ทำไมชาวสวีเดน ยอมเสียภาษี ครึ่งหนึ่งของรายได้

ทำไมชาวสวีเดน ยอมเสียภาษี ครึ่งหนึ่งของรายได้

29 ม.ค. 2022
ทำไมชาวสวีเดน ยอมเสียภาษี ครึ่งหนึ่งของรายได้ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าเรามีรายได้ปีละ 1,000,000 บาท
แต่ต้องจ่ายภาษีจำนวน 500,000 บาท
ตัวเลขนี้ ก็อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไร
แต่ไม่ใช่สำหรับชาวสวีเดน ที่เต็มใจจ่ายภาษีให้กับภาครัฐฯ
ในอัตราที่สูงถึง 50% เพื่อแลกกับสวัสดิการ
โครงสร้างการเก็บภาษีของสวีเดนเป็นอย่างไร
ชาวสวีเดนได้อะไร ถึงขนาดยอมจ่ายภาษีครึ่งหนึ่งของรายได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
สวีเดนตั้งอยู่ในแถบยุโรปเหนือ ติดกับประเทศนอร์เวย์ และใกล้กับฟินแลนด์
มีพื้นที่ 4.5 แสนตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประกอบด้วยป่าไม้และภูเขาสูง
มูลค่า GDP ของสวีเดนคือ 17.8 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับประเทศไทย
ที่มี GDP มูลค่า 16.6 ล้านล้านบาท
แต่ที่ไม่ใกล้เคียงก็คือ ประชากรชาวสวีเดน ที่มีเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น
ซึ่งทำให้คนสวีเดนมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อปี สูงกว่าประเทศไทย 7 เท่า
นอกจากจะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรสูงแล้ว
สิ่งที่ถือว่าสูงไม่แพ้กันเลย ก็คือ “อัตราภาษี”
รู้หรือไม่ว่าสวีเดน คือประเทศที่มีอัตราภาษีสูงถึงระดับ 50%
ในขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราสูงสุดที่ 35%

ซึ่ง 50% นี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น
- 30% แรก จ่ายให้กับส่วนท้องถิ่นในแต่ละเขต ซึ่งมีอัตราภาษีแตกต่างกันไปตั้งแต่ 29 ถึง 35%
- 20% ที่เหลือ จ่ายให้กับรัฐบาลสวีเดน ซึ่งจัดเก็บเฉพาะผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1.9 ล้านบาทต่อปี
จากตัวเลขดังกล่าว ก็บอกได้ว่าสวีเดนให้ความสำคัญกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมาก โดยภาษีที่ส่วนกลางของภาครัฐฯ ได้รับจะมีน้อยกว่าเสียอีก ซึ่งต่างจากการจ่ายภาษีของคนไทยที่จ่ายให้ส่วนกลาง แล้วส่วนกลางค่อยไปจัดสรรงบให้ท้องถิ่นอีกที
จากตัวเลขของสหพันธ์ธุรกิจสวีเดน หรือ Confederation of Swedish Enterprise รายงานว่าในปี 2018 มีประชากรจำนวนมากถึง 14% หรือราว 1.4 ล้านคน ที่เสียภาษีในอัตรามากกว่า 51%
แล้วทำไม ชาวสวีเดนจำนวนมากจึงยินดีที่จะให้รัฐเก็บภาษีในอัตราที่สูงขนาดนี้ ?
คำตอบก็คือ สวัสดิการที่ภาครัฐฯ จัดสรรดูแลให้กับประชาชนในประเทศ
ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสวีเดน จนกลายเป็นต้นแบบของรัฐสวัสดิการที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เป็นต้นแบบ
เราลองมาดูกันว่าภาษีที่จ่ายไป
ภาครัฐฯ นำกลับมาสร้างสวัสดิการอะไรให้กับชาวสวีเดนบ้าง
เริ่มตั้งแต่เกิด..
บรรดาพ่อแม่สามารถลางานเพิ่มเติมจากสิทธิ์การลางานปกติได้รวมกัน 480 วัน
สำหรับการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิด และสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้จนกระทั่งเด็กมีอายุ 12 ปี
โดยการลางานรูปแบบนี้ยังเป็นการลางานแบบที่นายจ้าง ยังคงจ่ายค่าจ้างเกือบ 80% ของรายได้ หรือไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน
อีกทั้งยังมีวันลาหยุดงานพิเศษเพิ่มเติมให้กับพ่อแม่ที่ต้องการดูแลลูกที่ป่วย รวมถึงเงินสนับสนุนเริ่มต้น
เดือนละประมาณ 4,500 บาทต่อเด็ก 1 คน จนกระทั่งเด็กมีอายุครบ 16 ปีอีกด้วย
นอกจากนั้น เด็ก ๆ ชาวสวีเดนทุกคน จะได้รับการสนับสนุนทางด้านการศึกษา
ตั้งแต่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก โดยที่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ภาครัฐฯ จะเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี ซึ่งผู้ปกครองเพียงจ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน การเข้าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่แม้แต่สถานศึกษาของเอกชนเอง ก็มีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากหรือไม่มีเลยด้วยซ้ำ
เนื่องจากสถานศึกษาเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสวีเดน โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนให้โรงเรียนเอกชนในจำนวนที่เท่ากันกับโรงเรียนรัฐฯ ทำให้ค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนไม่สูงจนเกินไป
รวมถึงการรักษาทางการแพทย์ทั้งร่างกายและด้านทันตกรรม ก็รักษาฟรี จนกระทั่งอายุ 23 ปี
หากอายุเกินกว่านี้ ก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือค่ารักษาส่วนหนึ่งจากภาครัฐฯ
แม้แต่ในวันที่เราตกงาน ก็มีสวัสดิการรองรับที่จะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ว่างงาน 80% ของรายได้เดิม
หรือไม่เกิน 2,400 บาทต่อวัน สำหรับการว่างงาน 200 วันแรก และจ่ายในอัตราที่ต่ำลงมาในอีก 100 วันถัดมา ซึ่งสำหรับครอบครัวที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี สวัสดิการนี้จะมีระยะเวลาถึง 450 วัน
นอกจากนี้สำหรับผู้มีรายได้ต่ำ ยังมีเงินสนับสนุนค่าเช่าบ้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับรายได้ จำนวนผู้อยู่อาศัย และค่าเช่าที่ต้องรับผิดชอบ
แล้วชาวสวีเดนในวัยเกษียณ มีสวัสดิการอะไรบ้าง ?
ยกตัวอย่างก็เช่น
- ส่วนลดค่าโดยสารรถสาธารณะ หรือส่วนลดค่าบริการรถแท็กซี่
ในกรณีที่ไม่สามารถใช้บริการรถสาธารณะได้ หรือรถโดยสารชนิดพิเศษที่คอยให้บริการ
สำหรับผู้ที่ใช้รถเข็นเท่านั้น ซึ่งในบางเวลาบริการเหล่านี้อาจจะให้บริการโดยไม่คิดเงิน
- เงินบำนาญรายเดือน ที่เริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาทต่อเดือน
โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำงานในประเทศ ฐานเงินเดือน หรือกองทุนบำนาญอื่น ๆ แต่โดยหลักแล้วจะมาจากกองทุนบำนาญส่วนกลางที่ภาครัฐฯ จัดสรรไว้ให้
ที่น่าสนใจก็คือ ระบบบำนาญของสวีเดนครอบคลุมประชากรถึง 100% ส่งผลให้ประเทศสวีเดนมีอัตราความยากจนในผู้สูงอายุต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ
- สวัสดิการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นอะพาร์ตเมนต์ราคาถูก ที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน หรือหากมีบ้านเป็นของตัวเองก็มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ
ไม่ว่าจะเป็น พยาบาล แม่บ้าน หรือช่าง คอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลแต่ละท้องถิ่น
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าสวัสดิการที่ภาครัฐฯ ของสวีเดนจัดเตรียมไว้ให้
เพียงพอต่อการดำรงชีพประจำวัน ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา
อย่างไรก็ตามอาจจะมีคำถามตามมาว่ารัฐสวัสดิการเช่นนี้ จะทำให้คนในประเทศขี้เกียจและไม่ขวนขวายพัฒนาในสายอาชีพของตัวเองหรือเปล่า
แต่จากการเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ รวมถึงมีการผลักดันธุรกิจสตาร์ตอัปในหลากหลายด้าน
ทำให้ผู้คนกล้าที่จะรับความเสี่ยงจากการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น
ส่งผลให้สตาร์ตอัปในสวีเดนมีโอกาสรอดสูงมาก
โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD
ระบุว่าสตาร์ตอัปในสวีเดนมีโอกาสมากถึง 74% ที่จะอยู่รอดถึง 3 ปี
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอัตราความสำเร็จ ที่มากที่สุดในโลก
นั่นจึงทำให้สวีเดนเป็นแหล่งกำเนิดของบริษัทระดับโลกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น H&M, IKEA, Spotify, Electrolux หรือแม้แต่ AstraZeneca ที่นอกจากจะเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่แล้ว ยังผลิตยารักษาโรคสำคัญ ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด
จากความโปร่งใสที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีของหน่วยงานต่าง ๆ ได้
ทำให้ประเทศสวีเดน ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศที่มีอัตราการทุจริตต่ำที่สุดในโลก
รวมถึงสวัสดิการที่ได้กลับมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีคุณภาพสูง
จนแม้แต่คนรวยก็ยังพึ่งพาและยินดีที่จะใช้สวัสดิการที่ภาครัฐฯ จัดไว้ให้
ทำให้ชาวสวีเดนยินยอมจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมากให้กับรัฐบาลมาโดยตลอด
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ เราคงสรุปได้ว่า
จริง ๆ แล้ว การจ่ายภาษี ไม่ต่างอะไรกับการตัดสินใจซื้อสินค้าใดสินค้าหนึ่ง
เพราะหากเราเห็นว่ามันคุ้มค่า เราก็พร้อมที่จะจ่าย ไม่ว่าสินค้านั้นจะมีมูลค่าสูงขนาดไหนก็ตาม
แต่หากว่ามันดูไม่คุ้มค่า ไม่ว่าสินค้านั้นจะถูกขนาดไหน เราก็คงไม่อยากจ่าย
ปิดท้ายด้วยมุมมองการบริหารประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสวีเดน
คุณ Mikael Damberg เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณต้องการเป็นประเทศแห่งความคิดสร้างสรรค์
คุณต้องสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน เพื่อที่พวกเขาจะได้กล้ารับความเสี่ยง”
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.theatlantic.com/business/archive/2017/09/sweden-startups/541413/
-https://sweden.se/life/society/healthcare-in-sweden
-https://www.thenation.com/article/archive/sweden-welfare-state-benefits-popular/
-https://www.longtunman.com/17168
-https://sweden.se/life/society/taxes-in-sweden
-https://www.transparency.org/en/cpi/2020/index/nzl
-https://www.informationsverige.se/en/jag-har-fatt-uppehallstillstand/samhallsorientering/boken-om-sverige/att-aldras-i-sverige/pensioner/
-https://www.informationsverige.se/en/jag-har-fatt-uppehallstillstand/samhallsorientering/boken-om-sverige/att-forsorja-sig-och-utvecklas-i-sverige/arbetsloshetsforsakringen/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.