เราต้องรู้อะไรบ้างในดีล SCBX ที่จะมีการแลกหุ้น ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

เราต้องรู้อะไรบ้างในดีล SCBX ที่จะมีการแลกหุ้น ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

2 มี.ค. 2022
เราต้องรู้อะไรบ้างในดีล SCBX ที่จะมีการแลกหุ้น ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทย /โดย ลงทุนแมน
ปลายปีที่แล้ว หนึ่งในความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่สุดในตลาดหุ้นไทย คงหนีไม่พ้นการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้ประกาศเตรียมเพิกถอนตัวเองออกจากตลาด เพื่อแลกหุ้นบริษัทใหม่ ชื่อว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ หรือ “SCBX” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ด้วยความที่ปัจจุบัน SCB เป็น 1 ใน 10 บริษัท ที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าบริษัท 440,000 ล้านบาท ทำให้ดีลดังกล่าว จะกลายเป็นการแลกหุ้น ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ภายในปีนี้
แล้วเรื่องที่เราต้องรู้เกี่ยวกับ SCBX มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเลย เรามาดูกันว่า SCBX ต่างจาก SCB อย่างไร
เดิมที SCB มีธุรกิจหลักเป็นธนาคาร
- รายได้หลักมาจากการปล่อยกู้
- ต้นทุนหลักมาจากดอกเบี้ยเงินฝาก
และมีธุรกิจอื่น ๆ อีก เช่น ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจการขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร
แต่ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมาโดยตลอด
ที่เห็นได้ชัดก็คือ วิวัฒนาการของแอปพลิเคชัน SCB EASY ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 13 ล้านบัญชี
คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศไทย ปริมาณธุรกรรมเติบโตขึ้น มากถึง 120% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ก็ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่แทบไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารเลย
ไม่ว่าจะเป็น SCB 10X ที่ดำเนินธุรกิจหรือเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เท่านั้น
หรือการให้บริการแพลตฟอร์มในธุรกิจ Food Delivery เพื่อช่วยร้านเล็ก ๆ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา อย่างแอปพลิเคชัน Robinhood ที่กำลังจะขยายตัวตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์อื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว และสั่งซื้อของ
สำหรับดีลที่เป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดเลย ก็คือ ดีลเข้าซื้อแพลตฟอร์มด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ใหญ่สุดในประเทศไทยอย่าง Bitkub Online มูลค่า 17,850 ล้านบาท แลกกับหุ้น 51% โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ในเครืออย่าง SCBS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงกลายมาเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องจัดตั้ง SCBX ขึ้น
เหตุผลสำคัญก็เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการจัดสรรเงินทุน และเพื่อเป็นการปลดล็อกมูลค่ากิจการในเครือที่ในวันนี้ไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจธนาคาร
และนั่นก็หมายความว่า SCBX มีแนวโน้มที่จะนำธุรกิจในเครือ เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการทำ IPO เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเติมในอนาคต
โดยโครงสร้างใหม่ของกลุ่มได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้แต่ละบริษัทย่อยมีอิสระในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยตนเอง รวมถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจ
พูดง่าย ๆ ก็คือ SCBX จะกลายมาเป็นธุรกิจโฮลดิง โดยจะเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ หรือที่ทางบริษัทจำกัดความตัวเองว่าเป็น “ยานแม่” ที่เป็นผู้ที่กำหนดกลยุทธ์หลักของกลุ่ม และบริหารการกำกับดูแลบริษัทต่าง ๆ
จากเดิมที่เป็นหน้าที่ของธนาคารไทยพาณิชย์ มุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค โดยโครงสร้างธุรกิจใหม่ จะแบ่งออกเป็น
- ธุรกิจ Cash Cow หรือเครื่องจักรผลิตเงินสด นั่นก็คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกัน
- ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง เช่น ธุรกิจเทคโนโลยี และแพลตฟอร์ม
จะเห็นได้ว่าภายหลังจากดีลแลกหุ้น ธุรกิจธนาคารจะเป็นเพียงหนึ่งในหลายธุรกิจของ SCBX เท่านั้น ซึ่งบริษัทก็จะมีการถือหุ้นในอีกหลายธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น
- Card X เพื่อดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
- Auto X ธุรกิจปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถ
- SCB Securities ทำธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่ง SCB Securities จะถือหุ้นใน Token X ที่ดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึง Bitkub ก็จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทแห่งนี้
- Purple Ventures ที่ทำธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารชื่อ Robinhood ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี
- AISCB บริษัทร่วมทุนกับเอไอเอส เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล
- Alpha X บริษัทร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจ มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ รองรับลูกค้ากลุ่มพรีเมียม-ลักชัวรี
ทีนี้คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วผู้ที่ถือหุ้น SCB อยู่ ควรทำอย่างไร ?
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ผู้ถือหุ้น SCB ต้องเข้าสู่กระบวนการแลกหุ้น
อ้างอิงจากกำหนดการเดิมเมื่อปลายปีก่อนที่บริษัทได้แจ้งเอาไว้ ก็มีแนวโน้มสูงที่ทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ปัจจุบัน SCB มีผู้ถือหุ้นรายย่อยราว 74,000 บัญชี แบ่งออกเป็น
- ผู้ถือหุ้นที่ไม่มีใบหุ้น 95%
กลุ่มนี้ สามารถติดต่อโบรกเกอร์ที่เราเปิดบัญชีหุ้นได้โดยตรง เพื่อยื่นเรื่องขอทำการแลกหุ้น
- ผู้ถือหุ้นที่มีใบหุ้น 5%
กลุ่มนี้ จำเป็นที่จะต้องนำใบหุ้น เข้าติดต่อกับธนาคารด้วยตัวเอง
สำหรับรายละเอียดคำเสนอซื้อ หรือ Tender Offer หุ้นทั้งหมดของ SCB
กับผู้ถือหุ้น เพื่อแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCBX
ในอัตราแลกหลักทรัพย์
เท่ากับ 1 หุ้นสามัญ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX
และ 1 หุ้นบุริมสิทธิ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX
โดยกระบวนการแลกหุ้น จะทำได้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ถึง 18 เมษายน ปีนี้
ทีนี้ ถ้าถามว่าหากเราเป็นผู้ถือหุ้น แต่ไม่ได้ทำการแลกหุ้น จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
จากเหตุการณ์ในอดีตที่คล้ายกัน
เคยมีกรณีของหุ้นห้างโรบินสัน หรือ ROBINS ที่มูลค่าลดลงมากถึง 59% ภายในเดือนเดียวในช่วงก่อนหน้าที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่ได้เปิดให้มีกระบวนการแลกหุ้นกับ CRC
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยในตอนนั้นกลุ่มเซ็นทรัลจะนำ CRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ และ CRC ก็ถือหุ้น ROBINS อยู่ด้วย ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจดทะเบียน 2 บริษัทในตลาดหุ้น กลุ่มเซ็นทรัลก็เลยเลือกที่จะเพิกถอน ROBINS ออกจากตลาดหลักทรัพย์
ทีนี้ วันสุดท้ายของการเปิดให้แลกหุ้น ดันจบก่อนวันที่ ROBINS จะถูกเพิกถอนออกจากตลาด ทำให้ผู้ถือหุ้น ROBINS ที่ไม่รู้แลกหุ้นไม่ทัน แต่ไม่อยากถือหุ้นต่อจึงเทขาย ราคาหุ้นจึงลดลง
แล้วถ้าถามว่าการถือหุ้นนอกตลาด มีข้อเสียเปรียบกว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างไร ?
เรื่องแรกเลยก็คือ “สภาพคล่อง” ในการซื้อขายหุ้นจะแทบไม่มีเลย
เนื่องจากเราไม่รู้จะไปขายหุ้นให้ใคร ต่างจากที่เรากดหน้าจอซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้
เรื่องถัดมาก็คือ หากเราขายหุ้นนอกตลาด ถ้าเรามีกำไร เราก็ต้องมีการเสียภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้นอีกด้วย
ซึ่งถ้าผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ก็จะทำให้เกิดขั้นตอนที่ยุ่งยาก
โดยฝั่งผู้ซื้อหุ้น ก็ต้องคำนวณกำไรและหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร
ในขณะที่ฝั่งผู้ขาย ก็มีหน้าที่นำกำไรจากการขายหุ้น ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี เช่นกัน
ซึ่งเรื่องการแลกหุ้นของ SCBX กับ SCB ครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น ก็จะคล้ายกับกรณีของ CRC และ ROBINS ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็เป็นสรุปดีลทั้งหมดของ SCBX
ตั้งแต่การแลกหุ้นว่าแลกไปทำไม
การปรับโครงสร้างใหม่ ทำไปเพราะอะไร
และเราจะเจอกระบวนการอะไรบ้าง ถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้นของ SCB
ก็เรียกได้ว่าเป็นอีกเรื่องที่นักลงทุนไทย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้น SCB ควรรู้และควรติดตาม และเมื่อมีข้อมูลการแลกหุ้นเปิดเผยออกมา จะได้ตัดสินใจได้ทัน
สำหรับคนที่ไม่ติดตาม ก็อาจมีความเสี่ยง
ที่กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็ถือหุ้น SCB เดิมนอกตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่รู้จะขายต่อให้ใคร ไปเรียบร้อยแล้ว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.