ประกันชีวิตมีกี่แบบ ?

ประกันชีวิตมีกี่แบบ ?

18 เม.ย. 2022
[ประเด็นสำคัญ] ประกันชีวิตมี 4 ประเภท คือ ประกันแบบชั่วระยะเวลา ประกันแบบตลอดชีวิต ประกันแบบสะสมทรัพย์ ประกันแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ ซึ่งแต่ละแบบมีความเหมาะสมที่แตกต่างกัน
ประกันชีวิต คือ ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​การชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากการเสียชีวิต หรือชราภาพ โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามสัญญาที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต แบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้
1. ประกันแบบชั่วระยะเวลา คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองแค่ช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ หากผู้เอาประกันเสียชีวิตตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น
มีข้อดีคือ เบี้ยประกันต่ำ แต่ให้ความคุ้มครองสูง
แต่หากผู้เอาประกันไม่ได้เสียชีวิต ก็จะเสียเบี้ยประกันไปเลย
เหมาะกับคนที่เป็นผู้หารายได้หลักให้กับครอบครัว หรือมีภาระที่สูงในช่วงระยะใดเวลาหนึ่ง ประกันประเภทนี้จะป้องกันความเสี่ยงได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา
2. ประกันแบบตลอดชีวิต คือ ประกันที่ให้ผู้เอาประกันจ่ายเบี้ยประกันระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ให้ความคุ้มครองจนถึงอายุ 85 หรือ 99 ปี
มีข้อดีคือ ค่าเบี้ยประกันจะคงที่เสมอ ตั้งแต่วันแรกจนถึงครบกำหนดสัญญา
และเมื่อครบอายุที่กำหนดจะได้รับเบี้ยประกันคืนทั้งหมดอีกด้วย
เหมาะกับผู้ที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวในระยะยาว
3. ประกันแบบสะสมทรัพย์ คือ ประกันที่มุ่งเน้นเรื่องการออมทรัพย์ ซึ่งผู้เอาประกันจะได้เงินคืนมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือเสียชีวิต โดยผู้ที่ได้รับเงินคืนแทนคือผู้รับประโยชน์
แม้ผลตอบแทนที่ได้จะไม่ได้มากมายเท่ากับการลงทุนอื่น ๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม
แต่ก็ได้ความคุ้มครองชีวิตเพิ่มขึ้น ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับการสร้างความมั่นคงในระยะยาว

เหมาะกับผู้ที่ต้องสะสมเงินพร้อมกับได้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ตั้งใจไว้
4. ประกันแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ คือ ประกันที่เน้นผลตอบแทนมากกว่าความคุ้มครอง โดยจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหลังเกษียณ ระยะเวลาที่จ่ายเงินขึ้นอยู่กับประกันที่กำหนด
เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนการเงินไว้ใช้หลังเกษียณในจำนวนที่แน่นอน และต้องการความคุ้มครองชีวิต
ซึ่งจากประกันชีวิตทุกรูปแบบ จะเห็นได้ว่ามีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน
ดังนั้นจึงไม่มีประกันไหนดีสุดหรือแย่สุด มีแค่ว่าเหมาะกับเราหรือไม่เท่านั้นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.