ผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้าส่งออกของไทย ที่กำลังเติบโต

ผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้าส่งออกของไทย ที่กำลังเติบโต

15 ก.พ. 2022
ผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้าส่งออกของไทย ที่กำลังเติบโต /โดย ลงทุนแมน
109,880 ล้านบาท คือมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ของไทย ในปี 2564
ซึ่งเป็นมูลค่าที่เติบโตขึ้น จากปี 2563 ถึง 30%
ผลิตภัณฑ์ไม้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เติบโตอย่างน่าสนใจ
ด้วยความที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้อยู่มาก
ซึ่งสามารถต่อยอดมูลค่าได้อีกในอนาคต
แล้วโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ไทย มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น หลายคนคงมีคำถามว่า “ไม้” ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่สุด
สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ของไทย มีที่มาจากไม้อะไร ?
คำตอบอยู่ที่ไม้เศรษฐกิจอันดับ 1 ของไทย
ที่เราจะพบการปลูกได้แทบทุกภูมิภาคของประเทศ
ซึ่งจะเป็นไม้อะไรไปไม่ได้ นอกจาก “ยางพารา” นั่นเอง..
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 22 ล้านไร่ เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย
โดยผลิตภัณฑ์หลักของต้นยางพารา ก็คือ น้ำยาง ที่จะถูกนำไปแปรรูป และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาง นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญระดับ Top 10 ของไทยมานาน
ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ระดับโลก ถุงยางอนามัย หรือถุงมือยาง ที่คนทั่วโลกใช้ ต่างก็มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย
แต่นอกจากน้ำยางแล้ว ต้นยางพาราก็ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก
เพราะ “ไม้” ของต้นยางพารา มีคุณสมบัติคงทนแข็งแรง เนื้อไม้มีสีขาวนวล และลวดลายของไม้มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ จนได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ไม้สักขาว”
กรมป่าไม้จัดให้ไม้ยางพารา อยู่ในกลุ่มไม้เนื้อแข็งปานกลาง
มีความแข็งแรงในการดัดอยู่ที่ 973 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร
ซึ่งน้อยกว่าไม้สัก ที่มีค่าความแข็งแรง 1,023 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร อยู่บ้าง
แต่สิ่งที่แตกต่างกันมาก ระหว่างไม้ยางพารากับไม้สักก็คือ “ราคา”
ดังนั้น เมื่อยางพารามีการปลูกมาก และโดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อต้นยางพารามีอายุประมาณ 25 ปี
จะให้น้ำยางลดน้อยลงมาก เกษตรกรชาวสวนยางจึงต้องโค่นต้นยางพารา
เพื่อปลูกต้นใหม่ทดแทน ไม้ยางพาราจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อยอดได้
ถึงแม้ไม้ยางพาราจะมีข้อเสีย คือ สามารถดูดความชื้นได้ จนทำให้เกิดเชื้อราง่าย
และเนื้อไม้มีแป้งมาก ซึ่งเป็นอาหารของมอด แมลงศัตรูทางการเกษตรที่สำคัญ
แต่หากผ่านกระบวนการป้องกันเชื้อราและมอดแล้ว ก็สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของบ้าน
หรือเฟอร์นิเจอร์ไม้ ได้ดีพอสมควร ถึงแม้อาจจะทนทานไม่เท่ากับไม้สัก แต่ราคาถูกกว่ามาก
ไม้ยางพารายังเป็นไม้เพียงชนิดเดียว ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการส่งออกได้ โดยไม่จำกัดปริมาณ
ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราจึงกลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย
โดยผลิตภัณฑ์ไม้ที่ประเทศไทยส่งออก ในปี 2564 มีมูลค่า 109,880 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
- ไม้แปรรูป ส่งออกมูลค่า 33,841 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31%
- ไฟเบอร์บอร์ด ส่งออกมูลค่า 27,148 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25%
- ไม้อัด ส่งออกมูลค่า 18,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17%
- เฟอร์นิเจอร์ไม้ ส่งออกมูลค่า 16,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
- เครื่องใช้ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ส่งออกมูลค่า 14,052 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12%
สินค้าที่น่าสนใจ คือ ไม้แปรรูป ไฟเบอร์บอร์ด และเฟอร์นิเจอร์ไม้
เริ่มจากไม้แปรรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีสัดส่วนมากที่สุด
ไม้แปรรูปจัดเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นของกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้
จุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของการส่งออกไม้แปรรูปของไทย คือ ประเทศจีน
คิดเป็นสัดส่วนถึง 97% ของการส่งออกทั้งหมด
ไม้แปรรูปที่ส่งออกไป ก็จะถูกนำไปทำเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีโรงงานเฟอร์นิเจอร์อยู่เป็นจำนวนมาก และส่งออกเฟอร์นิเจอร์มากที่สุดในโลก
คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์โลก
ซึ่งการส่งออกไม้แปรรูป มีความท้าทาย ก็คือ การพึ่งพาตลาดจากจีนเพียงแห่งเดียว
รวมถึงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไม่มาก และมีการแข่งขันสูงจากประเทศที่ปลูกยางพาราเช่นเดียวกัน
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจก็คือ ไฟเบอร์บอร์ด ที่มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ไฟเบอร์บอร์ด คือ แผ่นไม้ที่เกิดจากการนำเส้นใยของไม้ มาผสมกับสารยึดเกาะ จำพวกกาวเคมี
แล้วอัดให้เป็นแผ่น ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งไฟเบอร์บอร์ดส่วนใหญ่ นิยมนำไปใช้ทำผนังห้อง วงกบ กรอบประตู อุตสาหกรรมตกแต่ง ไปจนถึงทำเฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง และเครื่องใช้สำนักงาน
จุดหมายปลายทางของการส่งออกไฟเบอร์บอร์ดในปี 2564 ประกอบไปด้วย
1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งออกมูลค่า 6,529 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24%
2. ซาอุดีอาระเบีย ส่งออกมูลค่า 5,294 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20%
3. เวียดนาม ส่งออกมูลค่า 2,554 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9%
จะเห็นได้ว่า กลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไม้ไฟเบอร์บอร์ดของไทย เนื่องมาจากกลุ่มประเทศแถบนี้ มีอัตราการเติบโตของประชากรสูง มีความต้องการที่อยู่อาศัย และมีการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งหากรวมกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ
จะมีสัดส่วนถึง 60% ของการส่งออกทั้งหมด
ตลาดที่น่าสนใจ คือ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่มีการนำเข้าจากไทยยังไม่สูงมาก อาจเนื่องจากปัญหาความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งหากความสัมพันธ์ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
ก็เป็นที่น่าติดตามว่า การนำเข้าไฟเบอร์บอร์ดของซาอุดีอาระเบียจากไทย จะเติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต
โดยบริษัทรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับไฟเบอร์บอร์ด และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่
- บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG
ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตไม้ไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นกลาง หรือแผ่นไม้ MDF (Medium Density FiberBoard)
- บริษัท ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SKN ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่มีผลิตภัณฑ์หลักเป็นแผ่นไม้ MDF เช่นเดียวกัน
ผลิตภัณฑ์ไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจมาก ก็คือ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ไม้ได้ดีที่สุด โดยการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย มีตลาดสำคัญอยู่ 2 แห่ง
ที่มีสัดส่วนสูงสุด คือ
1. สหรัฐอเมริกา ส่งออกมูลค่า 10,230 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64%
2. ญี่ปุ่น ส่งออกมูลค่า 2,286 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14%
ตัวอย่างของบริษัทที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คือ
บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้
โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากแผ่นไม้ MDF
อย่างไรก็ตาม การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย ก็ยังตามหลังหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราเช่นกัน แต่กลับส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้มากกว่าไทยถึง 2 เท่า..
สาเหตุอาจมีที่มาจาก การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไทย ที่ยังไม่ถูกใจตลาดต่างประเทศ
การตลาดและการโปรโมตสินค้าที่ยังไม่ครอบคลุมตลาด ที่มีกำลังซื้อสูง
รวมถึงการที่ประเทศไทยเพิ่งเข้าร่วมมาตรฐาน PEFC หรือ Programme for the Endorsement of Forest Certification ที่เป็นองค์กรระดับนานาชาติ ที่ส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน
ซึ่งเป็นมาตรฐานสินค้าที่หลายประเทศในยุโรปให้การยอมรับ
การที่ไทยเพิ่งเข้าร่วมมาตรฐานนี้ ก็ทำให้การตลาดของเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทย
ตามหลังหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียที่พัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้
และวางแผนการตลาดมาตั้งแต่ช่วงปี 2533
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยจะเติบโตอย่างน่าสนใจ
และยังคงมีความต้องการจากลูกค้าต่างประเทศ
แต่ผลิตภัณฑ์ไม้ส่งออกของไทยเกือบ 1 ใน 3 ยังคงเป็นไม้แปรรูป ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มน้อยที่สุด
ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีมูลค่าสูง ไทยกลับส่งออกในสัดส่วนเพียง 15%
ถึงแม้ความต้องการไม้แปรรูป หรือไม้ไฟเบอร์บอร์ดจะเติบโตได้ดี
แต่หากสัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์ไม้ยังคงมีไม่มาก
อุตสาหกรรมไม้ของไทยก็ยังคงต้องเผชิญความท้าทาย ตั้งแต่การที่มีตลาดเพียงแห่งเดียวคือประเทศจีน และการแข่งขันด้านราคาวัตถุดิบจากประเทศคู่แข่ง
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป
ว่าไทยจะสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ได้อย่างไร
ซึ่งหากคำนึงถึงข้อได้เปรียบจากวัตถุดิบที่มีอย่างเหลือเฟือแล้ว
หากไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้มูลค่าสูง อย่างเฟอร์นิเจอร์ได้ตอบโจทย์ลูกค้าต่างประเทศ
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ ก็อาจก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นของไทยได้ในอนาคต ไม่แพ้อุตสาหกรรมยางที่ทำสำเร็จมาแล้วเช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=3&Lang=Th&ImExType=1
-https://www.scbeic.com/th/detail/product/2985
-http://www.oie.go.th/assets/portals/1/fileups/2/files/ArticlesAnalysis/rubberwood19.pdf
-https://www.raot.co.th/ewt_dl_link.php?nid=6750
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Southern/ReasearchPaper/Challenges_in_Rubberwood_Industry.pdf
-https://hub.optiwise.io/en/documents/24501/vng-ar2020.pdf
-https://www.irplus.in.th/Listed/SKN/annual/an_skn_2020.pdf
-https://www.eastcoast.co.th/wp-content/uploads/2021/04/รายงานประจำปี-2563-TH_Final.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.