รู้จัก Elliott Wave ศาสตร์แห่งการนับคลื่น ที่นักลงทุนสายเทคนิคชอบใช้

รู้จัก Elliott Wave ศาสตร์แห่งการนับคลื่น ที่นักลงทุนสายเทคนิคชอบใช้

22 ก.พ. 2022
รู้จัก Elliott Wave ศาสตร์แห่งการนับคลื่น ที่นักลงทุนสายเทคนิคชอบใช้ /โดย ลงทุนแมน
ธรรมชาติของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงราคาหุ้น จะมีการขึ้นและลงของกราฟ จนเกิดเป็นคลื่นวัฏจักร
ซึ่งในแวดวงการลงทุนสายเทคนิค ก็ได้มีการพัฒนาทฤษฎีขึ้นมา เพื่อใช้แปลความหมายของคลื่นเหล่านั้น
โดยหนึ่งในทฤษฎีที่นิยมใช้งานกันในปัจจุบันและใช้ได้กับทุกสินทรัพย์ก็คือ “Elliott Wave” อ่านว่า เอลเลียตเวฟ โดยมีการต่อยอดมาจากทฤษฎีรุ่นพี่ ที่มีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี อย่าง Dow Theory
แล้วหลักการของเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับ Dow Theory กันก่อน
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนและมีความคล้ายคลึงกับ Elliott Wave
Dow Theory ถูกคิดค้นโดย Charles Henry Dow ผู้ก่อตั้งธุรกิจหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal
และบริษัท Dow Jones & Company ที่ได้คิดค้นดัชนีดาวโจนส์ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
โดยหลักการของ Dow Theory มาจากการเปรียบเทียบการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ เหมือนระลอกคลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่ง อธิบายแนวคิดของทฤษฎีนี้แบบง่าย ๆ ก็คือ
หากแพตเทิร์นราคาสินทรัพย์อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ระยะทางที่ราคาวิ่งขึ้นจะยาวกว่า ระยะทางที่ราคาตกลง
หากเป็นแนวโน้มขาลง ระยะทางที่ราคาวิ่งลงก็จะยาวกว่า ระยะทางที่ราคาปรับตัวขึ้น
หรือก็คือกราฟขาขึ้น จะทำจุดสูงสุดในครั้งถัดไป สูงกว่าจุดก่อนหน้าอยู่เสมอ
ในขณะที่ขาลงก็จะทำจุดต่ำสุดในครั้งถัดไป ต่ำกว่าจุดก่อนหน้า เช่นกัน

ไม่ต่างอะไรจากระลอกของคลื่นในช่วงน้ำทะเลขึ้นและช่วงน้ำทะเลลง
และเมื่อทฤษฎีนี้กลายเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วในหมู่นักลงทุน ต่อมาในปี 1930 ก็เป็นช่วงเวลาถือกำเนิดของทฤษฎี Elliott Wave ซึ่งมีหลักการคล้ายคลึงกัน
จนหลายคนเชื่อกันว่า Elliott Wave ที่คิดค้นโดย Ralph Nelson Elliott นักบัญชีชาวอเมริกัน ถูกต่อยอดมาจาก Dow Theory
โดย Elliott Wave คือทฤษฎีที่อธิบายถึงการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการซื้อขายของคนหมู่มาก
ที่มีทั้งอารมณ์และหลักการทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของนักลงทุนในตลาด จนได้กราฟที่มีลักษณะเป็นคลื่นประกอบกันเป็นวัฏจักรของราคา
ซึ่ง Elliott Wave แบ่งการขึ้นลงของราคาเป็น 2 ช่วงหลัก คือ
1. Impulse Wave
2. Correction Wave
ตามรูปแบบของกราฟก็คือ ระลอกขาขึ้น และระลอกขาลง
เริ่มกันที่ Impulse Wave
Impulse Wave หรือระลอกขาขึ้น จะประกอบไปด้วยการปรับขึ้นลงของราคาจำนวน 5 ครั้ง
โดยคลื่นลูกที่ 1, 3 และ 5 จะเป็นการปรับตัวขึ้น
คลื่นลูกที่ 2 และ 4 เป็นการปรับตัวลง
แล้วแต่ละคลื่น มีลักษณะเฉพาะตัวอย่างไร ?
- คลื่นลูกที่ 1 เป็นคลื่นลูกแรกที่ปรับตัวขึ้น และจะเริ่มนับจากการปรับฐานราคา มาจากขาลงครั้งก่อนหน้า
- คลื่นลูกที่ 2 เป็นการย่อตัวลง แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของคลื่นลูกที่ 1
- คลื่นลูกที่ 3 จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อตลาดมีความมั่นใจแล้ว ส่วนใหญ่แล้วคลื่นลูกนี้ จะมีระยะการปรับตัวของราคา “ยาวที่สุด” หรือก็คือ ต้องมีความยาวของคลื่นไม่น้อยกว่าคลื่นลูกที่ 1 และลูกที่ 5
- คลื่นลูกที่ 4 เป็นการย่อตัวลง แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าจุดสูงสุดของคลื่นลูกที่ 1
- คลื่นลูกที่ 5 จะเป็นคลื่นขาขึ้นคลื่นสุดท้าย
ทีนี้มาดู Correction Wave หรือระลอกขาลง กันบ้าง ว่ามีลักษณะอย่างไร
Correction Wave จะมีการปรับขึ้นลงของราคาจำนวน 3 ครั้ง
แทนด้วยคลื่น a, b และ c คือ คลื่น a และ c จะเป็นการปรับตัวลดลง
และมีคลื่น b ซึ่งเป็นการพักตัวและปรับขึ้นเล็กน้อย
มีจุดสังเกตเล็กน้อยของ Correction Wave คือ คลื่น b ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นจากคลื่น a
จะไม่สามารถปรับตัวไปได้สูงกว่าจุดสูงสุด ของคลื่นลูกที่ 5 ในระลอกขาขึ้น
อีกข้อหนึ่งที่ต้องคิดไว้เสมอคือ ในคลื่นแต่ละระลอก ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง
อาจจะประกอบด้วย “คลื่นย่อยจำนวนมาก” ทำให้เกิดความยากในการหาระลอกของคลื่นได้
อย่างเช่น ในช่วงการปรับตัวขึ้นของคลื่นลูกที่ 3 ในระลอกขาขึ้น อาจจะประกอบไปด้วยคลื่นเล็ก ๆ จำนวนมาก ก็เป็นได้
หรืออีกกรณีคือ เราอาจจะเจอการก่อตัวของคลื่นระลอกขาขึ้น หรือคลื่นลูกที่ 1 ถึง 5 ในช่วงเวลา 1 เดือน
แต่เมื่อลองมองภาพที่ใหญ่ขึ้นเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี กลับพบว่า กลุ่มคลื่นดังกล่าวเป็นเพียงกลุ่มคลื่นเล็ก ๆ ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมาก หรืออาจจะยังก่อตัวไม่เป็นรูปร่างก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะทราบแนวโน้มของกราฟ ว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง จากการวิเคราะห์โดยใช้ Elliott Wave แต่สิ่งหนึ่งที่ทฤษฎีนี้ไม่ได้บอกไว้เลย ก็คือการขึ้นลงของกราฟแต่ละช่วง จะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน
นั่นจึงทำให้เหล่านักลงทุน ต้องพึ่งพาเครื่องมือทางเทคนิคอื่น ๆ ในการกำหนดจุดซื้อขายเพิ่มเติม
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นิยมนำมาจับคู่กับ Elliott Wave เพื่อหาจุดซื้อหรือขายในกราฟ
อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงพอเข้าใจ Elliott Wave มากขึ้น
ว่าหมายถึงอะไร และแต่ละคลื่นมีรายละเอียดอะไรบ้าง
สำหรับการจะนำไปใช้งานจริงนั้น เราอาจต้องฝึกฝนบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญในเครื่องมือ
เพราะในความเป็นจริงแล้ว Elliott Wave ยังมีกฎและเงื่อนไขอีกมาก ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยและยังไม่ได้กล่าวถึง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Elliott Wave ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่เหล่านักลงทุนสายเทคนิคนิยมใช้งานกัน
ซึ่งหลายครั้งที่กว่าจะรู้ว่าคลื่นนั้น เป็นคลื่นลูกที่เท่าไร ก็มาเฉลยในตอนที่ทุกอย่างมันผ่านไปแล้ว
และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น บ่อยครั้งที่คนจะกล่าวโทษว่า เป็นความผิดพลาดของผู้ใช้งานเอง มากกว่าความแม่นยำของตัวทฤษฎี..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.investopedia.com/articles/technical/111401.asp#citation-13
-https://www.tradingview.com/ideas/elliottwaves/
-https://www.logikfx.com/post/elliott-waves
-https://en.wikipedia.org/wiki/Elliott_wave_principle
-https://www.investopedia.com/terms/d/dowtheory.asp#:~:text=What%20Is%20the%20Dow%20Theory,advance%20in%20the%20other%20average.
-https://www.investopedia.com/articles/financial-theory/08/charles-dow.asp#citation-2
-https://en.wikipedia.org/wiki/Ralph_Nelson_Elliott
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.