หากโลกผลิตเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ เราจะกินอะไรทดแทน ?

หากโลกผลิตเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ เราจะกินอะไรทดแทน ?

30 ม.ค. 2022
หากโลกผลิตเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ เราจะกินอะไรทดแทน ? /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่นานมานี้ UNEP หรือโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวนแตะ 10,000 ล้านคน ภายในปี 2050
เราจึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตเนื้อสัตว์ถึง 56% เพื่อให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น
แต่ต่อให้เราจะอยากเพิ่มกำลังการผลิตมากแค่ไหน
ก็ดูเหมือนว่าพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมนั้น
ไม่สามารถรองรับสำหรับประชากรในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้นได้อีกแล้ว
แล้วถ้าโลกผลิตเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ เราจะกินอะไรทดแทน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เมื่อการปศุสัตว์ดั้งเดิมกำลังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ กำลังการผลิต และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นสิ่งที่จะกลายเป็นอาหารทางเลือกในอนาคต “ต้องสามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้”
แต่แค่ลดปัญหายังไม่พอ เพราะเพื่อให้คนเรามีสุขภาพที่ดีเช่นเดิม
คุณสมบัติต่อมาที่ขาดไม่ได้เลย จึงเป็น “คุณค่าสารอาหาร”
ที่ควรจะมีไม่ต่างจากสิ่งที่เรากินกันอยู่ในปัจจุบัน
แล้วปัจจุบัน มันมีอะไรบ้าง ?
1. แมลง
แม้ว่าจากข้อมูลสถิติทั่วโลก พบว่ามีมนุษย์ที่เคยบริโภคแมลงถึง 2,000 ล้านคนแล้ว
แต่แมลงก็ยังไม่ได้ถูกเลือกเป็นอาหารหลัก เหมือนกับหมู ไก่ หรือวัว ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้เสนอให้แมลงกลับมาเป็นแหล่งอาหารในอนาคตอีกครั้ง
พร้อมประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนหันมาบริโภคแมลงกันมากขึ้น
ทำไม FAO ถึงบอกว่าแมลงเป็นอาหารแห่งอนาคต ?
เหตุผลก็เพราะว่า การบริโภคแมลงนั้น ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์
ฝ่ายแรกคือ ผู้บริโภค จะได้รับสารอาหารที่มากกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป
โดยแมลงนั้นมีสารอาหารตั้งแต่ โปรตีน วิตามิน ไฟเบอร์ แคลเซียม สังกะสี ไปจนถึงธาตุเหล็ก แต่ให้แคลอรีที่ต่ำกว่า
สำหรับฝ่ายผู้ผลิต เนื่องจากแมลงสามารถเลี้ยงในพื้นที่ขนาดเล็กได้ ทนต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีโรคระบาด และใช้อาหารจำนวนเล็กน้อยในการเลี้ยง ต้นทุนในการเลี้ยงจึงค่อนข้างต่ำ
สำหรับในด้านของสิ่งแวดล้อมก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
เพราะการเลี้ยงแมลงนั้น สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเลี้ยงสัตว์สำหรับบริโภคประเภทอื่น
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างประกอบระหว่าง จิ้งหรีด และ วัว
รู้ไหมว่าเมื่อคิดโปรตีนในปริมาณเท่ากัน การเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.1% ของวัวเท่านั้น
รวมถึงการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ โดยจิ้งหรีดจะใช้น้ำในการเลี้ยงเพื่อสร้างโปรตีนขนาดหนึ่งกรัม
โดยใช้น้ำเพียง 23 ลิตร น้อยกว่าวัวที่ใช้ถึง 112 ลิตร พูดง่าย ๆ คือใช้น้อยกว่าราว 5 เท่า เลยทีเดียว
จากเรื่องราวเหล่านี้ ส่งผลให้มีหลายบริษัทที่มุ่งเน้นการนำแมลงมาแปลงเป็นอาหาร
โดยหนึ่งในบริษัทที่น่าสนใจคือ “Gourmet Grubb” สตาร์ตอัปสัญชาติแอฟริกาใต้
ที่นำแมลงมาผลิตเป็นไอศกรีม เพื่อเปลี่ยนมุมมองของผู้คนให้เปิดใจกับแมลงกันมากขึ้น
ซึ่งหลังจากออกผลิตภัณฑ์มาก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้ปัจจุบันสตาร์ตอัปแห่งนี้ขยายเมนูไปสู่อาหารคาวต่าง ๆ ตามมา เช่น พาสตาผงแมลง โครเกตต์ตัวอ่อน และฮัมมูสหนอน
ก็ดูเหมือนว่า แมลงกำลังเข้าสู่เส้นทางการเป็นอาหารทางเลือกในบางพื้นที่ของโลกนี้
อย่างไรก็ดี แน่นอนว่ามีคนบางส่วนที่ไม่ชอบทั้งกลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัสของแมลง
นั่นทำให้เกิดทางเลือกอื่นตามมา ที่สามารถเลียนแบบคล้ายกับเนื้อสัตว์จริง ๆ
2. Plant-based Meat หรือ เนื้อสัตว์จากพืช
อธิบายเนื้อสัตว์จากพืชง่าย ๆ ก็คือ อาหารที่ทำมาจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด อัลมอนด์
แต่มีการพัฒนาด้านรสชาติ กลิ่น และรูปลักษณ์ ให้เหมือนกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
แม้ว่าเนื้อสัตว์จากพืช จะเริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเมื่อไม่นานมานี้
แต่จริง ๆ แล้วแนวคิดเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
หากพูดถึงสิ่งที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ก็คงไม่พ้น “โปรตีนเกษตร”
ซึ่งหากใครเคยชิมรสชาติมาก่อน จะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมถึงไม่เป็นที่นิยม
เพราะแม้ว่าจะสามารถใช้แทนเนื้อสัตว์ในการปรุงอาหาร เช่น ผัดกะเพรา ผัดเผ็ด หรือคั่วกลิ้ง ก็ตาม แต่เนื้อสัมผัสและรสชาตินั้น ก็ยังไม่ต่างอะไรไปจากถั่วเหลือง
คนที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์จึงไม่ค่อยเปิดใจ
การบริโภคโปรตีนเกษตรจึงอยู่ในวงแคบเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้กำลังค่อย ๆ หมดไป
เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันเริ่มสามารถลอกเลียนแบบเนื้อสัตว์ได้แทบทุกมิติแล้ว
ตั้งแต่ การลอกเลียนรสชาติ ด้วยการดึงโมเลกุลของธาตุเหล็ก มาสร้างรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์
สร้างเนื้อสัมผัส ด้วยการใช้เทคโนโลยีขึ้นรูปด้วยความชื้นสูง
สร้างสารอาหาร ด้วยการสกัดโปรตีนจากพืช
ด้วยสาเหตุนี้เอง จึงทำให้เนื้อสัตว์จากพืชเริ่มเป็นกระแส
รวมถึงกลายเป็นทางเลือกหลักของคนบางกลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สังเกตได้จากความสำเร็จของ “Beyond Meat” บริษัทผลิตเนื้อจากพืช
ที่สามารถสร้างรายได้ปี 2020 ที่ 13,600 ล้านบาท
ซึ่งล่าสุดบริษัทยังร่วมมือกับ KFC ในการจัดจำหน่ายไก่ทอดจากพืช
โดยเริ่มขายวันแรกในวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา กว่า 4,000 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกา
แต่นอกจากเรื่องการลอกเลียนแล้ว คำถามสำคัญต่อมาคือ อาหารเหล่านี้ดีต่อสุขภาพหรือไม่ ?
หากเทียบเนื้อสัตว์จากพืชกับเนื้อสัตว์ทั่วไป
จะพบว่ามีปริมาณไขมันรวมและไขมันอิ่มตัวที่ต่ำกว่า
เส้นใยอาหารสูงกว่า รวมถึงมีโปรตีนและแคลอรี ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน
จากตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่าเนื้อสัตว์จากพืชนั้นจะมีประโยชน์มากกว่า
แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้น
เพราะปัจจุบันเนื้อสัตว์จากพืชยังมีปริมาณโซเดียมที่สูง
สิ่งนี้เองทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และนำไปสู่โรคอื่นตามมา
เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง
ดังนั้นหากเวลานี้ใครสนใจเนื้อสัตว์จากพืชเป็นทางเลือก
นักโภชนาการแนะนำให้บริโภคไม่เกิน 2 ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์
3. Cultured Meat หรือ เนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บ
หากใครมีมุมมองว่า เนื้อสัตว์จากพืชยังไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่แท้จริง
อีกนวัตกรรมเนื้อสัตว์ทดแทนที่มีอยู่ในตอนนี้ก็คือ “เนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บ”
เนื้อเทียมที่เหมือนเนื้อสัตว์ทั่วไป เพียงแต่ไม่มีสัตว์ใด ๆ
ที่จะต้องถูกฆ่าหรือทำอันตรายสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์เลย
คำถามก็คือ จะสร้างเนื้อสัตว์ได้อย่างไร ?
คำตอบก็คือ สร้างโดยนำสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบมาเพาะเลี้ยงจนเซลล์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเกาะตัวกันเป็นแผ่นคล้ายเส้นใยกล้ามเนื้อในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต จนในที่สุดเราก็จะได้เนื้อเทียมที่เหมือนเนื้อสัตว์ทั่วไป
หลายคนอาจมีคำถามต่อไปว่าในเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาถึงขนาดนี้แล้ว
แต่ทำไมเรายังไม่เห็นเนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บวางจำหน่าย
เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าที่ผ่านมาการผลิตเนื้อสัตว์ประเภทนี้ มีต้นทุนที่สูงเกินไป
โดยในปี 2013 ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 660,000 บาทต่อกิโลกรัม
จึงยังคงเป็นเรื่องยาก ที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้
อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญคือ เรื่องของกฎหมาย
เนื่องจากเนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างใหม่
องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA จึงต้องใช้เวลาวางกรอบการกำกับดูแลเป็นเวลานาน
ด้วยสาเหตุหลักสองอย่างนี้ ทำให้เนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บยังไม่สามารถวางจำหน่ายได้ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรก
ที่เปิดให้บริษัทต่าง ๆ สามารถจำหน่ายเนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดย “Eat Just” หนึ่งในบริษัทผลิตเนื้อเทียม
ก็ได้เข้าไปทำการวางจำหน่ายหนึ่งผลิตภัณฑ์แล้ว
นั่นคือ เนื้อไก่ที่เพาะจากห้องแล็บ
นอกจากประเทศสิงคโปร์เริ่มเคลื่อนไหวแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต่างกัน
โดยขณะนี้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ให้เนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บถูกกฎหมาย และวางจำหน่ายในประเทศได้ เช่นเดียวกัน
ดูเหมือนว่าในที่สุดเราก็ใกล้ถึงเวลาที่จะเห็นเนื้อจากการเพาะในห้องแล็บวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ทั่วไปที่เรากำลังบริโภคอยู่เลย
ถ้าใครคิดว่านวัตกรรมจะหยุดที่ตรงนี้ ก็ต้องบอกว่าช้าก่อน ยังมีอีก
โดยนวัตกรรมเนื้อทดแทนล่าสุด ก็คือเนื้อสัตว์จากอากาศ หรือ “Air-based Protein”
เนื้อสัตว์ประเภทใหม่นี้ เพิ่งถูกคิดค้นขึ้นมา
โดย 2 นักวิทยาศาสตร์คือ Dr. Lisa Dyson และ Dr. John Reed
พวกเขาได้แนวคิดการสร้างอาหารจากอากาศมาจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว
ที่สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารอาหารได้
จากแนวคิดก็นำมาสู่การวิจัย จนในที่สุดก็สามารถสร้างเนื้อสัตว์ได้จริง
โดยกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จะมีขั้นตอนดังนี้
1. นำอากาศ ที่ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน และไนโตรเจน มารวมกับน้ำ
แร่ธาตุ และสารอาหาร
2. นำไปเลี้ยงแบคทีเรียในถังหมักระบบปิด เพื่อให้ผลิตกรดอะมิโนออกมา
3. นำกรดอะมิโนมาสกัดเป็นผงแป้งสีน้ำตาลอ่อน ที่ไม่มีรสชาติ
4. ขึ้นรูปโดยอาศัยความร้อนและความดัน รวมถึงเทคนิคการปรุงอาหาร เพื่อให้มีรูปร่าง ลักษณะ และรสชาติเหมือนกับเนื้อสัตว์
แม้ว่า 2 นักวิทยาศาสตร์จะสามารถวิจัยงานได้สำเร็จ
แต่ก็ต้องติดตามต่อว่า สุดท้ายแล้วเนื้อสัตว์จากอากาศจะตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ได้มากน้อยแค่ไหน
แต่ Air Protein สตาร์ตอัปผลิตอาหารจากอากาศ ที่พวกเขาก่อตั้งขึ้นนั้น
ก็สามารถระดมทุนได้ถึง 1,000 กว่าล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งบริษัทก็จะนำเงินระดมทุนที่ได้ไปขยายกำลังการผลิตต่อไป
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็เป็นสรุปเกี่ยวกับทางเลือกและนวัตกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ทดแทน
ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านการปศุสัตว์ดั้งเดิม
ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนในยุคต่อ ๆ ไป
อาจจะกินทั้งแมลง และเนื้อสัตว์จากอากาศ เป็นประจำทุกวันเลยก็ได้ ใครจะรู้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.hdi.global/infocenter/insights/2021/future-of-food/
-https://www.theguardian.com/food/2021/may/08/if-we-want-to-save-the-planet-the-future-of-food-is-insects
-https://india.mongabay.com/2021/05/explainer-eating-insects-could-be-the-future-of-food/
-https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_625Slide_Plant_Base_Food_24_11_63_1.pdf
-https://www.insider.com/plant-based-meat
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-01-10/fda-weighs-approval-of-lab-grown-meat-sales-in-2022
-https://www.nia.or.th/AirProtein
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.