ตอนนี้ คนเกาหลีใต้ หรือ คนญี่ปุ่น รวยกว่ากัน ?

ตอนนี้ คนเกาหลีใต้ หรือ คนญี่ปุ่น รวยกว่ากัน ?

1 พ.ค. 2022
ตอนนี้ คนเกาหลีใต้ หรือ คนญี่ปุ่น รวยกว่ากัน ? /โดย ลงทุนแมน
ทำไมซัมซุง ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับแบรนด์ญี่ปุ่นได้
ทำไมศิลปินเกาหลีใต้ เข้าถึงคนทั่วโลกได้มากกว่าญี่ปุ่น
แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า
ตอนนี้ คนเกาหลีใต้ กับ คนญี่ปุ่น ใครรวยกว่ากัน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
45,274 ดอลลาร์สหรัฐ คือ GDP ต่อหัว เมื่อวัดจากค่าครองชีพของชาวเกาหลีใต้
หรือ GDP (PPP) ในปี 2020 ซึ่งมากกว่าของชาวญี่ปุ่นที่ 42,390 ดอลลาร์สหรัฐ
ถึงแม้ GDP ต่อหัวที่วัดตามตัวเลข หรือ Nominal GDP
ชาวเกาหลีใต้จะยังคงตามหลังชาวญี่ปุ่น
แต่หากวัด GDP ต่อหัวที่วัดตามค่าครองชีพ
เกาหลีใต้ได้แซงหน้าญี่ปุ่นไปตั้งแต่ปี 2018 แล้ว
หรือพูดง่าย ๆ คนเกาหลีใต้ รวยแซงหน้าคนญี่ปุ่นไปกว่า 3 ปีแล้ว..
ทั้ง ๆ ที่เมื่อปี 2000 หรือราว 20 กว่าปีที่แล้ว
GDP (PPP) ต่อหัว ของชาวเกาหลีใต้ ยังน้อยกว่าชาวญี่ปุ่นอยู่เกือบ 50%
อะไรที่ทำให้ประเทศที่เคยตามหลังญี่ปุ่นแทบทุกอย่าง
สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ จนผู้คนร่ำรวยแซงหน้าได้ ?
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดนนี้
ล้วนเต็มไปด้วยความบาดหมาง
คาบสมุทรเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ตามมาด้วยการกดขี่สารพัด ทั้งการห้ามสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียน
ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงาน ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ
ทั้งหมดล้วนสร้างความคับแค้นใจให้ชาวเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
สงครามเกาหลีที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งของประเทศอื่น
ก็เข้ามาซ้ำเติมคาบสมุทรแห่งนี้ จนทำให้ต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ
เกิดเป็นประเทศเกาหลีใต้ที่สิ้นเนื้อประดาตัวจากสงคราม อุตสาหกรรมถูกทำลายอย่างย่อยยับ
และเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลก..
ชะตากรรมของเกาหลีใต้สวนทางกับญี่ปุ่น ที่สามารถพลิกฟื้นจากความพ่ายแพ้หลังสงคราม
จนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกในช่วงทศวรรษ 1990s
ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น จึงเป็นเหมือนต้นแบบที่เกาหลีใต้เลือกดำเนินรอยตาม
ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก ต่อเรือ
จนมาสู่รถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
แต่นอกจากจะเป็นต้นแบบแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นเหมือนคู่แข่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ซึ่งหนึ่งในจุดหมายสำคัญก็คือ การพัฒนาประเทศให้ร่ำรวยแซงหน้าญี่ปุ่นให้ได้
จากในปี 2000 ชาวเกาหลีใต้มี GDP (PPP) ต่อหัว 18,538 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเทียบกับชาวญี่ปุ่นที่สูงถึง 27,287 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ในวันนี้ ชาวเกาหลีใต้กลับมี GDP (PPP) ต่อหัวแซงหน้าชาวญี่ปุ่นแล้ว
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจนวัตกรรมอันดับ 1 ของโลก
จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของ Bloomberg ในปี 2021 แซงหน้าญี่ปุ่นที่อยู่อันดับที่ 12 ไปไกล
โดยเกาหลีใต้ได้กลายมาเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสิทธิบัตร การเพิ่มมูลค่าของผลผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนา ที่เกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณสูงมาก คิดเป็นสัดส่วน 4.5% ของ GDP
ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอิสราเอลเท่านั้น
เกาหลีใต้ ยังมีบริษัทสตาร์ตอัปยูนิคอร์น ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากถึง 14 บริษัท ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของญี่ปุ่นที่มีเพียง 7 บริษัท
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ก้าวไปไกลกว่าญี่ปุ่น คือ การวางแผนพัฒนาอย่างจริงจัง และเป็นระบบจากบนลงล่าง นำโดยหน่วยงานของภาครัฐ ที่สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอย่างเหนียวแน่น
เพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า ไปสู่ภาคการบริการที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคต
โดยมีจุดเด่นของการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 3 ประการ ได้แก่..
ประการที่ 1 การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และต่อยอดมาสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ภาครัฐบาลของเกาหลีใต้พัฒนา การให้บริการประชาชนผ่านเครือข่ายไอที มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980s
ก่อนจะยกระดับสู่การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตให้โรงเรียนทั่วประเทศ และบริการออนไลน์แก่ประชาชนอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2000
การมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตั้งแต่ปี 2001
โดยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 57% ของประชากร แซงหน้าญี่ปุ่นที่มีผู้ใช้งานเพียง 39%
ในปี 2021 เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีความเร็วของอินเทอร์เน็ตมือถือเป็นอันดับ 2 ของโลก
ความได้เปรียบด้านนี้ ถูกนำมาต่อยอดสู่บริการด้านไอที ที่ครอบคลุมการบริการต่าง ๆ ทั้งการขนส่ง การเงิน ความบันเทิง อุตสาหกรรมก่อสร้าง ไปจนถึงบริการรักษาพยาบาล
เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Digitalization เกาหลีใต้จึงเป็นประเทศที่ปรับตัวเข้ารับกับการเปลี่ยนผ่านได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G การรองรับและพัฒนา Internet of Things รวมไปถึงโลก Metaverse ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ประการที่ 2 การวางตลาดสินค้าและบริการให้ขายได้ทั่วโลก
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 50 ล้านคน ดังนั้นตลาดภายในประเทศ จึงมีขนาดเล็กกว่าญี่ปุ่นที่มีประชากร 120 ล้านคนมาก
และเพื่อเปิดตลาดให้ใหญ่ขึ้น สินค้าของเกาหลีใต้จึงต้องวางแผนทำการตลาด เพื่อตอบโจทย์คนทั้งโลก
โดยเกาหลีใต้พึ่งพาการค้ากับต่างประเทศ เป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GDP
ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของญี่ปุ่นที่พึ่งพาการค้ากับต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% ของ GDP
ในขณะที่สินค้าของญี่ปุ่น จะเน้นไปที่สินค้าคุณภาพสูง โดยเฉพาะเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์
ที่มักมีคุณสมบัติเกินความต้องการของผู้ซื้อ และตามมาด้วยราคาที่สูง
แต่ขาดดีไซน์ ความง่ายในการใช้งาน และวิธีการสื่อสารกับผู้ใช้งาน
ในทางตรงกันข้าม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ กลับเน้นการตั้งราคาให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ มากกว่ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงคุมต้นทุนในการผลิตได้ดี เลือกเฉพาะฟังก์ชันการใช้งานที่จำเป็นแทน เน้นที่ดีไซน์ และการทำการตลาดให้เข้าถึงผู้ซื้อ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือการเติบโตของ Samsung ที่กลายเป็นบริษัทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย
หรืออุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่น ที่เน้นตลาดภายในประเทศ ต่างกับเกาหลีใต้ที่วางแผนอย่างจริงจัง เพื่อเจาะตลาดโลก มีการตั้งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีกว่า 33 ประเทศทั่วโลก เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมหรือ Soft Power ในทุกรูปแบบ
ทั้งซีรีส์เกาหลีที่จะมีบทพากย์เป็นภาษาต่าง ๆ ก่อนนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ
รวมถึงวางแผนช่วงเวลาในการออกอากาศ และฉากให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่จะนำไปฉาย
หรือวงดนตรีที่มีสมาชิกเป็นชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดฐานแฟนคลับในประเทศอื่น ๆ ด้วย
อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ จึงก้าวขึ้นมามีอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลก และจุดประกายให้วัฒนธรรมอื่น ๆ ของเกาหลีใต้ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และการแต่งกายให้แพร่หลายไปทั่วโลก
ประการที่ 3 วัฒนธรรมที่เร่งรีบ และแข่งขันสูง
ชาวเกาหลีใต้มีวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ปัลลี ปัลลี” ซึ่งมาจากคำที่แปลว่า “เร็ว ๆ”
ซึ่งเราอาจเคยได้ยินคำนี้บ่อย ๆ ในซีรีส์เกาหลี ซึ่งวัฒนธรรมนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอันเร่งรีบของชาวเกาหลีใต้ ที่ไม่ชอบการรอคอย ทุกอย่างต้องรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนไปทุกวงการ
ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาประเทศ
ความเร่งรีบทำให้เกิดธุรกิจ ตั้งแต่การบริการส่งพัสดุด่วน บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
บริการหลังการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงบริการก่อสร้าง
แม้แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเซมิคอนดักเตอร์ เกาหลีใต้ก็ใช้วิธีเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศอื่น และนำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งวิธีนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็ว
ในขณะที่ญี่ปุ่นกลับเลือกที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาเอง ซึ่งใช้เวลาช้ากว่ามาก
แล้วความรวดเร็วนี้เองก็ทำให้ Samsung ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ความเร่งรีบในการใช้ชีวิตก็สร้างความกดดันให้กับชาวเกาหลีใต้ไม่น้อย
ผู้คนที่นี่ล้วนทำงานหนัก เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวให้สำเร็จเร็ว ๆ วัยเรียนก็เรียนหนัก
ดาราศิลปินก็ซ้อมอย่างหนัก การแข่งขันที่สูงมากในสังคมเกาหลีใต้ สร้างความเหนื่อยหน่ายและหมดหวังในชีวิต จนคนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ เรียกประเทศตัวเองว่า “Hell Joseon”
หรือ “นรกโชซ็อน”
ในวันที่ GDP (PPP) ต่อหัวของชาวเกาหลีใต้ แซงหน้าชาวญี่ปุ่นได้ในปี 2018
สังคมเกาหลีใต้กลับต้องประสบปัญหาไม่ต่างอะไรกับที่สังคมญี่ปุ่นกำลังเจออยู่
ทั้งอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลก ผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไปจนถึงการขาดแคลนแรงงาน ที่วัยแรงงานจะลดลงอย่างมาก จากอัตราการเกิดที่ต่ำ
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นช้าลง
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นแทบจะเรียกได้ว่าหยุดนิ่งมาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ
หรือที่คนทั้งโลกรู้จักกันในชื่อ “ทศวรรษที่สาบสูญ”
เปิดโอกาสให้เกาหลีใต้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ
จนผู้คนร่ำรวยแซงหน้าคนญี่ปุ่นไปได้ในที่สุด
บทเรียนความสำเร็จของญี่ปุ่น เป็นต้นแบบที่เกาหลีใต้ ใช้พัฒนาเศรษฐกิจเสมอมา
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เศรษฐกิจของประเทศประสบความสำเร็จแล้ว เกาหลีใต้ก็กลับเจอปัญหา
เหมือนที่ญี่ปุ่นต้องเจอ
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน
และจะซ้ำรอยกับญี่ปุ่นหรือเปล่า
เพราะนอกจาก “บทเรียนจากความสำเร็จ” ที่จำเป็นต้องเรียนรู้แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คือ “บทเรียนจากความล้มเหลว”
สำหรับเกาหลีใต้ บทเรียนใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.PP.CD?locations=KR-JP
-https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/Overtaking-Japan-South-Koreans-see-no-reason-to-celebrate
-https://world.kbs.co.kr/service/contents_view.htm?lang=e&menu_cate=&id=&board_seq=409085
-https://www.bloombergquint.com/global-economics/south-korea-leads-world-in-innovation-u-s-drops-out-of-top-10
-https://ourworldindata.org/grapher/trade-as-share-of-gdp?country=~THA
-https://www.unido.org/news/developing-countries-can-learn-south-koreas-research-and-development-experience
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.