สรุปอุตสาหกรรม “รังนกไทย” คาเวียร์แห่งโลกตะวันออก

สรุปอุตสาหกรรม “รังนกไทย” คาเวียร์แห่งโลกตะวันออก

20 มี.ค. 2022
สรุปอุตสาหกรรม “รังนกไทย” คาเวียร์แห่งโลกตะวันออก /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงของฝากยอดนิยมในเทศกาลพิเศษ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “รังนก”
เนื่องจากเป็นของที่เป็นตัวแทนความห่วงใยในสุขภาพ
โดยเรื่องราวที่กล่าวมา ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น
แต่ประเทศอื่น ๆ ก็เป็นรูปแบบเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศจีน
เมื่อรังนกเป็นที่ต้องการ จึงทำให้ในประเทศไทยมีการผลิตรังนกราว 200 ตัน
คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว
แล้วอุตสาหกรรมรังนกในประเทศไทย น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
รู้หรือไม่ว่า รังนกที่เรารับประทานกัน จริง ๆ แล้วคือน้ำลายของนกนางแอ่น
ที่บ้วนออกมาเป็นเส้นบาง ๆ คล้ายวุ้น และถักทอจนกลายเป็นรังที่มีลักษณะคล้ายถ้วย
โดยรังนกจะถูกสร้างขึ้นก่อนที่นกจะผสมพันธุ์กันเพื่อใช้เป็นที่วางไข่ และที่อยู่ของลูกนก
อย่างไรก็ตาม นกนางแอ่นที่ผลิตรังนกสำหรับบริโภคนั้นคือ นกแอ่นกินรัง
ไม่ใช่นกนางแอ่นบ้าน ที่เราเห็นเกาะตามสายไฟ ซึ่งสร้างรังด้วยเศษหญ้าและโคลน
คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเราถึงหันมารับประทานรังนก ?
ก็ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นความนิยมในการรับประทานรังนก
ไม่แตกต่างจากกระเพาะปลาเลย เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน
สมัยราชวงศ์หมิง แพทย์จีนมักจะใช้รังนกเป็นส่วนประกอบในการปรุงยาอยู่เสมอ
เนื่องจากเชื่อกันว่ารังนกมีสรรพคุณบำรุงกำลัง และช่วยบำรุงสุขภาพ
เช่น ปอดและเลือด รวมถึงบำรุงผิวพรรณ และชะลอความแก่ชรา
จากเรื่องดังกล่าวทำให้รังนกกลายเป็นอาหารบำรุงของฮ่องเต้ รวมถึงกลุ่มชนชั้นสูงของจีนด้วย
ซึ่งรังนกได้รับฉายาว่า ทองคำขาวแห่งท้องทะเล หรือคาเวียร์แห่งโลกตะวันออก
ก่อนที่เวลาต่อมาจะเกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมการรับประทานรังนกมาสู่ประเทศใกล้เคียง
ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงไทย
อย่างไรก็ตาม รังนกไม่ได้มีเพียงแค่ประเภทเดียวเท่านั้น
หากแบ่งตามลักษณะการเก็บรังนก จะแบ่งได้ 2 ประเภท
คือ รังนกถ้ำ และรังนกบ้าน
เริ่มกันที่ “รังนกถ้ำ” คือรังนกที่อยู่ในแหล่งถ้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
เพราะเชื่อกันว่าแร่ธาตุที่อยู่ตามผนังถ้ำ เช่น ธาตุเหล็ก ทองแดง แคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม จะมีการซึมซับเข้าไปในรังนกด้วย นั่นจึงทำให้ตลาดต้องการรังนกถ้ำมากกว่ารังนกประเภทอื่น
แต่ก็ใช่ว่าใครก็สามารถเก็บรังนกได้ เพราะการเก็บรังนกจำเป็นต้องได้รับสัมปทานจากรัฐก่อน
ในประเทศไทย ภายใน 1 ปี ผู้รับสัมปทานจะสามารถเก็บรังนกถ้ำได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานต้องมีความเข้าใจชีวิตของนกนางแอ่นด้วย ตั้งแต่วิธีการทำรัง
การผสมพันธุ์ การวางไข่ และฟักลูก เพื่อให้การทำธุรกิจไม่ไปรบกวนวิถีชีวิตของนกนางแอ่น
ด้วยความหายากและเงื่อนไขเยอะ รังนกถ้ำจึงมีราคาแพง
อยู่ในช่วงระหว่าง 80,000 ถึง 120,000 บาทต่อกิโลกรัม
แม้ว่า การเก็บรังนกถ้ำจะดูเหมือนเป็นการหาผลประโยชน์จากธรรมชาติ
แต่ก็ต้องบอกว่าโดยทั่วไป เมื่อลูกนกนางแอ่นเติบโตเต็มที่
กลุ่มลูกนกเหล่านี้ ก็จะไม่ใช้รังเดิม แต่จะสร้างรังใหม่อยู่แทน
แปลว่าหากเก็บแต่พอดี ตามรอบสัมปทาน ก็ยังถือว่าไม่ได้เป็นการรุกรานธรรมชาติ
เรามาดูตัวอย่างแหล่งรังนกถ้ำในประเทศไทย
- อุทยานชุมชนเกาะไข่ จังหวัดชุมพร เป็นเกาะที่เงียบสงบ และยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่
นั่นทำให้นกแอ่นกินรังที่มีนิสัยชอบความสงบมาอาศัยกัน
- เกาะสี่ เกาะห้า จังหวัดพัทลุง โดยรังนกที่นี่ถือว่า “คุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย”
เพราะหมู่เกาะนี้ตั้งอยู่กลางทะเลสาบ ทำให้รังนกสะอาด และมีขนาดใหญ่
แต่หลายคนก็น่าจะเคยเห็นรังนกที่สร้างไว้ตามอาคารด้วย
ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันก็คือรังนกอีกประเภทหนึ่ง เรียกกันว่า “รังนกบ้าน”
รังนกประเภทนี้มีสีขาวจัด แต่มีขนาดเล็กและบางกว่ารังนกถ้ำ
รังนกบ้านจึงเป็นที่นิยมน้อยกว่า และมีราคาถูกลง
โดยปกติราคารังนกบ้านจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ถึง 30,000 บาทต่อกิโลกรัม
ซึ่งปัจจุบันมีบ้านนกแอ่นทั่วประเทศไทยกว่า 17,800 หลัง
แม้ว่าการทำรังนกบ้านจะง่ายกว่ารังนกถ้ำ แต่ก็ต้องบอกว่าการทำธุรกิจรังนกบ้าน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย
เพราะเราต้องมีความเชี่ยวชาญ และใช้เงินทุนพอสมควร
เช่น ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เงียบสงบ
ต้องมีเครื่องพ่นหมอก เพื่อให้มีความชื้นเลียนแบบตามธรรมชาติ
ต้องป้องกันและกำจัดไม่ให้มีสัตว์ เช่น ตุ๊กแก หนู แมลงสาบ และมด มารบกวน
รวมถึงในช่วงปีแรก เราจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้เลย
เนื่องจากต้องรอให้พ่อแม่นกมีจำนวนมากขึ้นก่อน
ซึ่งเวลาที่เหมาะสมจะอยู่ที่ปีที่ 4 และ 5
ดังนั้นคนที่จะทำธุรกิจรังนกบ้านจำเป็นต้องมีเงินทุนพอหมุนเวียนได้ในระยะยาว
แต่จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า รังนกทั้ง 2 ประเภท ก็ยังมีราคาที่สูงอยู่ดี
ทำให้มีผู้ผลิตรังนกปลอมขึ้นมาแล้วขายในราคาที่ถูกกว่า โดยมีทั้งรูปแบบรังนกแห้ง
รวมถึงแบบสำเร็จรูปพร้อมดื่ม มีราคาอยู่ที่ 2,000 ถึง 4,000 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น
โดยวัตถุดิบที่นำมาลอกเลียนแบบรังนกคือ ยางคารายา
หากนำมาต้มจะมีลักษณะคล้ายรังนก แต่มีสีขาวและมีความกระด้างกว่า
ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่ารังนกปลอมเป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด
แล้วถ้าถามว่าตลาดรังนก มีโอกาสทางธุรกิจมากน้อยขนาดไหน ?
ก็ต้องตอบว่าตลาดรังนกยังเติบโตได้อีกมหาศาล หากเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้สำเร็จ
เพราะจีนเป็นประเทศที่บริโภครังนกมากที่สุดในโลก
โดย 90% ของรังนกที่ผลิตทั่วโลกได้ถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน
คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี
รวมถึงตลาดรับซื้อรังนกในประเทศจีน ยังให้ราคารังนกดีกว่าในประเทศไทยหลายเท่า
เช่น หากขายในไทยจะได้ราคา 80,000 ถึง 120,000 บาทต่อกิโลกรัม
แต่หากขายในจีนมีโอกาสได้ราคาสูงกว่าหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนเพิ่งมีการปลดล็อกการนำเข้ารังนกไทยเมื่อปี 2560
โดยยังคงอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะรังนกถ้ำเท่านั้น
ในขณะที่รังนกบ้านจำนวนมากยังถูกห้าม เนื่องจากยังคงติดกฎหมายไทย
ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร, พระราชบัญญัติการสาธารณสุข และพระราชบัญญัติการผังเมือง
ดังนั้นหากประเทศไทยอยากให้รังนกไทยแข่งขันในตลาดจีนได้อย่างเต็มที่
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล และผู้ดูแลเรื่องกฎหมาย อาจต้องเข้ามาศึกษาและสนับสนุนอย่างจริงจัง
หากทำได้ดี ก็จะทำให้ อุตสาหกรรมรังนกของไทย ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://otop.dss.go.th/index.php/en/knowledge/informationrepack/343-edible-bird-s-nest?showall=1&limitstart=
-https://shewonthaibirdnest.wordpress.com/2017/10/23/
-https://workpointtoday.com/bird-nest-nana-2/
-https://www.naturalnestthailand.com/content/2135
-https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_23223
-https://thaibizchina.com
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.