หนี้ครัวเรือน ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ที่ไม่ควรมองข้าม

หนี้ครัวเรือน ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ที่ไม่ควรมองข้าม

9 เม.ย. 2022
หนี้ครัวเรือน ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ที่ไม่ควรมองข้าม /โดย ลงทุนแมน
“14.5 ล้านล้านบาท” คือ มูลค่าของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีในปัจจุบัน
ซึ่งตัวเลขนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เราเคยสงสัยไหมว่า หนี้ครัวเรือนไทยทำไมจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และคนไทยเรานั้น เป็นหนี้ประเภทไหนมากที่สุด ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หนี้ครัวเรือน ถ้าตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ
โดยข้อมูลหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมเฉพาะ เงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บข้อมูลได้ ไม่รวมหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ ต้องบอกก่อนว่า “การเป็นหนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องผิด” และทุกคนสามารถเป็นหนี้กันได้ ตราบใดที่เรายังมีรายได้มากขึ้น และมีความสามารถในการชำระคืนในอนาคต
โดยในทางเศรษฐศาสตร์นั้น นิยมใช้ข้อมูลหนี้ครัวเรือน มาเทียบกับ GDP ของประเทศ
เพื่อดูภาพรวมว่าหนี้ของคนในประเทศ มีสัดส่วนมากหรือน้อยขนาดไหน เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ
ทีนี้เรามาดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยต่อ GDP ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- สิ้นปี 2560 หนี้ครัวเรือนของไทย 12.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.1% ของ GDP
- สิ้นปี 2562 หนี้ครัวเรือนของไทย 13.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.8% ของ GDP
- ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทย 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของ GDP
จากสถิติตัวเลขนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP นั้น กำลังมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มออกมาเตือนว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีต หรือเทียบกับประเทศอื่น ๆ
รู้ไหมว่า ด้วยระดับหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ดังกล่าว
สัดส่วนนี้สูงเป็นอันดับที่ 12 ของประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้
สาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น
- พฤติกรรมของครัวเรือนบางส่วน ที่มีการใช้จ่ายเกินกำลัง สวนทางกับรายได้และเงินออม ทำให้ต้องมีการไปกู้หนี้กันมากขึ้น
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หลายครั้งมักมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เนื่องจากได้ผลเร็วกว่ามาตรการด้านอื่น ๆ ทำให้บางครัวเรือนต้องก่อหนี้เพิ่ม เพื่อมาใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- กลยุทธ์ด้านการตลาดของสถาบันการเงินหรือภาคเอกชนหลายแห่ง ที่เวลาเสนอขายสินค้าและบริการมักออกโปรโมชันหรือแคมเปญเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ผ่อน 0% หรือการให้เงินคืน เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แล้ววันนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นหนี้ประเภทไหนกันบ้าง ?
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นพบว่า หนี้ของครัวเรือน ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เกิดจาก
- หนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 5.0 ล้านล้านบาท
- หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น 2.9 ล้านล้านบาท
- หนี้เพื่อประกอบอาชีพ 2.6 ล้านล้านบาท
- หนี้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.8 ล้านล้านบาท
- หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 1.2 ล้านล้านบาท
- หนี้เพื่อการศึกษา 0.3 ล้านล้านบาท
- อื่น ๆ 0.7 ล้านล้านบาท
ซึ่งเราจะเห็นว่า หนี้ที่ครัวเรือนมีนั้นประมาณ 75% เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ขณะที่หนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสามารถถูกมองได้ว่าเป็นหนี้ระยะยาวนั้น มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
ซึ่งการเป็นหนี้ระยะยาว นอกจากจะมีความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนของรายได้ที่จะมาใช้ชำระหนี้แล้วนั้น
อีกประเด็นคือ ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นในปัจจุบัน
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% นับตั้งแต่กลางปี 2563 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะหมดไป
เพราะเมื่อธนาคารกลางในหลายประเทศได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกันไปหลายแห่งแล้ว เงินลงทุนมักจะไหลออกจากประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำไปยังประเทศที่มีดอกเบี้ยสูง
และเรื่องนี้ก็จะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศที่มีดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอ่อนค่าลงได้ ซึ่งการอ่อนค่าของเงินในประเทศที่รวดเร็ว จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศนั้นสูงขึ้น จนอาจทำให้เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเร็ว
สุดท้ายธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อาจจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นบ้างเช่นกัน
ฉะนั้น การก่อหนี้ที่เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้
แม้ว่าจะส่งผลดีต่อทั้งผู้บริโภคหรือครัวเรือน เนื่องจากสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคหรือครัวเรือนได้ทันที รวมทั้งทำให้เกิดการใช้จ่ายซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวในวันนี้
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า หากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไป จนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงขึ้นมาก ก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน
เนื่องจาก เมื่อครัวเรือนมีภาระหนี้ที่ต้องชำระหนี้คืนในสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ จะทำให้การบริโภคของครัวเรือนในอนาคตลดลง
รวมไปถึงความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดน้อยลง เช่น หากถูกเลิกจ้างหรือถูกลดค่าจ้างลง ซึ่งกรณีนี้ก็จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้
จนอาจสร้างความเสียหายต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงิน หรือผู้ให้ยืมในที่สุด
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งติดตามสถานการณ์ของเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันดังกล่าว
ไม่เช่นนั้น หนี้ครัวเรือนไทยก็อาจจะกลายมาเป็นฝันร้าย
ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้ ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/25650157TheknowledgeHouseholdDebt.aspx
-https://www.bot.or.th/English/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/MPR/Monetary%20Policy%20Report/analystMeeting_10Jan2021.pdf
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=891&language=th
-​​https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Highlights/ASEANCommunity/BankersTalk/Vol3Issue1.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.