สรุป DR เครื่องมือการลงทุนใหม่ ที่เราควรรู้จัก

สรุป DR เครื่องมือการลงทุนใหม่ ที่เราควรรู้จัก

17 ก.พ. 2022
สรุป DR เครื่องมือการลงทุนใหม่ ที่เราควรรู้จัก /โดย ลงทุนแมน
ที่ผ่านมา เทรนด์การไปลงทุนในต่างประเทศนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะการลงทุนในต่างประเทศไม่เพียงแต่ช่วยในเรื่องของการกระจายความเสี่ยง
แต่ยังช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุน ได้มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้นในการลงทุน
ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้น
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งเครื่องมือ
ที่จะช่วยให้เราไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น
นั่นคือ การลงทุนผ่านสิ่งที่เรียกว่า Depositary Receipt หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า DR
DR คืออะไร ทำไมจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการลงทุน ที่เราควรรู้จักในยุคนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าวันนี้เราอยากซื้อหุ้น Apple จะมีวิธีไหนบ้าง ? แน่นอนว่าวิธีที่พวกเราคุ้นเคย เช่น
- เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศกับโบรกเกอร์
- ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ไปลงทุนในหุ้น Apple
แต่รู้ไหมว่า ยังมีอีกหนึ่งวิธี
ที่ทำให้เราสามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ผ่านตลาดหุ้นของประเทศเราได้
วิธีการที่ว่านี้คือ การซื้อขายผ่านตราสารที่มีชื่อว่า Depositary Receipt หรือ “DR”
Depositary Receipt คือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ
เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้นในตลาดหุ้นของประเทศนั้น ๆ
โดยหลักทรัพย์ที่ DR ใช้อ้างอิงนั้น ไม่เพียงแต่หุ้นรายตัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกองทุน ETF ซึ่งทั้งหมดเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศ
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เหมือนเป็นการยกหุ้นต่างประเทศ มาให้ซื้อขายได้บนตลาดหุ้นไทย แต่หุ้นที่ว่านั้นจะซื้อขายในรูปแบบ “ใบรับฝาก” ที่ชื่อว่า DR นั่นเอง
โดย DR จะมีชื่อเรียกเฉพาะในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละประเทศ เช่น
- American Depositary Receipt (ADR) เป็นตราสารที่เป็นตัวแทนของหลักทรัพย์ ของบริษัทต่างประเทศที่ถูกซื้อขายในตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกา
- European Depositary Receipt (EDR) เป็นตราสารที่เป็นตัวแทนของหลักทรัพย์ ของบริษัทต่างประเทศที่ถูกซื้อขายในตลาดการเงินของยุโรป
ซึ่งต้องบอกว่า จริง ๆ แล้ว DR นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะในต่างประเทศ มีใช้กันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว
อย่างกรณีของ ADR นั้น มีการซื้อขายกันมาตั้งแต่ปี 1927 หรือกว่า 95 ปี มาแล้ว
โดยกลไกในการทำงานของ DR
คือผู้ออก DR (ซึ่งอาจจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์) เมื่อได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ในไทยคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ผู้ที่ออก DR ก็จะไปซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศดังกล่าวไว้ เพื่อใช้ออก DR แล้วนำ DR มาเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป ก่อนจะนำมาจดทะเบียนและซื้อขายผ่านตลาดหุ้น
แล้วในฐานะนักลงทุน เราจะได้ประโยชน์อย่างไร เมื่อลงทุนผ่าน DR ?
ต้องบอกว่า สิ่งที่นักลงทุนได้รับนั้น ไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นเลย
เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนใน DR ก็คือ
- กำไรจากส่วนต่างราคา (กรณีที่ราคา DR ปรับตัวขึ้น)
- เงินปันผล (กรณีที่หุ้นอ้างอิงนั้นจ่ายเงินปันผล) และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
จุดสำคัญหนึ่งที่ถือว่า เป็นผลดีต่อผู้ที่ลงทุนใน DR
คือสามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นในการซื้อขาย DR ในรูปสกุลเงินบาทได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมีภาระเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ หรือไปแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในการซื้อขาย DR จะมีตัวกลางที่เราเรียกว่า “Market Maker” ซึ่งเป็นผู้ที่นำคำสั่งซื้อจากนักลงทุนที่ซื้อ DR ไปดำเนินการซื้อหุ้นในต่างประเทศ
ดังนั้น ผู้ที่ลงทุนใน DR จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ค่าธรรมเนียมซื้อขาย จะเหมือนกับกรณีที่เราซื้อขายหุ้นทั่วไปที่เสียให้กับโบรกเกอร์
- ค่าใช้จ่ายของการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บจากเงินปันผล หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญารับฝาก DR
แล้วความเสี่ยงที่ต้องรู้ เมื่อจะลงทุนใน DR มีอะไรบ้าง ?
- ความเสี่ยงของความผันผวน ของราคาสินทรัพย์อ้างอิง
เนื่องจาก DR ใช้ราคาของสินทรัพย์ในต่างประเทศเป็นตัวอ้างอิง
เช่น ถ้าเราลงทุนใน DR ที่ใช้หุ้นของ Apple เป็นสินทรัพย์อ้างอิง เมื่อผลประกอบการของ Apple ออกมาไม่ดี ราคาหุ้น Apple ปรับตัวลง ราคา DR ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนใน DR เราก็ต้องทำการศึกษาและติดตามข่าว ผลประกอบการของสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิงด้วย
- ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
แม้เราจะลงทุนซื้อขาย DR ด้วยเงินสกุลท้องถิ่น เช่น เงินบาท
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า หุ้นที่ DR อ้างอิงนั้น จะซื้อขายด้วยเงินสกุลที่ประเทศนั้น ๆ อ้างอิงอยู่
ดังนั้น เมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมส่งผลกับราคา DR ในบ้านเรา ในบางช่วงบางเวลาได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเฉพาะตัวอื่น ๆ ของตลาดที่มี DR จดทะเบียนอยู่
เช่น หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอย่างสงคราม หรือภัยพิบัติ จนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในประเทศที่ DR จดทะเบียนอยู่ บางครั้งก็อาจส่งผลให้ราคาของ DR และหลักทรัพย์อ้างอิง ไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบันในตลาดหุ้นของไทย มี DR ที่เปิดให้ซื้อขาย คือ “E1VFVN3001” ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่มีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิง คือ VN30 ETF
โดยที่ VN30 ETF เป็นดัชนีของหุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนาม ซึ่งลักษณะจะคล้าย ๆ กับดัชนี SET 50 ของตลาดหุ้นไทย
และในเร็ว ๆ นี้ ก็จะมี DR ตัวใหม่คือ Alibaba DR ที่อ้างอิงกับหุ้นของ บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจ E-Commerce ในประเทศจีนที่เรารู้จักกันดี นั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อขายสินทรัพย์เหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.set.or.th/th/products/dr/dr_knowledge.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Depositary_receipt
-https://www.investopedia.com/terms/d/depositaryreceipt.asp
-https://www.setinvestnow.com/th/dr/benefits-of-dr
-https://www.setinvestnow.com/th/dr/what-is-dr
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.