สรุป “ความเสี่ยง” ทุกรูปแบบ ที่หุ้นทุกตัว ต้องเจอ

สรุป “ความเสี่ยง” ทุกรูปแบบ ที่หุ้นทุกตัว ต้องเจอ

10 มี.ค. 2022
สรุป “ความเสี่ยง” ทุกรูปแบบ ที่หุ้นทุกตัว ต้องเจอ /โดย ลงทุนแมน
สำหรับการลงทุนในหุ้น สิ่งที่อยู่คู่กับผลตอบแทนก็คือ ความเสี่ยง
ไม่ว่าเราจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่คาด หรือการได้กำไรมากกว่าที่คิด
ก็ย่อมมีส่วนผสมของความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น
บางคนอาจจะเลือกความเสี่ยงมาก ๆ เพื่อลุ้นเอากำไรเยอะ เพราะเคยได้ยินประโยคคลาสสิกมาว่า “High Risk High Return”
ในขณะที่บางคนยอมได้ผลตอบแทนน้อย แลกกับความเสี่ยงที่ต่ำลงมา
แล้วในทางทฤษฎีแล้ว ความเสี่ยงที่หุ้นทุกตัวต้องเผชิญ มีอะไรบ้าง
เราจะพอมีวิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านั้น ได้บ้างหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในวิชาการเงิน ความเสี่ยงของหุ้นถูกแบ่งได้อย่างกว้าง ๆ 2 แบบ คือ
- ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic Risk)
- ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (Unsystematic Risk)
“ถ้าหากอยู่ในกระแสลมแรง แม้แต่หมูก็ยังบินได้”
ประโยคดังกล่าว เป็นคำเปรียบเปรยของคุณ Lei Jun ประธานบริษัท Xiaomi
ซึ่งสามารถนำมาอธิบายความหมายของ ความเสี่ยงที่เป็นระบบ ได้เป็นอย่างดี
หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ความเสี่ยงที่เป็นระบบ ก็คือ ความเสี่ยงที่กระทบกับหุ้นทุกตัวในขณะนั้น
ไม่ว่าบริษัทจะทำธุรกิจอะไร มีพื้นฐานดีหรือแย่แค่ไหน จนในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk)” ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ความเสี่ยงประเภทนี้ มักจะเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจทั้งโลก หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ
เช่น สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย, วิกฤติเศรษฐกิจ หรือการเกิดโรคระบาด
แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563 ก็เช่นกัน
ในตอนนั้นดัชนี SET ของไทยร่วงจาก 1,473 จุด เหลือ 1,129 จุด
ปรับตัวลดลงมากกว่า 23% ภายใน 3 สัปดาห์
ขณะที่ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกาก็ร่วงจาก 3,257 จุด เหลือ 2,305 จุด
ปรับตัวลดลงมา 29% ภายใน 4 สัปดาห์
เรียกว่าในช่วงนั้น ไม่มีหุ้นตัวไหนที่หนีจาก “ความเสี่ยงด้านตลาด” ไปได้เลย
นอกจากโรคระบาดแล้ว นโยบายทางการเงินและการปรับขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ย
ก็รวมอยู่ใน “ความเสี่ยงด้านตลาด” ด้วย ซึ่งในบางครั้ง ก็ให้ผลลัพธ์เป็นบวก ได้เช่นกัน
จะเห็นได้จากตอนที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ QE และจะคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ
ดัชนี S&P 500 ก็เดินหน้าบวกต่อเนื่อง จาก 2,290 จุดในเดือนมีนาคม ขึ้นสู่ 4,605 จุดในเดือนตุลาคม หรือมากกว่า 100% ภายใน 7 เดือนเท่านั้น จนหลายคนถึงกับบอกว่า ในช่วง 7 เดือนนี้ เลือกหุ้นตัวไหนก็กำไรไปเสียหมด
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองย้อนไปที่พอร์ตการลงทุนของตัวเอง
แล้วก็น่าจะเกิดคำถามว่า ทำไมหุ้นที่เราถืออยู่ ไม่เห็นบวก 100% อย่างที่ว่าเลย ?
ที่เป็นแบบนั้นก็อาจจะเป็นเพราะว่าความเสี่ยงอีกประเภท ที่มีชื่อว่า “ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ”
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ความเสี่ยงเฉพาะตัวของหุ้น หรือเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม หรือเฉพาะในแต่ละประเทศ
ตัวอย่างความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ก็เช่น Regulatory Risk หรือ “ความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลที่กระทบกับบางธุรกิจ”
อย่างที่เห็นชัดที่สุดในปี 2021 ก็คงเป็นตัวอย่างของประเทศจีน ที่มีนโยบายป้องกันการผูกขาด
รวมถึงลงดาบปรับเงินบริษัทขนาดใหญ่ของจีนอย่างมหาศาล
ส่งผลให้หุ้นของบริษัท Alibaba, Tencent, Meituan ถูกเทขาย
มูลค่าบริษัทต่างร่วงลง 50% ถึง 60% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ภายหลังการประกาศนโยบาย
อีกตัวอย่างจากนโยบายรัฐบาลจีน ก็คือการออกกฎให้สถาบันกวดวิชา
เปลี่ยนเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร ก็ได้ทำให้หุ้นในกลุ่มธุรกิจติวเตอร์
อย่าง New Oriental และ TAL ร่วงลงมากกว่า 90% เช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม หากเป็นนโยบายสนับสนุนธุรกิจ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกิจพลังงานสะอาด หุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก พลังงานไฟฟ้า ก็อาจจะปรับตัวขึ้นได้ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกเหนือจากความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลแล้ว
อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ก็คือ Business Risk หรือ “ความเสี่ยงด้านธุรกิจ”
ตัวอย่างเช่น
- ความเสี่ยงจากโมเดลธุรกิจ เช่น บริษัทประกันภัย ที่อาจจะคำนวณความคุ้มค่าระหว่างเบี้ยประกันกับวงเงินชดเชยอย่างไม่สมดุลกัน จนทำให้เกิดผลขาดทุนมหาศาล
- ความเสี่ยงจากคู่แข่งทางธุรกิจ เช่น Meta เจ้าของ Facebook หรือ Netflix ที่ถูกแพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง TikTok เข้ามาแย่งเวลา และดึงความสนใจจากผู้ใช้งาน จนยอดผู้ใช้งานทั้ง Facebook และ Netflix มีการเติบโตชะลอตัวลง
- หรือต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบและค่าจ้างพนักงาน เช่น Starbucks ที่แม้จะเป็นบริษัทที่มีอำนาจต่อรองสูง แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านต้นทุนเมล็ดกาแฟที่เพิ่มขึ้นได้เลย
ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น
เพราะในหลายธุรกิจยังมี Financial Risk หรือ “ความเสี่ยงด้านการเงิน” ด้วย
โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงไม่นานมานี้ เกิดขึ้นกับ China Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E Ratio สูงถึง 5 เท่า
จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนเสียความเชื่อมั่น และราคาหุ้นก็ร่วงไปถึง 90% จากจุดสูงสุด
นอกจากนั้นแล้ว ความเสี่ยงด้านการเงินก็ยังครอบคลุมไปถึงการบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสดด้วย
ซึ่งในช่วงวิกฤติโควิด 19 ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องกลายมาเป็นจุดวัดกึ๋นของแต่ละบริษัทเลยว่า ในวันที่บริษัทมีรายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ทุกวัน ผู้บริหารจะมีวิธีบริหารจัดการ ให้บริษัทผ่านวิกฤติไปได้อย่างไร
โดยความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะถูกนำมาประเมินสุขภาพด้านการเงิน ออกมาเป็นเครดิตเรตติงของบริษัท
ซึ่งหากเรตติงไม่ดี มันก็จะวนกลับมาทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมมาขยายธุรกิจสูงขึ้น
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบนี้ จะเกิดขึ้นกับเฉพาะบางบริษัทเท่านั้น
และก็มีทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบ ต่างกันไปตามแต่ละสถานการณ์
แล้วมีวิธีไหนบ้าง ที่เราจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ ?
หนึ่งในวิธีที่ถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างก็คือ “การกระจายการลงทุน”
เพราะในทางทฤษฎีแล้ว การกระจายการลงทุนหลายตัว (อย่างน้อย 15 ถึง 20 ตัว)
เราจะสามารถลดความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ หรือความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละบริษัทได้มากพอ
และเหลือไว้เพียงแค่ความเสี่ยงด้านตลาดเท่านั้น ที่อย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงมันไม่ได้
การที่กระจายการลงทุน แล้วสามารถลดความเสี่ยงเฉพาะตัวได้ ก็เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ใดกระทบกับธุรกิจหนึ่ง มันก็จะไม่ได้ส่งผลกระทบกับอีกธุรกิจที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนของเรา ทำให้ความเสี่ยงนั้นถูกจำกัดให้น้อยลงมาก
ตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นของบริษัทที่ได้รับผลกระทบ ราคาลดลงไปครึ่งหนึ่ง แต่เราถือหุ้นตัวนั้นไม่ถึง 5% ของพอร์ต หุ้นตัวนั้นก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนของเรา มีมูลค่าลดลงไม่เกิน 2.5% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การกระจายการลงทุน ต้องกระจายไปในธุรกิจที่ไม่สัมพันธ์กัน ไม่เช่นนั้นถ้าเราลงทุนในธุรกิจคล้ายกัน ก็จะพากันล้มหมด ถ้ามีเรื่องใดกระทบกับอุตสาหกรรมนั้น
และถึงแม้ว่าเราจะกระจายการลงทุน เราก็ไม่ควรกระจายมากเกินไป
ไม่เช่นนั้น เราก็จะขาดการโฟกัสในแต่ละธุรกิจ ทำให้เราเลือกธุรกิจที่ไม่ดีเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุน ซึ่งมันอาจจะแย่กว่า การยอมไม่กระจาย แต่เน้นลงทุนเฉพาะธุรกิจดี ๆ ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.investopedia.com/terms/s/systematicrisk.asp
-https://www.investopedia.com/terms/u/unsystematicrisk.asp
-https://www.investopedia.com/terms/d/diversification.asp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.