งบดุล คืออะไร ?

งบดุล คืออะไร ?

31 มี.ค. 2022
[ประเด็นสำคัญ] “งบดุล” คือ งบการเงินประเภทหนึ่งที่ช่วยบอกว่า ณ เวลานั้น ๆ บริษัทมีทรัพย์สินอะไรบ้าง โดยทรัพย์สินนั้นมาจาก หนี้สิน หรือ ส่วนของเจ้าของ มูลค่าเท่าไร
งบดุลมีอีกชื่อหนึ่งว่า “งบแสดงฐานะทางการเงิน”
งบดุลมีโครงสร้างที่เกิดจากสมการง่าย ๆ คือ
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน เราลองมาดูตัวอย่างต่อไปนี้กัน
นายกอไก่ ต้องการเปิด “ร้านกอไก่” ซึ่งต้องใช้เงินทั้งหมด 10 ล้านบาท
เพื่อนำไปเช่าอาคารพาณิชย์, ซื้อสินค้าและวัตถุดิบ และที่เหลือเป็นเงินสดสำรอง
แต่นายกอไก่ มีเงินทุนของตัวเองเพียง 6 ล้านบาท ทำให้ต้องไปกู้เพิ่มอีก 4 ล้านบาท เพื่อที่จะเปิดร้านได้
จากตัวอย่างนี้ ก็จะทำให้หน้าตาของ งบดุลของ “ร้านกอไก่” ออกมาเป็น
สินทรัพย์ของร้านกอไก่ มูลค่า 10 ล้านบาท
ซึ่งก็คือ อาคารพาณิชย์, สินค้า, วัตถุดิบ และเงินสด
ใน 10 ล้านบาทนี้ ประกอบไปด้วย
- ส่วนของเจ้าของ 6 ล้านบาท
- รวมกับเงินกู้ที่เป็นหนี้สินอีก 4 ล้านบาท
จากตัวอย่าง เราสรุปเป็นความหมายของ “งบดุล” ได้ว่า
งบดุล เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยบอกเราว่า ณ เวลานั้น กิจการของเรามีทรัพย์สินหรือความมั่งคั่ง มากน้อยแค่ไหน และแต่ละอย่างอยู่ในรูปแบบของอะไรบ้าง หรือที่เรียกว่า ฐานะทางการเงินของบริษัท นั่นเอง
ทีนี้เราลองมาดู รายละเอียดข้างในเพิ่มเติมกัน
เริ่มกันที่ฝั่งซ้ายของสมการหรือก็คือ สินทรัพย์ (Asset) ซึ่งเราสามารถแบ่งสินทรัพย์หลัก ๆ ออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน
1. สินทรัพย์หมุนเวียน
คือสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด หรือสามารถแปลงให้เป็นเงินสดได้ในระยะเวลา 1 ปี
ได้แก่ เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด, สินค้าคงคลัง และลูกหนี้การค้า
2. สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
คือสินทรัพย์ถาวรที่มีสภาพคล่องต่ำ มักต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีเพื่อแปลงกลับมาเป็นเงินสด
ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภท คือ
- สินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น ที่ดิน, อาคาร, โรงงาน และเครื่องจักร รวมไปถึงเงินลงทุนระยะยาว
- สินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตร, ลิขสิทธิ์ และแฟรนไชส์
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนของแต่ละกิจการจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบของการประกอบธุรกิจ
เช่น บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ก็จะมีสินทรัพย์ที่มีตัวตนในรูปแบบของ โรงงานและเครื่องจักร
ต่างจาก บริษัทที่ทำธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ทรัพย์สินส่วนมากจะเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
ในส่วนของฝั่งขวาของสมการ ซึ่งเปรียบเสมือนองค์ประกอบของสินทรัพย์จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนคือ
หนี้สิน (Liabilities) และ ส่วนของเจ้าของ (Equity)
ซึ่งหนี้สินในงบดุลนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. หนี้สินหมุนเวียน
ได้แก่ รายการการกู้ยืมต่าง ๆ ที่มีกำหนดชำระภายใน 1 ปี รวมไปถึงเจ้าหนี้การค้าด้วย
2. หนี้สินไม่หมุนเวียน
หรือ หนี้สินระยะยาว คือส่วนของหนี้สินที่มีกำหนดชำระเกิน 1 ปี
ซึ่งก็จะนับรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมธนาคาร หรือการออกหุ้นกู้ระยะยาว
ในส่วนสุดท้ายคือ ส่วนทุน หรือ ส่วนของเจ้าของ (Equity)
ซึ่งประกอบไปด้วย
- เงินลงทุนที่มาจากผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ
- กำไร (ขาดทุน) สะสม
โดยเราอาจคำนวณหาส่วนของเจ้าของได้ง่าย ๆ
ด้วยการ นำทรัพย์สินทั้งหมด มาลบออกด้วยฝั่งของหนี้สินทั้งหมด
สรุปแล้ว “งบดุล” คือ งบที่ช่วยบอกให้เรารู้ว่า
ณ เวลานั้น ๆ บริษัทมีทรัพย์สิน, หนี้สิน และทุน
มากน้อยแค่ไหน แต่ละอย่างมีมูลค่าเท่าไร
ซึ่งหากเราเข้าใจ งบดุล และใช้วิเคราะห์ร่วมกับ งบกำไร-ขาดทุน หรือ งบกระแสเงินสด
ก็จะช่วยให้เราเข้าใจลักษณะการดำเนินธุรกิจและเห็นภาพของกิจการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.