ซื้อหุ้นพื้นฐานดี “ไม่ได้เป็น การลงทุนที่ดีเสมอไป” ฟองสบู่ Nifty 50

ซื้อหุ้นพื้นฐานดี “ไม่ได้เป็น การลงทุนที่ดีเสมอไป” ฟองสบู่ Nifty 50

16 มี.ค. 2022
ซื้อหุ้นพื้นฐานดี “ไม่ได้เป็น การลงทุนที่ดีเสมอไป” ฟองสบู่ Nifty 50 /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงคำว่า “ฟองสบู่” ในโลกของการลงทุนแล้ว
หลายคนอาจนึกย้อนไปถึง ฟองสบู่ดอตคอม ที่เกิดขึ้นในปี 2000
ฟองสบู่ครั้งนั้น มีสาเหตุมาจากความคาดหวังในหุ้นกลุ่มอินเทอร์เน็ต ที่เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนทำให้หลายคนมองภาพว่าฟองสบู่ส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นกับธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยี
แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงทศวรรษ 1970 โลกของเราเคยเกิดฟองสบู่ ที่ชื่อว่า “Nifty 50”
ซึ่งเกิดขึ้นจากบริษัทที่ธุรกิจมีความมั่นคงสูง
ไม่ว่าจะเป็น The Walt Disney Company หรือ The Coca-Cola Company
แล้วทำไมธุรกิจพื้นฐานดี มีรายได้และกำไรที่เติบโตชัดเจน
ถึงยังสามารถเกิดเป็นฟองสบู่ได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของฟองสบู่หุ้นพื้นฐานดี Nifty 50 นั้น
เราก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 1962
ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากที่ “ฟองสบู่ Tronics” เพิ่งแตกไป
โดยฟองสบู่ Tronics เกิดขึ้นจากหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ในช่วงนั้น
คล้ายกับฟองสบู่ดอตคอม ที่หากชื่อของบริษัทใดก็ตาม มีคำว่า “.com” อยู่
บริษัทนั้น ก็จะได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุน ขึ้นมาในทันที
ฟองสบู่ Tronics ก็เป็นเช่นเดียวกัน
บริษัทใดก็ตามที่มีคำว่า “Tronics” ก็จะดึงดูดความสนใจ
ของกลุ่มนักลงทุน และนักเก็งกำไรได้ง่ายเป็นพิเศษ
เมื่อมีแต่คนแห่เข้าไปซื้อหุ้นในกลุ่มนี้
ในที่สุดฟองสบู่ Tronics ก็ได้แตกลงในระยะเวลาเพียง 3 ปี
ส่งผลให้ผู้คนต่างพากันผิดหวังในธุรกิจกลุ่มนี้ เป็นอย่างมาก
ในทางกลับกัน หุ้นของบริษัทที่มีธุรกิจผลิตสินค้าในชีวิตประจำวัน
หรือเป็นเจ้าของแบรนด์คุ้นหู กลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น
- The Procter & Gamble Company หรือ P&G
ที่มีธุรกิจขายของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, แชมพู
- The Walt Disney Company
ที่ในเวลานั้นมีรายได้หลักมาจากการให้เช่าภาพยนตร์และเปิดให้บริการสวนสนุก
- Gillette ที่มีธุรกิจขายใบมีดโกนหนวด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ หลายคนจึงเริ่มเกิดความคิดว่า ทำไมเราไม่หันมาลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอไปเลย เพราะแม้การเติบโตจะไม่หวือหวามาก แต่ก็แลกมาด้วยความมั่นคง
ซึ่งเราจะเรียกหุ้นกลุ่มนี้ว่า “Nifty 50”
โดยหุ้นในกลุ่ม Nifty 50 จะประกอบไปด้วยหุ้น 50 ตัวที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่
หรือที่หลายคนเรียกกันว่า หุ้น Blue Chip
เกือบทั้งหมดยังเป็นเจ้าของแบรนด์ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน
มีผลประกอบการที่ดี มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างหุ้นของบริษัท เช่น The Coca-Cola Company, Gillette, Walmart, The Walt Disney Company, Johnson & Johnson, The Procter & Gamble Company, McDonald’s และ Polaroid
บวกกับในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นช่วงเวลาที่เครื่องมือทางการเงิน ที่ชื่อว่า “กองทุนรวม” กำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
สำหรับใครที่สงสัยกันว่าทำไมกองทุนรวม เพิ่งมาเริ่มนิยมกันในตอนนั้น ?
เหตุผลก็เพราะว่า กองทุน MFS Massachusetts Investors Trust
ซึ่งเป็นกองทุนรวมกองแรกของโลก ได้เกิดขึ้นในปี 1924
และในปี 1934 ทาง Securities and Exchange Commission หรือ SEC เพิ่งเข้ามามีบทบาทในการบังคับให้กองทุนรวมจำเป็นต้องจดทะเบียนกับทาง SEC เพื่อเปิดเผยผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลการถือสินทรัพย์ต่าง ๆ ภายในกองทุน
ส่งผลให้กองทุนรวมเริ่มมีความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือมากขึ้น
จึงทำให้กองทุนรวมค่อย ๆ ได้รับความนิยมนับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 1960 มีกองทุนหลายร้อยกองทยอยเปิดเพิ่มขึ้น สินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การดำเนินการของกองทุนเหล่านี้มีมากถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่กองทุนมหาศาล
บวกกับหุ้นกลุ่ม Nifty 50 เริ่มกลายมาเป็นเทรนด์การลงทุนยอดนิยม
เพียงไม่นาน ราคาของหุ้นเหล่านี้ ก็เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจก็เหมือนเดิม ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง
- หุ้น The Coca-Cola Company ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 114%
- หุ้น P&G ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 200%
- หุ้น The Walt Disney Company ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 360%
- หุ้น McDonald’s ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 600%
ถ้าหากเราลองมาดู PE ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราส่วน
ที่ใช้วัดความถูกแพงของหุ้นที่นิยมใช้กันมากที่สุด
จะพบว่า ณ ขณะนั้น PE ของหุ้นกลุ่ม Nifty 50 อยู่ในช่วงระหว่าง 50 ถึง 90 เท่า
ยกตัวอย่างเช่น หุ้น McDonald’s และ Disney พุ่งสูงไปถึง 71 เท่า เลยทีเดียว
สาเหตุที่คนยังคงไล่ซื้อหุ้นกลุ่มนี้กัน ก็เพราะมีความเชื่อกันว่าหุ้นพื้นฐานดีเหล่านี้สามารถซื้อแล้วถือทิ้งไว้ โดยไม่ต้องขายเลย
แต่แล้วความเชื่อนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน
เพราะหลังจากนั้นได้เริ่มเกิดเหตุการณ์ ที่ส่งผลให้เกิดฟองสบู่ขึ้น
เริ่มด้วยอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
จากต้นปี 1971 ที่ 4.25% กลายเป็น 8.5% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี
ซึ่งจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ส่งผลให้ความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นชะลอตัวลง
ในปี 1971 ยังได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า ส่งผลกระทบกับระบบการเงินโลกทั้งหมดเลยทีเดียว
นั่นก็คือการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับทองคำ
และภายหลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี ก็ได้เกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นอีก โดยสาเหตุมาจากความขัดแย้งกันระหว่างประเทศอิสราเอล กับกลุ่มประเทศ OPEC ส่งผลให้ธุรกิจที่พึ่งพาน้ำมันทั่วโลกเกิดการถดถอย

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
ทำให้เม็ดเงินบางส่วนเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้น
เข้าสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล
จนมาถึงช่วงประมาณปี 1974
ราคาของหุ้นกลุ่ม Nifty 50 มีการปรับตัวลงอย่างรุนแรง
เราลองมาดูกันว่า หุ้นเหล่านี้มีการปรับตัวลงจากจุดสูงสุดมากเท่าไร
- หุ้น The Coca-Cola Company ราคามีการปรับตัวลง 65%
- หุ้น The Walt Disney Company ราคามีการปรับตัวลง 82%
- หุ้น McDonald’s ราคามีการปรับตัวลง 68%
จากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นในกลุ่มนี้
ก็ได้ทำให้ฟองสบู่ Nifty 50 แตกลงในที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากลองสังเกตดี ๆ แล้วจะพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ในกลุ่ม Nifty 50 ยังคงดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงทุกวันนี้
ยิ่งถ้าเราไปดูผลประกอบการในช่วงที่ฟองสบู่แตก เช่น The Walt Disney Company
ปี 1972 รายได้ 329 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 1973 รายได้ 385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 1974 รายได้ 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จะเห็นได้ว่าผลประกอบการ และพื้นฐานทางธุรกิจ เติบโตขึ้นเล็กน้อย
แต่มูลค่าของหุ้นมันเกินความเป็นจริงไปมาก และตลาดเริ่มมีความกังวลกับความไม่แน่นอน
ไม่ว่าธุรกิจจะดีขนาดไหน ก็มีมูลค่าลดลงได้ทั้งนั้น
เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า
การซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีนั้น อาจไม่ได้หมายถึง “การลงทุนที่ดี” เสมอไป
มันต้องมีส่วนผสมของการซื้อใน ราคา ที่เหมาะสมด้วย
เพราะหากเราไม่ดูความเหมาะสมของราคา
และคิดแต่เพียงว่าหุ้นพื้นฐานดี ไม่ว่าซื้อตอนไหน เมื่อไรก็กำไร
เราก็อาจจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่คล้ายกันกับ Nifty 50 ได้
ที่ไม่ว่าเราจะลงทุนในธุรกิจที่มีพื้นฐานดีเท่าไร เราก็ขาดทุนได้ เช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.forbes.com/1999/01/14/mu3.html?sh=79436b674aea
-https://www.stewartinvestors.com/all/insights/stap/nifty-fifty.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Nifty_Fifty
-https://www.investopedia.com/articles/mutualfund/05/mfhistory.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Gerald_Tsai
-https://www.investopedia.com/terms/b/brettonwoodsagreement.asp
-https://www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000179017
-https://www.thebalance.com/fed-funds-rate-history-highs-lows-3306135
-https://www.macrotrends.net/2015/fed-funds-rate-historical-chart
-https://finance.yahoo.com
-The Walt Disney Company Annual Report 1973, 1974
-https://www.disneydocs.net/disney-annual-reports
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.