Burger King ตุ๊กตาล้มลุก

Burger King ตุ๊กตาล้มลุก

23 ธ.ค. 2017
Burger King ตุ๊กตาล้มลุก / โดย ลงทุนแมน
ทุกคนคงรู้จัก Instagram
แต่ถ้าจะบอกว่า Burger King เคยมีชื่อว่า Insta-Burger ทุกคนคงไม่เชื่อ
แล้วรู้หรือเปล่าว่า กว่าจะเป็น Burger King ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก
กิจการต้องเปลี่ยนเจ้าของกันถึง 4 ครั้ง
Burger King เป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทแฮมเบอร์เกอร์ ที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2496
ในตอนแรกร้านไม่ได้ใช้ชื่อ Burger king ตั้งแต่เปิดร้านแต่ใช้ชื่อ Insta-Burger มาจากการที่เจ้าของร้าน Keith Kramer และ Matthew Burns ไปเห็นเครื่องย่างเนื้อเบอร์เกอร์ของร้าน McDonalds ที่ชื่อว่า Insta เจ้าเครื่องนี้ในสมัยนั้นถือว่าเป็นของที่ทันสมัยมาก ก็เลยซื้อเครื่องนี้มาแล้วตั้งชื่อร้านตามเครื่องเลย
จนมาในปีพ.ศ. 2497 Insta Burger ประสบปัญหาเรื่องเงิน ก็เลยขายกิจการให้กับ James Mclamore และ David R. Edgerton โดยมีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่และตั้งชื่อร้านว่า Burger king และได้ถือกำเนิด Whopper Burger ที่เป็นจุดขายของ Burger King ขึ้นมา
หลังจากดำเนินธุรกิจไปเป็นเวลากว่า 13 ปี ในปีพ.ศ. 2510 James Mclamore และ David R. Edgerton ก็ตัดสินใจขายกิจการให้กับบริษัท Pillsbury และได้จ้างให้ Donald N. Smith อดีตผู้บริหารของ McDonald’s เข้ามาปรับโครงสร้างของบริษัท
แต่แล้วก็ประสบปัญหาทางการเงินอีกครั้ง จากการจัดการการดำเนินงานของผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ในปีพ.ศ. 2549 กลุ่มบริษัท อาทิ ทีพีจี แคปิทอล (PTG Capital), เบน แคปิทอล (Ben Capital) และโกลแมน แซคส์ (Goldman Sachs) ได้เข้าซื้อ Burger King และมีการนำ Burger King เข้ายังตลาดหุ้นวอลล์สตรีต
แต่ Burger King ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเจ้าของเข้ามาบริหารเท่าไร ประกอบกับในช่วง วิกฤตการณ์ทางการเงิน Burger King ก็ประสบปัญหาด้านการเงินเช่นกัน
จนทำให้ในปีพ.ศ. 2553 บริษัท ทรีจี แคปิทอล (3G Capital) ของมหาเศรษฐีนักลงทุนจากบราซิล ก็เข้าซื้อกิจการ Burger King ด้วยมูลค่า 1.07 แสนล้านบาท
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดพลิกของ Burger King เลยก็ว่าได้ หลังจากที่ 3G Capital เข้าซื้อกิจการแล้วยังทำการซื้อหุ้นคืนเพื่อนำ Burger King ออกจากตลาดอีกด้วย
โดย 3G Capital ได้ให้ John Chidsey ประธานและผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบันของเบอร์เกอร์คิง ดำรงตำแหน่งประธานร่วมกับ Alexandre Behring ผู้บริหารของ 3G Capital ในนครนิวยอร์ค โดยมีการวางแผนกลยุทธ์ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำงาน ขยายฐานสาขา ปรับเปลี่ยนรายการอาหารให้มีสีสันและปรับโครงสร้างแฟรนไชส์
หลังจากได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ทำให้ในปีพ.ศ. 2557 Burger King ได้ทำการขยายธุรกิจ ด้วยการเข้าซื้อกิจการร้านโดนัทชื่อดัง Tim Hortons ในประเทศแคนาดา จากความช่วยเหลือของ Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett
นอกจากนี้ยังได้ทำการควบรวม Burger King และ Tim Hortons ให้กลายเป็นบริษัท Restaurant Brands International ที่ตั้งอยู่ในประเทศแคนนาดา ทำให้บริษัทกลายเป็นฟาสต์ฟู้ดขนาดยักษ์มูลค่าตลาด 5.84 แสนล้านบาท ที่มีสาขากว่า 18,000 แห่ง ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
รายได้บริษัท Restaurant Brands International เป็นเท่าไรกัน
ปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ 9.22 แสนล้านบาท
ปี 2557 รายได้รวม 3.8 หมื่นล้านบาท ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท
ปี 2558 รายได้รวม 1.31 แสนล้านบาท กำไร 3 พันล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 1.34 แสนล้านบาท กำไร 1.1 หมื่นล้านบาท
ในปัจจุบัน Burger King มีสาขาอยู่มากกว่า 15,700 สาขาในกว่า 100 ประเทศ และมีคนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนถึง 11 ล้านคนต่อหนึ่งวัน และในปีพ.ศ. 2559 ก็ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ที่มีสาขามากที่สุด เป็นอันดับ 5 ของโลกและมีรายได้ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ เป็นอันดับ 4 ของโลก
ธุรกิจ Burger King ได้ให้แง่คิดกับเราว่า กว่าจะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จได้ ก็ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก่อน อย่าง Burger King ที่ต้องเจอกับช่วงเวลายากลำบากเป็นเวลามากกว่า 50 ปี ที่จะประสบความสำเร็จกลายเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์อันดับต้นๆของโลก
ย้อนกลับมาที่ตัวเรา
เราคงต้องล้มหลายครั้ง และลุกขึ้นมากหลายครั้ง ก่อนจะประสบความสำเร็จ
อ่านเรื่องราวของ Burger King
ก็ทำให้คิดได้ว่า เราควรดำเนินชีวิตเหมือน ตุ๊กตาล้มลุก ต่อให้ล้มกี่ครั้งก็กลับมายืนใหม่ได้ โดยหน้ายังยิ้มเหมือนเดิม..
---------------------
<ad> Burger King เป็นของฝรั่ง แต่ถ้าเราอยากเรียนภาษาฝรั่งเศส ลองมาดูที่ https://www.facebook.com/tutorfrenchstudents รับสอนภาษาฝรั่งเศสทุกระดับ สอนตัวต่อตัวและออนไลน์ โดยติวเตอร์นักเรียนทุนจากฝรั่งเศสและทีมสอนคุณภาพจากสถาบันชั้นนำของประเทศ ประสบการณ์ตรง ราคาไม่แพง การสอนดีเยี่ยม มีรีวิวมากมาย
line:tutorfrench Tel.0824984448
http://www.เรียนภาษาฝรั่งเศส.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.