ราคาน้ำมันสูง โรงกลั่น จะได้ประโยชน์หรือไม่ ?

ราคาน้ำมันสูง โรงกลั่น จะได้ประโยชน์หรือไม่ ?

9 มี.ค. 2022
ราคาน้ำมันสูง โรงกลั่น จะได้ประโยชน์หรือไม่ ? /โดย ลงทุนแมน
สถานการณ์ราคาน้ำมันในตอนนี้กำลังเป็นประเด็นน่าจับตา
เห็นได้จากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่พุ่งแรงจนทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี
พอพูดแบบนี้ หลายคนคงคิดว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ก็คงไม่พ้น บริษัทในอุตสาหกรรมพลังงาน
และสำหรับธุรกิจโรงกลั่นนั้น หลายคนอาจคิดว่า คงเป็นธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์ ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันกำลังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือนในตอนนี้
แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เมื่อพูดถึงธุรกิจน้ำมันนั้น เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ
- กลุ่มต้นน้ำ (Upstream) เช่น ธุรกิจการสำรวจน้ำมันและปิโตรเลียม
- กลุ่มกลางน้ำ (Midstream) เช่น การจัดเก็บ การขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
- กลุ่มปลายน้ำ (Downstream) เช่น การกลั่นน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป รวมไปถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังลูกค้าผ่านไปยังปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
จะเห็นว่า ธุรกิจโรงกลั่นนั้น จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มปลายน้ำในอุตสาหกรรมนี้
โดยในปี 2020 นั้น กำลังการผลิตรวมของโรงกลั่นทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 101.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือ โรงกลั่นชื่อว่า แจมเนการ์ ที่ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเจ้าของโรงกลั่นแห่งนี้ก็คือ Reliance Industries เป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย
สำหรับในประเทศไทย ณ สิ้นปี 2564
มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่จำนวน 6 ราย
โดยมีกำลังการกลั่นน้ำมันรวมในประเทศ ทั้งหมดประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1.2% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่นทั่วโลก
ประเด็นคือ หลายคนอาจคิดว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรงกลั่นน่าจะได้รับผลประโยชน์ แต่เรื่องนี้อาจไม่จริงเสมอไป..
เพราะต้องไม่ลืมว่า ต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญของโรงกลั่นคือ “ราคาน้ำมันดิบ”
หมายความว่า การที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของโรงกลั่นนั้นเพิ่มสูงตามไปด้วย
เมื่อน้ำมันดิบถูกส่งเข้าโรงกลั่นแล้ว จะกลั่นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ
เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล, น้ำมันก๊าด, น้ำมันหล่อลื่น, ยางมะตอย
ราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ ที่โรงกลั่นน้ำมันผลิตได้ เมื่อนำมารวมกันและหักออกจากต้นทุนรวมต่อการกลั่นน้ำมัน ที่ประกอบไปด้วยราคาน้ำมันดิบ รวมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการนำเข้า
จะได้เป็น “Gross Refining Margin”
Gross Refining Margin เป็นตัวบ่งบอกทิศทางอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงกลั่น
ยิ่งค่าการกลั่นรวมยิ่งสูง หมายความว่า โรงกลั่นน้ำมันสามารถทำกำไรได้ดีขึ้น
จากตรงนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือ
ถ้าราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงเร็ว ทำให้ต้นทุนรวมต่อการกลั่นน้ำมันนั้นเพิ่มขึ้น แต่หากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น ปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่ทันราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น
ส่วนต่างของค่าการกลั่นรวมอาจจะลดลง จนทำให้โรงกลั่นน้ำมันทำกำไรได้น้อยลง
ในทางกลับกัน ในบางกรณีราคาน้ำมันดิบที่ลดลงนั้น กลับส่งผลดีต่อโรงกลั่นมากกว่า
เพราะต้นทุนน้ำมันดิบนั้นลดลง และถ้าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปลดลงช้ากว่า ในกรณีนี้จะทำให้ค่าการกลั่นรวมเพิ่มขึ้นได้ด้วย
ดังนั้น พอเรื่องเป็นแบบนี้ สถานการณ์ที่ดีที่สุดของธุรกิจโรงกลั่น จะเกิดขึ้นในช่วงที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ จากโรงกลั่นอยู่ในระดับสูง จนทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนของโรงกลั่นนั้น อยู่ในระดับต่ำ เพราะสถานการณ์แบบนี้ จะทำให้โรงกลั่นมีค่าการกลั่นมากที่สุดเมื่อเทียบกับในสถานการณ์อื่น ๆ นั่นเอง
และนั่นก็หมายความว่า ราคาน้ำมันที่สูงนั้นก็อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อโรงกลั่นเสมอไป นั่นเอง
และทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมว่า
นอกจากต้นทุนราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรของโรงกลั่นแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำกำไรของโรงกลั่น
เช่น ประเภทของโรงกลั่น รวมไปถึงอัตราการใช้กำลังการผลิต
หรือแม้แต่โรงกลั่นแบบเดียวกัน ซื้อต้นทุนราคาน้ำมันดิบเท่ากัน แต่ใช้กำลังการผลิตที่แตกต่างกัน ก็ทำให้มีค่าการกลั่นที่แตกต่างกันได้เช่นกัน
เนื่องจากโรงกลั่นที่ใช้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยสูงกว่า จะสามารถให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้ในปริมาณมากกว่า
ขณะที่ต้นทุนคงที่อย่างอื่น เช่น ค่าบำรุงรักษาสถานที่ ค่าใช้จ่ายพนักงาน อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ทำให้รายได้ส่วนเพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ จึงจะไหลลงไปเป็นกำไร นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำกำไรของธุรกิจโรงกลั่นไปบ้างไม่มากก็น้อย
และถ้าในอนาคตมีคนมาบอกเราว่า ตอนที่ราคาน้ำมันสูง โรงกลั่นน้ำมันจะได้ประโยชน์
เราก็สามารถบอกได้ว่า มันก็อาจไม่แน่เสมอไป..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะอยู่ที่อินเดีย แต่ถ้าถามว่า ประเทศไหนที่มีกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่นมากที่สุดในโลก ?
คำตอบก็คือ “สหรัฐอเมริกา”
โดยในปี 2020 สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่นสูงถึง 19.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ซึ่งคิดเป็น 19 เท่า ของกำลังการผลิตในไทย
และเป็นสัดส่วน 19% ของกำลังการผลิตรวม ของโรงกลั่นทั่วโลก เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.investopedia.com/articles/active-trading/102214/difference-between-oil-services-and-refiners.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Oil_refinery
-https://en.wikipedia.org/wiki/Jamnagar_Refinery
-แบบแสดงรายการข้อมูล ปี 2564, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
-https://www.mckinseyenergyinsights.com/resources/refinery-reference-desk/gross-margin/
-https://sbr.com.sg/markets-investing/news/sg-refining-margins-rise-3-4-barrel-in-2022-moodys
-https://www.fool.com/investing/stock-market/market-sectors/energy/oil-stocks/refinery-stocks/
-https://www.iea.org/reports/key-world-energy-statistics-2020/transformation
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.