กรณีศึกษา คู่สร้างคู่สม-ดิฉัน กำลังปิดตัว

กรณีศึกษา คู่สร้างคู่สม-ดิฉัน กำลังปิดตัว

17 ธ.ค. 2017
กรณีศึกษา คู่สร้างคู่สม-ดิฉัน กำลังปิดตัว / โดย ลงทุนแมน
ทุกคนรู้ดีว่าการเกิดขึ้นของสื่อดิจิทัลได้ทำลาย (Disrupt) ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมาก มาวันนี้แม้แต่นิตยสารที่อยู่คู่กับคนไทยมานานอย่าง คู่สร้างคู่สม-ดิฉัน ก็กำลังจะโบกมือลาคนอ่านไปด้วยเช่นกัน ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นยังไง วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
คู่สร้าง-คู่สม เริ่มวางแผงครั้งแรกเมื่อปี 2523 มีอายุกว่า 37 ปี เป็นนิตยสารที่รวมเรื่องราวของคนทางบ้านที่มาแชร์ประสบการณ์และความรู้สึก มีเรื่องราวจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะการแชร์ประสบการณ์ของคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ รวมไปถึงเรื่องดูดวง ก็ถูกนำมาตีพิมพ์ผ่านนิตยสารรายนี้
ดิฉัน ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2520 เป็นนิตยสารเกี่ยวกับเรื่องราวในแวดวงบันเทิง แฟชั่น บทสัมภาษณ์คนดัง โดยภายในเล่มยังมีข่าวสารท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย ซึ่งถ้านับจนถึงวันนี้นิตยสารดิฉันมีอายุกว่า 40 ปี
นิตยสารทั้ง 2 รายถือว่าเป็นนิตยสารชั้นนำที่เชื่อว่าคนจำนวนมากได้เคยสัมผัสและพบเห็นบ่อยโดยเฉพาะตามห้องรับแขกหรือ ร้านตัดผม
แต่ด้วยกระแสการอ่านของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอ่านทางสื่อออนไลน์มากขึ้น บรรดาแผงหนังสือก็ได้ปรับนโยบายลดการจำหน่ายหนังสือและนิตยสารลง ไม่เว้นแม้แต่นิตยสารอย่างคู่สร้างคู่สมและดิฉันก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
หลายคนรู้ดีว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ เริ่มมีปัญหาหลังจากที่สื่อดิจิทัลเข้ามา และกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดก็ไม่ใช่กลุ่มไหน ซึ่งก็คือ กลุ่มนิตยสาร เพราะรายได้หลักจากเงินโฆษณาลดลงมากที่สุดในบรรดาธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์
โดยในช่วงปี 2555-2559 เม็ดเงินค่าโฆษณาของนิตยสารลดลงจาก 5,221 ล้านบาท จนเหลือเพียง 2,977 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงกว่า 43% ในระยะเวลา 5 ปี ในขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ลดลง 35% จาก 15,183 ล้านบาท เหลือ 9,841 ล้านบาท
แล้วเม็ดเงินโฆษณาพวกนี้หายไปไหน?
คำตอบคือ ไปอยู่กับกลุ่มสื่อโฆษณาออนไลน์ที่ชื่อว่า Digital Advertising นั่นเอง
ในช่วงเวลาที่เม็ดเงินค่าโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างน่าใจหาย เม็ดเงินค่าโฆษณาบนสื่อดิจิทัลกลับเพิ่มขึ้นกว่า 255% จาก 2,783 ล้านบาท ไปสู่ 9,883 ล้านบาท สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รายได้ของบริษัท แอ็ดวานซ พับลิชชิ่ง จำกัด ผู้ผลิตหนังสือ ดิฉัน
ปี 2557 รายได้ 91 ล้านบาท ขาดทุน 5 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 78 ล้านบาท ขาดทุน 14 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 65 ล้านบาท ขาดทุน 34 ล้านบาท
บริษัท คู่สร้าง-คู่สม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหนังสือ คู่สร้าง-คู่สม
ปี 2557 รายได้ 336 ล้านบาท กำไร 112 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 296 ล้านบาท กำไร 100 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 200 ล้านบาท กำไร 64 ล้านบาท
ถ้าเราลองหลับตานึกภาพย้อนไปในอดีต จะพบว่าเวลาที่เราอยากอ่านข้อมูล ข่าวสาร คอลัมน์ที่เราสนใจ เราต้องรอคนมาส่งหนังสือให้เราถึงบ้าน หรือแม้แต่เราต้องเดินทางไปหาซื้อตามแผงหนังสือต่างๆ ด้วยตัวเอง
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปจนมาถึงจุดที่สื่อดิจิทัลเข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ เราสามารถหาอ่านข้อมูล รูปภาพเหล่านั้นมากมายบน เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และสื่อออนไลน์ต่างๆ
เรื่องนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อทำให้เราต้องตกใจกลัว เพียงแต่ดูไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษาว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแล้วนั้น จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร
เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนั้น เชื่อว่าคงไม่กระทบเพียงแค่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่คงจะมีธุรกิจอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบตามมา
อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดของสิ่งหนึ่ง อาจส่งผลทำให้มีการเกิดขึ้นของอีกสิ่งหนึ่งในอนาคต ซึ่งคนที่เข้าใจ และเตรียมพร้อมเท่านั้น จะสามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้
แต่ที่แน่ๆ ถ้าเราไม่รู้จักปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็น่าคิดเหมือนกันว่าท้ายที่สุดแล้วนั้น ในอนาคตตัวเราจะไปยืนอยู่ตรงจุดไหน ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไป
ปิดท้ายด้วยรายได้ และกำไรของ บริษัท เฟซบุ๊ก ผู้เป็นเจ้าของ เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม
ปี 2557 รายได้ 405,135 ล้านบาท กำไร 95,548 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 582,645 ล้านบาท กำไร 119,857 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 898,213 ล้านบาท กำไร 332,044 ล้านบาท
และปีนี้จะเป็นปีแรกที่เฟซบุ๊กมีรายได้เข้าสู่หลัก ล้านล้านบาท
เห็นตัวเลขแล้วคงไม่ต้องบรรยายอะไรต่อ..
--------------------------------------------
<ad> ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็ยังคงใช้ดวงตาของเราอ่านหนังสืออยู่ แค่เปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นหน้าจอมือถือ แต่รู้หรือไม่ว่าหน้าจอมีแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายกับดวงตาของเรา “เลนส์ตัดแสงสีฟ้า” ช่วยตัดแสงสีฟ้า ลดอาการปวดตาจากการมองหน้าจอนานๆ เชิญมาปรึกษาได้ที่ร้านแว่น opticana สีลม fb.com/opticanathailand
--------------------------------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.