ญี่ปุ่น ทำนาอย่างไร ให้ขายข้าวได้ 100 บาทต่อกิโลกรัม

ญี่ปุ่น ทำนาอย่างไร ให้ขายข้าวได้ 100 บาทต่อกิโลกรัม

30 เม.ย. 2022
ญี่ปุ่น ทำนาอย่างไร ให้ขายข้าวได้ 100 บาทต่อกิโลกรัม /โดย ลงทุนแมน
เราคงจะเคยได้ยินว่าชาวนาญี่ปุ่นมีฐานะร่ำรวย และถูกยกมาเปรียบเทียบกับชาวนาไทยอยู่บ่อย ๆ
ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ดูพิถีพิถันและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเพาะปลูก
สะท้อนไปที่ราคาข้าวในท้องตลาดที่มีราคาสูงกว่าราคาข้าวทั่วไป
แต่รู้หรือไม่ว่า ชาวนาจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น ทำนาเป็นอาชีพเสริมและไม่ได้ร่ำรวยจากการทำนา แต่มาจากการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือพนักงานออฟฟิศ และการค้าขาย
แล้วอะไรที่ทำให้คนญี่ปุ่นสามารถทำนาเป็นอาชีพเสริมได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการทำนามายาวนานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว มีจุดเริ่มต้นจากทางตอนเหนือของเกาะคิวชู และคาดว่าได้รับการถ่ายทอด กรรมวิธีการเพาะปลูกข้าวมาจากประเทศจีน ผ่านทางคาบสมุทรเกาหลี
ซึ่งแต่เดิม อาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวญี่ปุ่น คืออาหารที่หาได้จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการจับปลา ล่าสัตว์ และผลไม้ป่า
ในเวลาต่อมา ข้าว ก็ได้กลายเป็นแหล่งอาหารหลักของญี่ปุ่น และพื้นที่ทำนาก็ได้กระจายไปทั่วประเทศ
ซึ่งข้าวยังได้กลายเป็นภาษีชนิดหนึ่ง ที่ข้าทาสบริวารต้องเพาะปลูก และนำจ่ายให้กับเจ้านาย หรือชาวนาบางส่วนที่เช่าที่ดินในการทำนา ก็จะต้องแบ่งผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ จ่ายเป็นค่าเช่าที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินอีกด้วย
ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น และวางโครงสร้างการบริหารประเทศใหม่
แต่ผลกระทบจากสงครามก็ได้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างมาก
โดยเฉพาะปัญหาความอดอยาก ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
เนื่องจากระบบศักดินาที่มีมาแต่โบราณ ทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำและคนส่วนน้อย
โดยเฉพาะการถือครองที่ดิน ที่ส่วนใหญ่เป็นนายทุนและพ่อค้ารายใหญ่
ชาวนาจำนวนมากจึงต้องเช่าที่ดิน และจ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้
ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและความมั่งคั่งของประเทศ ถูกครอบครองโดยคนส่วนน้อยที่มีฐานะร่ำรวย
ต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศญี่ปุ่นมีการปฏิรูปที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาความอดอยากของประชาชน
รวมทั้งมีการบังคับให้เหล่านายทุนและเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ขายที่ดินที่ถือครองเกินกว่าที่รัฐบาลกำหนดคืนให้กับส่วนกลาง
จากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้นำที่ดินเหล่านั้นมาแบ่งขายให้กับเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินกว่า 5 ล้านราย เป็นจำนวนรวมเกือบ 11 ล้านไร่
แถมยังตั้งราคาขายคงที่ ไม่มีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อให้เกษตรกรสามารถผ่อนจ่ายได้ตามรอบฤดูกาลเก็บเกี่ยว
และด้วยผลกระทบจากสงคราม ก็ได้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในญี่ปุ่น เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก
ในขณะที่หนี้สินของชาวนา ที่ซื้อที่ดินจากรัฐบาลยังเท่าเดิม เพราะเป็นราคาขายแบบคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ทำให้ไม่นานนัก ชาวนาจำนวนมากก็สามารถใช้หนี้ และไถ่ถอนที่ดินเป็นของตัวเองได้ ภายในเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น
ซึ่งผลจากการปฏิรูปและควบคุมการครอบครองที่ดินนี้เอง ก็ส่งผลให้ชาวนาแต่ละรายในประเทศญี่ปุ่นสามารถครอบครองที่นาขนาดเล็ก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ครอบครองไม่เกิน 1 เฮกตาร์ หรือประมาณ 6.25 ไร่
แม้ว่าจะปลูกข้าวบนผืนนาขนาดเล็ก การทำนาในประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีความคุ้มค่ามากพอที่จะทำต่อไป
เพราะด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้การพัฒนาทั้งพันธุ์ข้าวและกรรมวิธีการปลูก มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น
จึงเกิดการพัฒนาเครื่องจักรที่มีขนาดเล็ก สอดคล้องกับขนาดแปลงเพาะปลูก ยกตัวอย่างเช่น รถดำนาที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องตัดหญ้าเพียงเล็กน้อย
หรือแม้แต่ รถเกี่ยวข้าวที่มีขนาดเท่ากับรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้มีราคาที่จับต้องได้ ทำให้เกษตรกรสามารถครอบครองเครื่องทุ่นแรงเหล่านี้ได้
อีกประเด็นสำคัญคือ เรื่องของราคาข้าวในประเทศญี่ปุ่นที่มีราคาสูง เนื่องจากข้าวถูกกำหนดให้เป็นแหล่งอาหารหลักของประเทศ ความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลมาตั้งแต่อดีต
โดยหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรทั้งหมด และขายต่อให้กับผู้ค้าปลีกหรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลก็จะเปรียบเสมือน “พ่อค้าคนกลาง” เพื่อควบคุมระดับราคาข้าวในตลาด
ต่อมาเมื่อปัญหาความอดอยากได้คลี่คลายลง
แต่รัฐบาลก็ยังต้องการรักษาระดับของปริมาณการผลิตข้าวในประเทศไว้
ด้วยการอุดหนุนราคาข้าว เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวและขายให้กับรัฐบาล เพื่อนำมาเก็บเข้าคลังสินค้า
แถมยังมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวที่สูงถึง 777% เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ
ถึงแม้ว่าผลผลิตที่ได้ในปัจจุบัน จะมีปริมาณเกินความต้องการ สวนทางกับความนิยมในการบริโภคข้าวของชาวญี่ปุ่น ที่ปรับตัวลดลงจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป รัฐบาลก็ยังได้มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวนาที่งดปลูกข้าว และเปลี่ยนไปปลูกพืชผลอย่างอื่นแทน
ถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่าชาวนาในประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้รับการดูแลจากรัฐบาลเป็นพิเศษมาตั้งแต่อดีต
ส่วนหนึ่งก็เพราะการรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์ชาวนา “Japanese Agricultural Cooperatives” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า JA ที่มีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน ที่มีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลมาโดยตลอด
โดย JA ถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคแอลดีพี มาตั้งแต่ปี 1955 เรียกได้ว่าเป็นฐานเสียงที่สามารถชี้เป็นชี้ตายพรรคการเมืองได้ ทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าการเมือง ที่ได้รับการปกป้องมากที่สุด
ซึ่งนอกจากการรวมกลุ่ม เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว เครือข่ายสหกรณ์ของ JA ก็ได้กระจายตัวไปในระดับเทศบาล และระดับจังหวัดทั่วประเทศ มีธนาคารเครดิตยูเนียน และธุรกิจประกันเป็นของตนเอง
แม้ว่าสหกรณ์ชาวนาจะดูเป็นทางที่สร้างความมั่นคงให้ชาวนาญี่ปุ่นได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแปรรูปและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่คอยค้ำยันราคาข้าวของญี่ปุ่นมาโดยตลอด
ไม่ว่าจะเป็น มิริน แป้งขนมโมจิ หรืออาหารญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคย ที่ไม่ว่าที่ตั้งของร้านอาหารเหล่านั้น จะอยู่ที่ใดในโลก ก็ต้องใช้ข้าวสายพันธุ์ของญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และอยู่คู่อาหารญี่ปุ่นมายาวนาน
โดยเฉพาะ “เหล้าสาเก” ที่ใช้วัตถุดิบหลักคือข้าวญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันในญี่ปุ่นมีโรงผลิตเหล้าสาเก
จำนวนมากถึง 1,200 แห่ง ซึ่งคาดว่าถูกวางจำหน่ายมากกว่า 10,000 แบรนด์เลยทีเดียว
จากการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงการบริโภคและต่อยอดผลิตภัณฑ์
ทำให้ราคาข้าวสารในประเทศญี่ปุ่น มีราคาตั้งแต่ 300 ถึง 400 เยน
คิดเป็นประมาณ 80 ถึง 105 บาทต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาข้าวจะสูง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวนาทุกคนจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเสมอไป
สำหรับชาวนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงไม่กี่ไร่นั้น พบว่าได้กำไรจากการทำนาเพียงน้อยนิด
บางส่วนทำแล้วยังขาดทุนด้วยซ้ำ เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตสูง
จะเหลือก็เพียงผู้ที่ครอบครองแปลงนาขนาดใหญ่ หรือกลุ่มชาวนาที่รวมกลุ่มกัน เพื่อให้แปลงเพาะปลูกใหญ่ขึ้น ที่ยังคงมีกำไรและร่ำรวยจากการทำนา เพราะได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด ด้วยการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่บวกกับเงินอุดหนุนที่ภาครัฐจ่ายให้
และผู้ประกอบการอีกกลุ่มที่มีกำไร ก็คือผู้ที่สามารถต่อยอดข้าว ไปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น จึงสามารถเพิ่มผลกำไรที่ได้จากการทำนา ให้มากกว่าการขายข้าวเปลือกธรรมดา
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ
ในปัจจุบัน ชาวนาญี่ปุ่นหลายคนยึดถืออาชีพชาวนา เป็นงานนอกเวลา
เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ ทำให้ยังมีอีกหลายสาขาอาชีพ ที่ทำเงินได้มากกว่าการเป็นเกษตรกร
ชาวนาหลายคน จึงใช้เวลาในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ประกอบอาชีพอื่น หรือเป็นพนักงานเงินเดือน แล้วใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดเป็นเกษตรกร อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นมีฤดูการทำนาเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้การทำนาแต่ละครั้งใช้เวลาไม่มาก
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การซื้อขายที่ดินทางการเกษตร จะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานท้องถิ่น
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
จึงต้องควบคุมการไล่ซื้อที่ดินเกษตรกรรม เพื่อเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือที่อยู่อาศัย
ทำให้ที่ดินเกษตรกรรมขายต่อได้ยาก ชาวนาหลายคนจึงมีที่ดินติดมือมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ และตัดสินใจปลูกข้าวเพื่อการบริโภคเอง และส่วนที่เหลือจึงขายให้กับคนใกล้ชิด หรือบางส่วนก็ปล่อยให้เกษตรกรคนอื่นมาเช่าที่ต่อ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เป็นที่ดินว่างเปล่า
ด้วยเหตุนี้เอง รายได้หลักของเจ้าของที่ดินเกษตรกรรมส่วนใหญ่ จึงไม่ได้มาจากการทำนา
แต่มาจากการประกอบอาชีพอื่น และรายได้จากการทำนา เป็นแค่ส่วนเสริมเท่านั้น
ปัจจุบัน จำนวนเกษตรกรที่ยังคงทำเกษตรกรรมในญี่ปุ่น มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ
จากจำนวนกว่า 2.2 ล้านครัวเรือนในปี 2010
เหลือเพียง 1.7 ล้านครัวเรือนในปี 2020
ส่วนใหญ่อยู่ในวัยชราที่มีอายุเฉลี่ย 65 ปี อีกทั้งยังมีที่ดินทางการเกษตรกว่า 2.5 ล้านไร่ปล่อยทิ้งว่าง
เมื่อพื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เร่งหามาตรการสนับสนุน
เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพเกษตรกรรม
เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของชาติ ให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ถึงตรงนี้เราก็คงเห็นกันแล้วว่า อาชีพชาวนาของญี่ปุ่น และไทย มีความแตกต่างกันอย่างมาก
และมีหลายสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ และนำมาปรับใช้กับบ้านเราได้เหมือนกัน
อย่างเช่น
- กรรมวิธีในการเพาะปลูกและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ที่ให้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือกต่อไร่สูง
- การบริหารเครือข่ายสหกรณ์ ที่เข้มแข็งและมีอำนาจต่อรอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน
- การต่อยอดผลิตภัณฑ์ ที่สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับการขายข้าวเปลือกแบบธรรมดาทั่วไป
ก็ไม่แน่ว่าหากเราสามารถ ยกระดับอาชีพชาวนาในบ้านเราได้
เราอาจจะเห็นการทำนา ที่แต่เดิมเป็นการทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ และชดใช้หนี้สิน
เปลี่ยนไปเป็นการทำงานเสริม ที่ทำเพราะมีเวลาว่างมากพอ
หรือเพื่อต่อยอดสินค้าท้องถิ่น ที่ทำมาจากข้าวพันธุ์ไทย
จนกลายเป็นเมนูขนมและเครื่องดื่ม ที่สามารถนำไปวางขายอยู่ทั่วโลก
เหมือนกับเหล้าสาเกหรือขนมโมจิ แบบที่ญี่ปุ่นทำได้สำเร็จ ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.tsunagulocal.com/th/73642/
-https://factsanddetails.com/japan/cat24/sub159/item941.html#chapter-11
-https://www.eastasiaforum.org/2022/03/03/combatting-japans-agricultural-worker-shortage/
-https://kome-academy.com/en/kome_library/origin.html
-https://www.rieti.go.jp/en/special/policy-update/052.html#:~:text=For%20one%2C%20agriculture%20provides%20food,such%20as%20cultivating%20water%20resources.
-https://cigs.canon/en/article/20170112_4095.html#:~:text=The%20gentan%20policy%20is%20a,of%20subsidies%20to%20farm%20households.
-https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/104291
-http://www.crosscurrents.hawaii.edu/content.aspx?lang=eng&site=japan&theme=work&subtheme=AGRIC&unit=JWORK094
-https://www.oicrf.org/-/japan-s-post-war-agrucultural-land-reform-and-subsequent-agricultural-land-system
-https://www.nfc.or.th/wp-content/uploads/download-manager-files/publishing-globalagri-news-japan-60-003.pdf
-https://themomentum.co/momentum-opinion-japan-rice/
-https://japan-law-tax.com/blog/real-estate-japan/buy-farm-land-japan/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.