Veldhoven เมืองเล็ก ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ที่มีอิทธิพลกับ เทคโนโลยีโลก

Veldhoven เมืองเล็ก ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ที่มีอิทธิพลกับ เทคโนโลยีโลก

14 ก.พ. 2022
Veldhoven เมืองเล็ก ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ที่มีอิทธิพลกับ เทคโนโลยีโลก /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นสูง และนวัตกรรมของโลก อยู่ที่ไหน ?
ซิลิคอนแวลลีย์ คือ คำตอบที่หลายคนจะนึกถึง
เพราะซิลิคอนแวลลีย์ เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังระดับโลก และมีชื่อเสียงที่คุ้นหูของคนทั่วโลกหลายแห่ง เช่น Apple, Alphabet (Google), Netflix และ Meta
แต่รู้ไหมว่า ยังมีเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในโลก
ที่แม้จะมีประชากรไม่กี่หมื่นคน แต่วันนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยีทั่วโลก ไม่แพ้ซิลิคอนแวลลีย์
เมืองนี้อยู่ที่ไหน และทำไมถึงสำคัญ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เมืองที่เรากำลังพูดถึง มีชื่อว่า “เวลด์โฮเฟน (Veldhoven)”
ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นพื้นที่ชานเมืองซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไอนด์โฮเฟน เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ
เวลด์โฮเฟน คือการรวมตัวของหมู่บ้านในชนบท ที่เติบโตขึ้นมาร่วมกันในศตวรรษที่ 20 เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ชานเมืองขนาดใหญ่ รองรับการเดินทาง และประชากรจากเมืองหลักอย่างไอนด์โฮเฟนที่ขยายตัวมากขึ้น
พื้นที่ของเวลด์โฮเฟนมีขนาดเพียง 31.9 ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรประมาณ 45,000 คน
แม้จะดูเป็นเมืองเล็ก ๆ และมีประชากรเพียงหลักหมื่นคน แต่ที่นี่กลับมีความสำคัญต่อเทคโนโลยี ไม่แพ้ซิลิคอนแวลลีย์ ในสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้
ที่พูดแบบนี้ เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของบริษัทที่ชื่อว่า ASML Holding N.V. หรือ ASML
บริษัทสัญชาติดัตช์ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักร “Photolithography” รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โดยเครื่อง Photolithography ที่ว่านี้ คือการใช้เทคโนโลยีแสง สลักลายลงบนซิลิคอนเวเฟอร์
ซึ่งการวาดลวดลายดังกล่าวนั้น ก็คือการวาดเส้นวงจรไฟฟ้าด้วยแสง เพื่อให้เกิดเป็นทางเดินของกระแสไฟฟ้าภายในแผ่นวงจร ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตั้งต้นสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง
รู้ไหมว่า ในปัจจุบัน 3 บริษัทรายใหญ่ที่ครองตลาดเทคโนโลยี Photolithography คือ ASML, Canon และ Nikon โดยที่ ASML มีส่วนแบ่งในตลาดกว่า 60%
ในปี 2020 มูลค่าตลาดของการขายเครื่องจักร Photolithography นั้นมีมูลค่าสูงกว่า 328,000 ล้านบาท
และมีการคาดการณ์กันว่า มูลค่าดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 594,000 ล้านบาท ในปี 2025 ซึ่งถูกผลักดันโดย การเติบโตของเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงทั่วโลก
และรู้ไหมว่า ASML ไม่ได้เป็นเจ้าของเพียงแค่เทคโนโลยี Photolithography เท่านั้น
เพราะบริษัทยังเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ที่ชื่อว่า “EUV lithography” หรือ Extreme ultraviolet lithography ซึ่งปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีนี้ มีเพียงแค่ ASML บริษัทเดียวที่ทำได้..
แล้ว EUV lithography คืออะไร ?
ที่ผ่านมานั้น การพิมพ์ลายลงบนชิปนั้น นิยมใช้แสงในช่วงความยาวคลื่น 193 นาโนเมตร
แต่เทคโนโลยี EUV lithography นั้นสามารถให้แสงที่ฉายลงบนซิลิคอนเวเฟอร์ ในช่วงความยาวคลื่น 13.3-13.7 นาโนเมตร
การที่ช่วงความยาวคลื่นแสงสั้นลงแบบนี้
จุดเด่นคือช่วยให้สามารถสร้างลวดลายได้ละเอียดซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ติดตั้งทรานซิสเตอร์บนชิปได้มากขึ้น ส่งผลทำให้ชิป มีขนาดเล็กลง มีศักยภาพสูงขึ้น และกินพลังงานน้อยลงอีกด้วย
และเนื่องจากรูปทรงของชิปในอนาคต มีแนวโน้มเล็กลงเรื่อย ๆ การนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ EUV ลงบนชิป จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดย ASML ได้ผลิตเครื่อง EUV lithography เครื่องแรกของโลก ขึ้นมาครั้งแรกในปี 2017 ขณะที่บริษัทก็อยู่ในระหว่างพัฒนาเครื่อง EUV lithography รุ่นใหม่ ๆ
ซึ่งรู้หรือไม่ว่า EUV lithography 1 เครื่องนั้น มีขนาดพอ ๆ กับรถมินิบัส 1 คัน เลยทีเดียว
และมีชิ้นส่วนต่าง ๆ ประกอบภายในกว่า 100,000 ชิ้น มีสายไฟและสายเคเบิลยาวรวมกันกว่า 2 กิโลเมตร
ASML คาดว่า ราคาของเครื่องรุ่นใหม่จะตกอยู่ที่เครื่องละประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าของเครื่องบินขนาดใหญ่ทั้งลำเสียอีก
โดยปัจจุบัน บริษัทระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปได้เป็นลูกค้าของบริษัทนี้กันหลายบริษัท ตัวอย่างเช่น TSMC, Samsung Electronics
ช่วงที่ผ่านมา เราคงได้ยินปัญหาการขาดแคลนชิป ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการชิปที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์
แต่อีกส่วน ก็เกิดจากปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด 19 ที่ส่งผลทำให้การขนส่งสินค้าต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ
หนึ่งในนั้นคือ การที่ ASML ไม่สามารถส่งออกเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปให้แก่ลูกค้าผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อย่าง Samsung Electronics และ TSMC จนทั้ง 2 บริษัท ต้องเลื่อนการผลิตชิปออกไป และมีส่วนทำให้ชิปนั้นขาดแคลนในช่วงที่ผ่านมาด้วย
แล้วผลประกอบการของ ASML ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ปี 2019 รายได้ 445,000 ล้านบาท กำไร 98,000 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 527,000 ล้านบาท กำไร 134,000 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 701,000 ล้านบาท กำไร 222,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่าบริษัทนี้มีอัตรากำไรที่สูงมาก ซึ่งในช่วงเวลาจากปี 2019-2021 นั้น มูลค่าของบริษัท ก็เพิ่มขึ้นจาก 2.4 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ราว 8.7 ล้านล้านบาท
ทำให้ ปัจจุบัน ASML กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในยุโรปไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น ก็คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า
เมืองเล็ก ๆ อย่างเวลด์โฮเฟน ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ASML นั้นเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.economist.com/business/2020/02/29/how-asml-became-chipmakings-biggest-monopoly
-https://en.wikipedia.org/wiki/Silicon_Valley
-https://qz.com/1992988/asml-is-a-linchpin-in-solving-the-worlds-microchip-shortage/
-https://en.wikipedia.org/wiki/ASML_Holding
-https://en.wikipedia.org/wiki/Extreme_ultraviolet_lithography
-https://www.igeekphone.com/asim-euv-lithography-machine-cost-is-150-million-us-dollars/
-https://finance.yahoo.com/quote/ASML/
-https://companiesmarketcap.com/asml/marketcap/
-https://www.asml.com/en/company/about-asml/locations/veldhoven
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.