แอลเบเนีย ประเทศที่เคยพังทลาย เพราะแชร์ลูกโซ่

แอลเบเนีย ประเทศที่เคยพังทลาย เพราะแชร์ลูกโซ่

14 ก.พ. 2022
แอลเบเนีย ประเทศที่เคยพังทลาย เพราะแชร์ลูกโซ่ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่าแชร์ลูกโซ่ เคยทำให้ประเทศหนึ่งลุกเป็นไฟ เกิดสงครามกลางเมืองและรัฐบาลถูกโค่นล้ม
เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของแชร์แม่ชม้อย ที่สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาท
หรือแชร์แม่มณี ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้
ซึ่งเรื่องราวของแชร์ลูกโซ่ที่สร้างความเสียหายให้คนจำนวนมากเหล่านี้
ก็ไม่เคยห่างหายไป แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
ในวันนี้ เราจะมาเล่าถึงแชร์ลูกโซ่ขนาดมหึมา ที่เดิมพันด้วยเศรษฐกิจของประเทศ และชีวิตของผู้คนนับล้าน
ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ “ประเทศแอลเบเนีย” ประเทศที่เคยเกือบจะล่มสลายเพราะแชร์ลูกโซ่
มันเกิดอะไรขึ้น ที่แอลเบเนีย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
สาธารณรัฐแอลเบเนีย เป็นประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งในภูมิภาคยุโรป
มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน กับขนาดพื้นที่ประมาณ 1.5 เท่าของจังหวัดเชียงใหม่
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ และอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศอิตาลี
ในช่วงยุค 1980 ถึง 1990 ถือเป็นยุคของการล่มสลาย ของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรป
ไล่มาตั้งแต่เยอรมนีตะวันออก, ฮังการี, เชโกสโลวาเกีย, บัลแกเรีย, โรมาเนีย ซึ่งก็ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างกัมพูชา
แอลเบเนียเอง ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เปลี่ยนการปกครอง จากระบอบคอมมิวนิสต์มาเป็นประชาธิปไตย แบบมีรัฐสภาในยุคนั้น
แต่จุดนี้เองกลับเป็นปัญหาใหญ่ของแอลเบเนีย เนื่องจากการปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก่อนหน้านั้น เน้นไปที่การดำเนินนโยบายพึ่งพาตัวเอง และปิดประเทศตัวเองจากโลกภายนอก
เมื่อจู่ ๆ กลายเป็นประเทศเปิดที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม คนในประเทศจึงยังไม่เข้าใจ และปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ทัน ซึ่งก็รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ ข้าราชการก็ยังขาดประสบการณ์ ในการกำกับดูแล ปัญหาจึงค่อย ๆ เกิดขึ้น
หลังจากเปิดประเทศ ก็มีทุนหลั่งไหลเข้ามา
รวมถึงการลงทุนอย่างหนักภายในประเทศ เศรษฐกิจของแอลเบเนียก็เฟื่องฟู โตวันโตคืน
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็คือ “เงินนั้นไม่เคยพอ”
เมื่อความต้องการเงินทุนนั้นมีมาก และธนาคารภายในประเทศมีให้ไม่เพียงพอ
จึงเกิดบริษัทเงินทุน ที่ให้กู้ยืมเงินนอกระบบขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ถึงตรงนี้ หลายบริษัทเริ่มเปิดรับระดมทุน โดยให้อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนสูงจนน่าใจหาย
คนแห่กันเอาเงินเข้าไปฝากในบริษัทเหล่านั้น ชักชวนกันเป็นทอด ๆ เพื่อรับผลตอบแทนที่แสนเย้ายวนใจ
ซึ่งรัฐบาลในตอนนั้นก็หลับตาข้างหนึ่ง
เนื่องจากมันช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
กลายเป็นว่าคนก็เลยเชื่อว่ามันคือเรื่องที่ถูกต้อง..
เรื่องราวก็ยิ่งเริ่มไปกันใหญ่ หลายคนขายบ้าน ขายไร่นา ขายปศุสัตว์ทั้งหมด เพื่อมาลงเงินกันสุดตัว
ความหวังและชีวิตทั้งชีวิตของใครหลายคนได้ถูกฝากไว้กับแชร์ก้อนใหญ่ก้อนนี้
เงินยังถูกเติมเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่หยุด เงินคนใหม่ถูกนำมาจ่ายคนเก่า และถูกฟอกออกไปยังต่างประเทศ
ในปี 1995 IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจของแอลเบเนีย แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปี เรื่องราวทั้งหมด ก็กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน..
IMF ได้กลับเข้ามาเตือนรัฐบาลแอลเบเนียถึงเรื่องราวฉ้อฉลทางการเงินเหล่านี้
แต่รัฐบาลแอลเบเนียกลับโกรธและตอบโต้ว่า IMF ต้องการเข้ามาทำลายความสำเร็จของแอลเบเนีย
ทุกอย่างในตอนนั้นเริ่มที่จะบานปลาย มีการจับกุมผู้ที่เห็นต่าง
แต่เมื่อวงแชร์วงใหญ่เดินทางมาจะถึงจุดสิ้นสุด ไม่มีเงินมาเติม และไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้แก่นักลงทุนได้
ทุกอย่างก็พังครืน..
ความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ของประเทศแอลเบเนีย ในตอนนั้น
เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ก่อนจะแพร่กระจายไปยังทั่วประเทศ
เกิดการปล้น อาชญากรรม และการเผาทำลายเป็นจำนวนมาก
ในเวลาไม่กี่เดือนรัฐบาลแอลเบเนีย ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ครึ่งประเทศด้านใต้กลายเป็นรัฐล้มเหลว ที่ถูกปกครองโดยกลุ่มแก๊งอาชญากรและผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ
ประชาชนหลายหมื่นคนเริ่มหนีออกนอกประเทศ หลายพันคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง
จน UN หรือสหประชาชาติ ต้องส่งกองกำลังเข้ามาเพื่อช่วยรัฐบาลปราบปรามความไม่สงบในครั้งนี้
มีการสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดในการฉ้อฉล ทั้งเจ้าพนักงานรัฐ นักการเมือง นักธุรกิจ และนายทุน
เศรษฐกิจของประเทศพังทลาย หลายคนหมดตัวและล้มละลาย
สิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิตของเขาเหล่านั้น ได้หายไปทั้งหมดในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
หลาย ๆ คนไม่สามารถกลับมาที่จุดเดิมได้อีกเลย..
เรื่องนี้ไม่เพียงแต่บอกเราถึงธรรมชาติและอารมณ์ของมนุษย์
แต่ยังบ่งบอกถึงความสำคัญในการที่ผู้มีอำนาจกำกับดูแลทางการเงินและบังคับใช้อย่างถูกวิธี
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเราจะมาจากประเทศที่พัฒนาแค่ไหน
มนุษย์เราก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางการเงินนี้ได้เหมือน ๆ กัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.imf.org/external/pubs/ft/wp/1999/wp9998.pdf
-https://www.imf.org/external/pubs/ft/fandd/2000/03/jarvis.htm
-https://www.dissentmagazine.org/online_articles/pyramids-everywhere
-https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2315e39c306000a28b?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870
-https://www.investor.gov/protect-your-investments/fraud/types-fraud/pyramid-schemes
-https://www.investor.gov/protect-your-investments/fraud/types-fraud/ponzi-scheme
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.