สรุป สตาร์ทอัพ ที่เป็น ยูนิคอร์น แล้ว

สรุป สตาร์ทอัพ ที่เป็น ยูนิคอร์น แล้ว

26 ธ.ค. 2017
สรุป สตาร์ทอัพ ที่เป็น ยูนิคอร์น แล้ว / โดย ลงทุนแมน
ยูนิคอร์น ในตำนาน คือ ม้าสีขาว มีเขาเกลียวกลางหน้าผาก แต่ไม่มีใครเคยได้เห็น
ยูนิคอร์น ในแวดวงธุรกิจ คือ ตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ แถมยังมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
มันคือคำที่ใช้เรียกบริษัท Startup ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 33,000 ล้านบาท และไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2556 ในบทความของ Aileen Lee เจ้าของบริษัท Cowboy Ventures ที่เป็นผู้ลงทุนในแนว Venture Capital โดยต้องการจะสื่อว่าบริษัทเหล่านี้ เป็นของหายาก เป็นตำนานเหมือนยูนิคอร์น
ตอนนี้โลกมียูนิคอร์นกี่บริษัท?
ปัจจุบัน มีบริษัท Startup มูลค่าสูงกว่า 33,000 ล้านบาท อยู่ 220 บริษัท จาก 22 ประเทศทั่วโลก มูลค่ารวมทั้งหมด 25 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าประเทศไทย ที่มี GDP 14 ล้านล้านบาท ถึงเกือบ 2 เท่า
จริงๆ แล้ว บริษัทส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในไม่กี่ประเทศ เช่น สหรัฐ (109 ราย) จีน (59 ราย) อังกฤษ (14 ราย) และอินเดีย (10 ราย) ซึ่งเป็นที่ที่มีแหล่งเงินทุนมหาศาล
ถ้าหากเปรียบลักษณะการประกอบธุรกิจ เป็นเหมือนเผ่าพันธุ์ จะพบว่าเผ่ายูนิคอร์น ที่มีมากที่สุดคือ
กลุ่ม E-Commerce/Market Place มีอยู่ 38 บริษัท มูลค่ารวม 4.6 ล้านล้านบาท
กลุ่ม Internet Software & Services มีอยู่ 30 บริษัท มูลค่ารวม 2.2 ล้านล้านบาท
กลุ่ม Fintech มีอยู่ 25 บริษัท มูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท
กลุ่ม Healthcare มีอยู่ 18 บริษัท มูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านบาท
กลุ่ม On Demand มีอยู่ 15 บริษัท มูลค่ารวม 5.3 ล้านล้านบาท
จะเห็นว่ากระแสของ Startup เกิดขึ้นจากช่องว่างในตลาด เราจึงได้เห็นธุรกิจแนว E-Commerce/On Demand ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้โดยตรง หรือ แนว Internet Software/Fintech ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ง่ายขึ้น
ยูนิคอร์นที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับ คือใคร ทำอะไรกันบ้าง?
อันดับ 5..
Airbnb จากประเทศอเมริกา มูลค่าบริษัท 9.5 แสนล้านบาท อยู่กลุ่ม E-Commerce/Marketplace
ประกอบธุรกิจ บริการออนไลน์ในด้านที่พัก โดยเป็นตัวกลางให้คนนำเสนอที่พักของตนเอง ให้ผู้ที่สนใจมาพักได้โดยตรง ปัจจุบันมีห้องในเครือข่ายกว่า 3 ล้านห้อง ใน 191 ประเทศ
อันดับ 4..
China Internet Plus Holding จากประเทศจีน มูลค่าบริษัท 9.8 แสนล้านบาท อยู่กลุ่ม E-Commerce/Marketplace
ประกอบธุรกิจ เว็บไซต์รวมดีลร้านอาหาร เกิดจากการควบรวมระหว่าง Meituan เว็บขายดีล ที่มี Alibaba หนุนหลัง และ Dianping แอปรีวิวร้านอาหารที่มี Tencent หนุนหลัง กลายเป็นผู้ให้บริการรูปแบบ Online-to-Offline ที่ใช้อิทธิพลของสื่อออนไลน์ผลักดันให้เกิดยอดขายออฟไลน์ ที่ใหญ่ที่สุดของจีน
อันดับ 3..
Xiaomi จากประเทศจีน มูลค่าบริษัท 1.5 ล้านล้านบาท อยู่กลุ่ม Hardware
ประกอบธุรกิจ เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 5 ของโลก รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแอปพลิเคชันต่างๆ ด้วยนโยบาย คุณภาพที่ดี ในราคาถูก
อันดับ 2..
Didi Chuxing จากประเทศจีน มูลค่าบริษัท 1.6 ล้านล้านบาท อยู่กลุ่ม On Demand
ประกอบธุรกิจ ให้บริการออนไลน์ด้านการคมนาคม เรียกรถผ่านทางมือถือ โดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 450 ล้านคน ใน 400 เมืองในจีน และเป็นบริษัทเดียวที่ Alibaba Tencent และ Baidu ร่วมกันลงทุน
และ อันดับ 1..
Uber จากประเทศอเมริกา มูลค่าบริษัท 2.2 ล้านล้านบาท อยู่กลุ่ม On Demand
ประกอบธุรกิจ ให้บริการออนไลน์ด้านการคมนาคม เชื่อมต่อลูกค้ากับเครือข่ายคนขับของตนเองผ่านทางมือถือ ปัจจุบันให้บริการในกว่า 600 เมืองทั่วโลก รวมถึงมีบริการจัดส่งอาหารด้วย
ในภูมิภาค ASEAN เราเองก็มียูนิคอร์นอยู่ 3 บริษัท คือ Grab บริษัทให้บริการเรียกรถรับส่ง มูลค่า 2 แสนล้านบาท ของสิงคโปร์, Go-Jek บริษัทให้บริการเรียกรถรับส่ง มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ของอินโดนีเซีย และ Traveloka บริษัทให้บริการจองโรงแรมและการเดินทาง มูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาท ของอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศไทย ตอนนี้ยังไม่มียูนิคอร์นให้เห็นกัน แต่ก็มีหลายบริษัทที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะพัฒนาร่างเป็นสัตว์ในตำนานตัวนี้ เช่น aCommerce (ให้บริการ E-Commerce แบบครบวงจร), Omise (ให้บริการระบบชำระเงิน), 2C2P (ให้บริการระบบชำระเงิน), Eko (พัฒนาแอปสื่อสารภายในองค์กร), Playlap (ผู้พัฒนาเกม), Zanroo (ให้บริการด้านเทคโนโลยีการตลาด) คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป
ในมุมหนึ่ง มนุษย์เราเต็มไปด้วยความต้องการที่แตกต่าง ดังนั้นย่อมมีช่องว่างใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ให้คนคิดค้นไอเดียมาเติมเต็ม ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ช่วยพัฒนา ทำให้ไอเดียกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือเงินทุน การจะแย่งส่วนแบ่งตลาดจากเจ้าเดิม ย่อมต้องใช้ต้นทุนสูง และต้องใช้เวลา เราได้เห็นหลายบริษัทใช้กลยุทธ์เสนอสินค้าหรือบริการในราคาถูก หรือ ฟรี เพื่อแลกกับการได้ลูกค้ามาในระยะยาว จนระยะสั้นต้องทนขาดทุนไปก่อน เช่น Uber ยูนิคอร์น เบอร์ 1 เมื่อปี 59 ยังขาดทุนอยู่ถึง 9 หมื่นล้านบาท หรือ เบอร์ 2 อย่าง Didi Chuxing ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ เงินทุนหนา คอยหนุนหลังอยู่
แต่หากเวลาผ่านไปเรื่อยๆ แล้วยังไม่ชนะ เงินทุนค่อยๆ ลดลง ความอดทนเริ่มหมดไป คู่แข่งใหม่เข้ามา แม้จะเป็น Startup รายใหญ่แค่ไหน ก็อาจจะล้มลงได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะคนที่ขึ้นมาแรง เวลาล้ม มันก็แรงเหมือนกัน
จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ประเด็นว่าเราจะเป็นยูนิคอร์นหรือไม่ แค่เราเป็นม้าที่วิ่งได้เร็วโดยไม่ล้ม ก็อาจจะดีเหมือนกัน..
----------------------
<ad> อีกเรื่องที่น่าทึ่งคือ มียูนิคอร์นจากประเทศจีนติด 3 ใน 5 อันดับแรก ใครอยากรู้เรื่องประเทศจีนมากขึ้นอีก มาเรียนที่ หลักสูตรระยะสั้น EoC (Expert on China) โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรดีๆ ที่รวบรวมแนวคิดและกลยุทธ์การทำธุรกิจในจีนหรือกับชาวจีนให้ประสบความสำเร็จ อบรมโดยเหล่ากูรูที่มีประสบการณ์เชิงลึกในด้านต่างๆ เกี่ยวกับจีน เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ถึง 19 ม.ค.61!
เริ่มอบรม 8 มี.ค. - 21 มิ.ย. 61 ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.30-17.30
สมัครและรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://eoc.dpu.ac.th หรือ โทร. 065-594-9955
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.