เวียดนาม ประเทศที่ ไทยเกินดุลการค้า มากว่า 20 ปี

เวียดนาม ประเทศที่ ไทยเกินดุลการค้า มากว่า 20 ปี

29 มี.ค. 2022
เวียดนาม ประเทศที่ ไทยเกินดุลการค้า มากว่า 20 ปี /โดย ลงทุนแมน
172,100 ล้านบาท คือมูลค่าที่ไทยเกินดุลการค้ากับประเทศเวียดนามในปี 2564
ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าต่อเนื่องกว่า 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541
ที่มีการเก็บข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
ในบรรดาประเทศอาเซียน 10 ประเทศ มีถึง 8 ประเทศที่ไทยเกินดุลการค้า
และเวียดนามก็เป็นประเทศที่ไทยเกินดุลการค้ามากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2563
และเพิ่งไปอยู่อันดับ 2 รองจากกัมพูชาในปี 2564 ที่ผ่านมานี้เอง
ไทยทำการค้าอะไรกับเวียดนามบ้าง
แล้วโอกาส และความเสี่ยงของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย
โดยในปี 2564 เวียดนามเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 4 อยู่ที่ 393,600 ล้านบาท
เป็นสัดส่วนราว 5% ของจุดหมายปลายทาง การส่งออกทั้งหมดของไทย
แล้วไทยส่งออกอะไร ไปยังเวียดนามบ้าง ?
การค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม มีจุดเริ่มต้นอย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามเวียดนาม
ราวปี 2529 ที่เวียดนามเริ่มใช้นโยบายโด๋ยเม้ย หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจจากระบบคอมมิวนิสต์
ไปสู่การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน
หลังจากเวียดนามเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแล้ว ก็เติบโตอย่างมากตลอดช่วงปี 2530-2539
เมื่อเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อ และความต้องการสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น
โดยเฉพาะยานพาหนะ รถมอเตอร์ไซค์ คือสินค้าแรก ๆ ที่ครัวเรือนชาวเวียดนามต้องการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก
ประกอบกับไทยเป็นฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ของอาเซียน ทำให้รถมอเตอร์ไซค์กลายมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย ไปยังเวียดนามในช่วงปี 2540
พอมาถึงช่วงปี 2550 เมื่อเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ได้ย้ายไปตั้งฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กที่เวียดนาม
ส่วนในไทยได้เปลี่ยนเป็นฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือ Big Bike แทน
ทำให้การส่งออกรถมอเตอร์ไซค์ไปยังเวียดนามค่อย ๆ ลดลง
สวนทางกับน้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติกที่ค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 แทน ด้วยความที่ไทย มีอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน และอุตสาหกรรมพลาสติกที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2560 เมื่อชนชั้นกลางในเวียดนามมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความต้องการยานพาหนะก็เริ่มเปลี่ยนจากรถมอเตอร์ไซค์ ไปเป็นรถยนต์
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว
จึงทำให้รถยนต์และส่วนประกอบ กลายมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 แทน

โดยในปี 2564 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเวียดนามมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. รถยนต์ และส่วนประกอบ 58,000 ล้านบาท
2. เม็ดพลาสติก 32,200 ล้านบาท
3. น้ำมันสำเร็จรูป 27,400 ล้านบาท
4. เคมีภัณฑ์ 25,100 ล้านบาท
5. เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ 15,300 ล้านบาท
อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพมากที่สุด คืออุตสาหกรรมยานยนต์
ด้วยความที่มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากมายอยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมนี้ เป็นข้อได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายรวมอยู่ในฐานการผลิตเดียว
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยโดดเด่น ก็คือ อุตสาหกรรมพลาสติก
ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเม็ดพลาสติกที่สำคัญของอาเซียน ซึ่งมีที่มาจากการมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ และมีประสิทธิภาพในการผลิตค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตามยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพไม่แพ้กัน
อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ
ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีจุดเด่นคือ การมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องปรับอากาศอย่างครบวงจร ทำให้เกิดเสถียรภาพในการจัดหาวัตถุดิบ
ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ อย่างการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก, ใบพัด, แม่พิมพ์, ชิ้นส่วนโลหะ ไปจนถึงส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เช่น Evaporator หรือ แผงคอยล์ทำความเย็น, Condensing หรือ แผงลมร้อน มอเตอร์ และคอมเพรสเซอร์ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ อย่างการประกอบชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ
อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เป็นมูลค่าราว 100,000 ล้านบาทในแต่ละปี
มีจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย โดย 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 7% ของการส่งออกทั้งหมด
สิ่งที่น่าสนใจคือ การส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังเวียดนามยังคงเติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 แม้จะต้องเจอกับสถานการณ์โควิด 19 มูลค่าการส่งออกในปี 2564 ก็ยังเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 7% อยู่ที่ 7,100 ล้านบาท
โดยสินค้าที่เวียดนามนำเข้ามาก คือ เครื่องสำอาง ส่วนประกอบของเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม
แล้วไทยนำเข้าสินค้าอะไรจากเวียดนามบ้าง ?
ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเวียดนามมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 33,000 ล้านบาท
2. น้ำมันดิบ 18,500 ล้านบาท
3. เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ 18,200 ล้านบาท
4. เหล็ก และเหล็กกล้า 14,100 ล้านบาท
5. เคมีภัณฑ์ 11,000 ล้านบาท
อุตสาหกรรมที่เวียดนามมีความโดดเด่น คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะเวียดนามเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโทรทัศน์ ไมโครโฟน โทรศัพท์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การผลิตของเวียดนามส่วนใหญ่แล้วเป็นการประกอบชิ้นส่วน และมีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งเวียดนามมีความได้เปรียบทั้งในเรื่องของจำนวนแรงงาน และแรงงานส่วนใหญ่ ยังมีอายุไม่มาก
เรียกได้ว่า หากสังเกตจากสินค้านำเข้า-ส่งออกแล้ว สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันดิบ และแร่ธาตุต่าง ๆ กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เวียดนามเป็นฐานการผลิตสำคัญ
ส่วนสินค้าส่งออกของไทยจะมีความหลากหลายมากกว่า ทั้งยานยนต์ พลาสติก เครื่องปรับอากาศ ไปจนถึงเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
หากประเทศไทยยังสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตของสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ และพลาสติก ได้อย่างแข็งแกร่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ที่ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยเช่นเดียวกัน
สิ่งสำคัญที่สุดคือ อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพ และปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ในอนาคต เพื่อคงความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าต่อไป
อุตสาหกรรมยานยนต์ อาจต้องปรับตัวเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
อุตสาหกรรมพลาสติก ต้องต่อยอดสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องมือแพทย์
ในขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
ก็อาจต้องเน้นการทำการตลาด และการสร้างแบรนด์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจเวียดนามเจริญเติบโตถึงจุดหนึ่ง
การย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ
หรือหากเวียดนามสามารถจัดตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของตัวเองที่ครบวงจรมากขึ้น ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อย่างน้ำมันสำเร็จรูปและพลาสติกที่ส่งออกจากไทยไปยังเวียดนามลดน้อยลง
ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อยว่า
หากวันนั้นมาถึง “คู่ค้า” ที่ไทย ได้เปรียบดุลการค้ามาอย่างยาวนาน
ก็อาจกลายเป็น “คู่แข่ง” ที่ทำให้เรา ขาดดุลการค้าได้ ในท้ายที่สุด..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_178.pdf
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default_Struc.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=1&Lang=Th&ImExType=1
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default_Struc.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=2&Lang=Th&ImExType=0
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.