Starlink โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ของประชากรทั้งโลก

Starlink โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ของประชากรทั้งโลก

10 ก.พ. 2022
Starlink โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ของประชากรทั้งโลก /โดย ลงทุนแมน
เมื่อก่อนสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องมีเพื่อการดำรงชีวิต คงมีเพียงอาหาร ที่อยู่อาศัย
เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่า ปัจจัย 4 จะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
เพราะ “อินเทอร์เน็ต” ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามากขึ้น
ตั้งแต่การศึกษา การทำงาน ค้าขาย การเชื่อมต่อกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งความบันเทิงต่าง ๆ
เช่น การดูหนังหรือฟังเพลง เรียกได้ว่า อินเทอร์เน็ตอยู่ทุกช่วงเวลาเลยก็ว่าได้
เพียงเท่านี้ เราก็คงพอสรุปได้ว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็น ปัจจัยที่ 5 ในโลกยุคใหม่ ไปแล้วเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม แม้อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นสิ่งที่เราหลายคนใช้กันเป็นเรื่องปกติ
แต่ยังมีคนอีกกว่า 2,900 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของโลกใบนี้ ที่ยังเข้าไม่ถึงมัน
อีลอน มัสก์ หนึ่งในนักนวัตกรรมแห่งยุค เจ้าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า Tesla
ได้เห็นโอกาสจากเรื่องนี้ และมองว่าในท้ายที่สุดแล้ว “ทุกคนจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต”
จึงเกิดความคิดสร้าง “Starlink” บริการอินเทอร์เน็ตที่ใคร ๆ บนโลกสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด
Starlink คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรามาเริ่มกันที่รูปแบบการทำงานของอินเทอร์เน็ตก่อนดีกว่า
จริง ๆ แล้ว อินเทอร์เน็ตเกิดจากการนำคอมพิวเตอร์ทั่วโลกมาเชื่อมต่อกันจนเป็นเครือข่าย
โดยส่วนใหญ่ถูกเชื่อมกันด้วยสิ่งที่เรียกว่า “Fiber Optic” หรือสายใยแก้วนำแสง
อย่างไรก็ดี Fiber Optic ก็มีข้อจำกัดสำคัญ ตรงที่ว่าสายมีความแข็งและเปราะง่าย
ทำให้เกิดความยากในการเดินสายตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่สูง
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงยังมีคนจำนวนมากในบางพื้นที่ ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดอีกทางเลือกหนึ่งขึ้นมา ที่เข้ามาแก้ปัญหาที่พูดมาโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือ “การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม”
และเป็นที่มาของ Starlink โครงการของบริษัท SpaceX ที่มุ่งหวังให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่บนโลก
จริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกก่อนว่าอินเทอร์เน็ตดาวเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และมีมานานแล้ว
โดยบริษัทที่เราคุ้นเคยอย่าง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ก็มีบริการในลักษณะนี้เช่นกัน
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม มีตั้งแต่ธุรกิจการบิน ธุรกิจเดินเรือสมุทร แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล
แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม จะให้บริการได้กว้างกว่า ครอบคลุมทุกพื้นที่ก็จริง
แต่ที่ผ่านมากลับไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของราคาสูง ความเร็วค่อนข้างต่ำ และไม่ค่อยมีความเสถียร
โดยความเสถียรในที่นี้ เราจะวัดจาก “Latency” หรือความหน่วงในการรับและส่งข้อมูล
ยกตัวอย่างของความหน่วงง่าย ๆ ในชีวิตจริงก็เช่น เวลาเราวิดีโอคอลกับใคร ภาพวิดีโอหรือเสียงของอีกฝ่ายเกิดอาการดีเลย์ ปากพูดไม่ตรงกับเสียงที่ได้ยิน
หรือสำหรับสายเกมเมอร์ น่าจะเคยเจอเมื่อเล่นเกมออนไลน์เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ที่จู่ ๆ เกมก็หยุดกะทันหัน สักพักก็วิ่งเร็วผิดปกติ อาการแบบนี้เรียกว่า Ping ขึ้น หรือมี Latency สูง นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ ก็เรียกได้ว่ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่อยู่มายาวนานของบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม
คำถามต่อมาคือ ในเมื่อมีข้อจำกัดมากมายขนาดนี้ ทำไม อีลอน มัสก์ ถึงคิดสร้าง Starlink ขึ้นมาอีก
คำตอบง่าย ๆ เลยก็คือ อีลอน มัสก์ คิดวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้เอาไว้แล้ว..
โดยปกติแล้ว ดาวเทียมจะโคจรอยู่เหนือพื้นดินถึง 35,786 กิโลเมตร เพื่อรักษาระดับการโคจรให้อยู่เหนือจุดใดจุดหนึ่งของโลกพอดี
ด้วยระยะระหว่างการส่งและรับสัญญาณที่ถือว่าค่อนข้างไกล
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมักจะมีปัญหา
ดังนั้นหากดาวเทียมอยู่ไกลจากเรา ทำไมไม่ขยับมันให้เข้ามาใกล้ขึ้นกว่าเดิม ปัญหาจะได้หมดไป และนั่นคือสิ่งที่ Starlink ทำนั่นเอง
ด้วยการลดระดับความสูงในการโคจรของดาวเทียมมาอยู่ที่ Low Earth Orbit (LEO) หรือวงโคจรต่ำของโลก โดยอยู่ที่ 550 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก หรือคิดเป็น 1 ใน 60 ของความสูงเดิม
จากการขยับดาวเทียมเข้ามาใกล้ ทำให้ Starlink สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วอยู่ระหว่าง 50 ถึง 150 Mbps โดยมีความหน่วงในการรับ-ส่งข้อมูลอยู่ที่ 20 ถึง 40 ms เท่านั้น
หากเทียบกับอินเทอร์เน็ตทั่วไป ถือว่ามีความน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 123.87 Mbps โดยมีความหน่วง 18 ms ซึ่งใกล้เคียงกันมาก
อย่างไรก็ดี ความเร็วและความหน่วงที่พูดถึง ยังไม่ใช่ประสิทธิภาพสูงสุดของ Starlink
หากบริษัทปล่อยดาวเทียม และติดตั้งสถานีภาคพื้นดินมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงซอฟต์แวร์ต่อไป
อีลอน มัสก์ ก็ได้ออกมาระบุว่าความเร็วสามารถเพิ่มได้ถึง 300 Mbps และความหน่วงจะไม่เกิน 20 ms
วิธีแก้ปัญหาดูง่ายดาย ผลลัพธ์ก็ออกมาเวิร์ก
คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงไม่มีบริษัทรายอื่นหันมาทำบ้าง ?
เพราะว่าเมื่อลดระดับความสูงแล้ว การกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะแคบลง
จึงต้องชดเชยด้วยจำนวนดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
โดย Starlink คาดว่าจะใช้ดาวเทียมถึง 10,000 กว่าดวง
หรือคิดเป็น 2 เท่าของจำนวนดาวเทียมทั่วโลกในเวลานี้ ถึงจะสามารถให้บริการเต็มรูปแบบ แก่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกได้
อย่างไรก็แล้วแต่ Starlink ได้ยื่นขออนุญาตจาก ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
สำหรับปล่อยดาวเทียมเผื่อเอาไว้แล้ว เป็นจำนวนมากถึง 42,000 ดวง
ปัญหาใหญ่อีกอย่างสำหรับบริษัทอื่น ที่ทำได้ยากก็เพราะเมื่อต้องใช้ดาวเทียมจำนวนมาก
บริษัทก็ต้องใช้การขนส่งมากเช่นเดียวกัน ค่าใช้จ่ายเมื่อรวม ๆ แล้วนับว่าไม่น้อยเลย
แต่ทำไม มันถึงไม่เป็นปัญหาสำหรับ Starlink เลย
เริ่มที่ดาวเทียม
แทนที่ Starlink จะสร้างดาวเทียมที่มีอายุการใช้งานนานเหมือนบริษัทอื่น
บริษัทกลับเลือกสร้างดาวเทียมที่มีอายุสั้น โดยมีอายุการใช้งานเพียงดวงละ 5 ปีเท่านั้น
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะ อีลอน มัสก์ บอกว่าการสร้างดาวเทียมที่ทนทาน และใช้งานได้นานเป็นเรื่องที่ยาก
ต้องวิจัยและพัฒนาพอสมควร ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ไม่น้อย ดังนั้นการเลือกดาวเทียมอายุสั้นดูจะดีกว่า
นอกจากนี้ยังได้ใช้วัสดุ และเชื้อเพลิงที่ต้นทุนถูกลง รวมถึงช่วยลดค่าบำรุงรักษาอีกด้วย
ต้นทุนสำหรับผลิตดาวเทียมจึงออกมาค่อนข้างต่ำ
ส่วนการขนส่งดาวเทียมสู่อวกาศก็ไม่เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะ SpaceX มีจรวดสำหรับขนส่งไว้แล้ว
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงเป็นเพียงต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ต่างจากรายอื่นที่ต้องจ้างอีกที ซึ่งมีการรวมกำไรด้วย
และด้วยความที่จรวดของ SpaceX สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ทำให้ต้นทุนยิ่งลดลงไปอีก
สุดท้ายความได้เปรียบสำคัญอีกอย่าง ยากที่ใครจะลอกเลียนแบบได้ คือชื่อเสียงของอีลอน มัสก์ ที่สามารถเชิญชวนให้ผู้คนที่เชื่อมั่นในตัวเขา ยอมจ่ายเงินมัดจำก่อนได้รับบริการ ซึ่งทำให้บริษัทมีเงินเข้ามือมาได้ก่อน
รู้หรือไม่ว่า อีลอน มัสก์ ทำให้มีคนยอมจ่ายเงินมัดจำมาแล้วถึง 500,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินคร่าว ๆ ประมาณ 1,600 ล้านบาท
หากพิจารณาจากเรื่องราวทั้งหมด ก็ดูเหมือนว่า Starlink มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ก็น่าคิดต่อว่าสถานการณ์โทรคมนาคมในประเทศไทย จะเป็นอย่างไรต่อไป
แม้จะดูเหมือนว่า Starlink กำลังจะเข้ามาดิสรัปต์วงการการให้บริการอินเทอร์เน็ต
แต่ในเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร
เหตุผลสำคัญก็เพราะ ค่าบริการที่ยังคงสูง เมื่อเทียบกับบริการอินเทอร์เน็ตในไทย
โดย Starlink จะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน
- ค่าจานดาวเทียมและเราเตอร์ 499 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,000 บาท
- ค่าบริการรายเดือน 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 3,300 บาท
ส่วนความเร็วอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ก็ยังมีค่าเฉลี่ยที่สูง
หากอ้างอิงข้อมูลของ Ookla ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลก
พบว่าประเทศไทยมีความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านนั้น เร็วเป็นอันดับ 8 ของโลก
โดยมีความเร็วเฉลี่ยถึง 229.95 Mbps ซึ่งมากกว่าความเร็วสูงสุดของ Starlink ในขณะนี้
ข้อจำกัดอีกอย่างของการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ Starlink ก็คือ มันเหมาะกับการใช้ในแหล่งชุมชนที่ไม่แออัด หากใช้งานตามเมืองใหญ่ ๆ ประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตจะยิ่งลดลง
รวมถึงสภาพอากาศอย่างฝนตกหนักหรือลมแรง ก็อาจส่งผลต่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
เช่น ความเร็วลดลง หรืออินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้

ดังนั้นจะเห็นว่า เวลานี้คนไทยยังไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ Starlink เท่าไรนัก
ปัจจุบัน Starlink เปิดให้บริการไปแล้วใน 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์, เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์, เดนมาร์ก, โปรตุเกส, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
มีลูกค้ากว่า 140,000 ราย และมีคนที่จองล่วงหน้าไปแล้ว อีกนับ 500,000 ราย
โดยในขณะนี้ Starlink ปล่อยดาวเทียมไปเพียง 2,000 ดวง เท่านั้น
ก็ต้องรอติดตามว่า หาก Starlink ปล่อยดาวเทียมถึง 10,000 ดวงแล้ว
ขีดความสามารถของอินเทอร์เน็ต และค่าบริการในตอนนั้น จะเป็นอย่างไร..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.cnet.com/home/internet/starlink-satellite-internet-explained/
-https://www.prestigeonline.com/th/pursuits/tech/what-is-starlink-and-how-elon-musk-will-change-the-way-you-access-the-internet/
-https://www.space.com/spacex-starlink-satellites.html
-https://www.dailymail.co.uk/news/article-10263349/1-3-people-globe-2-9-billion-never-used-internet.html
-https://www.speedtest.net/global-index
-https://spacenews.com/spacex-submits-paperwork-for-30000-more-starlink-satellites/
-https://spaceth.co/what-is-spacex-starlink/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.