบ้านพักสำหรับผู้สูงวัย
รวมถึงการทำประกันสุขภาพ และธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายแรงงานของรัฐบาล
ในขณะที่ธุรกิจที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ ก็คือ สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเด็กและการแต่งงาน
เช่น เสื้อผ้าและของเล่นสำหรับเด็ก โรงเรียน รวมถึงธุรกิจรับจัดงานแต่งงานก็อาจจะโดนไปด้วย
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าอัตราการเกิดที่ลดลง
ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป
แต่ยังส่งผลถึงภาพรวมเศรษฐกิจและภาคการลงทุน
ที่ผ่านมา หลายประเทศก็ได้มีการกำหนดนโยบายออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
ซึ่งผลลัพธ์ในแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร ก็เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่เราควรติดตาม
และแม้ว่าหลายคนจะบอกว่าเทคโนโลยีและหุ่นยนต์กำลังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในอนาคต ก็อาจจะเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตต่อหัวทดแทนแรงงานที่หายไปได้
เศรษฐกิจก็อาจจะยังคงเติบโตได้
แต่มันก็อาจจะยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ว่า ทำไมคนยุคใหม่ไม่ค่อยอยากมีลูก อยู่ดี..
หรือเราอาจจะต้องคิดกลับกันว่า
การไม่อยากมีลูกไม่ใช่ปัญหา และจริง ๆ แล้ว ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่ประชากรเพิ่มขึ้นเพียงปัจจัยเดียว แต่เป็นปัจจัยอื่นเช่น รายได้ต่อหัวประชากร
และถ้าเป็นแบบนั้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำให้ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้น เหมือนในอดีตที่เคยเป็นมา..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx
-https://www.macrotrends.net/countries/THA/thailand/population
-https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.65UP.TO.ZS
-https://www.worldometers.info/demographics/thailand-demographics/#life-exp
-https://knoema.com/atlas/Thailand/topics/Demographics/Dependency-Ratios/Old-age-dependency-ratio-65-per-15-64
-https://www.sanook.com/money/486817/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.