ส่องธุรกิจ RATCH บนเส้นทางสู่ Carbon Neutrality

ส่องธุรกิจ RATCH บนเส้นทางสู่ Carbon Neutrality

27 พ.ค. 2022
ส่องธุรกิจ RATCH บนเส้นทางสู่ Carbon Neutrality
RATCH x ลงทุนแมน
หุ้นโรงไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งหมวดธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในทุกยุคสมัย
จากการเป็นธุรกิจที่มีแหล่งรายได้สม่ำเสมอ (Recurring Income)
และแต่ละบริษัทก็มีแผนการดำเนินงานชัดเจน ขยายการเติบโตกันอย่างต่อเนื่อง
โดยหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญในช่วงนี้ คงไม่พ้น บมจ. ราช กรุ๊ป หรือ RATCH
ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งบริษัทฯ กำลังดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน ผ่านการออกหุ้นสามัญใหม่
เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น
โดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Public Offering: PPO)
การทำ PPO ครั้งนี้ จะมีผลต่อธุรกิจ RATCH อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อย่างที่หลายคนอาจจะทราบอยู่แล้วว่า RATCH เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย
ที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 45%
ปัจจุบัน RATCH มีโรงไฟฟ้าที่หลากหลาย
ทั้งในเชิงที่ตั้ง และประเภทของพลังงานที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า
โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมทั้งในและต่างประเทศ อยู่ที่ 9,219.28 เมกะวัตต์
แบ่งเป็น 7,859.35 เมกะวัตต์ หรือ 85% มาจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักหรือ Conventional Energy
ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,359.93 เมกะวัตต์ หรือ 15% มาจากการผลิตด้วยพลังงานทดแทนหรือ Renewable Energy ที่มีทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า หลังจากนี้ RATCH จะตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มากขึ้น
โดยเพิ่มเป็น 2,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
ก่อนจะเพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2578
หรือคิดเป็น 40% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์
ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายและ Roadmap ที่วางไว้อย่างชัดเจน
โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG
ทำให้เห็นว่า RATCH กำลังมุ่งสู่อนาคตใหม่ที่เป็นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน
เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2568
และประมาณ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2578
ก่อนพัฒนาสู่การเป็นบริษัท Carbon Neutrality หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593
ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของบริษัทฯ ที่เรียกว่า 3-G ได้แก่
G-1: Growth แสวงหาโอกาสเติบโตเพื่อต่อยอด และสร้างมูลค่ากิจการเพิ่มในอนาคต
G-2: Green สนับสนุนพลังงานทดแทนและยกระดับการจัดการด้าน ESG
G-3: Generate เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ
เราลองมาดูผลประกอบการที่ผ่านมากันบ้าง
ปี 2562 รายได้รวม 43,220 ล้านบาท กำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 5,963 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 39,522 ล้านบาท กำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 6,287 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 44,293 ล้านบาท กำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 7,772 ล้านบาท
โดยนอกจากเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว
RATCH ยังวางแผนเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2568
จากแผนการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการพัฒนาโครงการใหม่ (Green-field Projects)
ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A)
รวมถึงกระจายการลงทุนไปยังระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
และธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่น ธุรกิจบริการสุขภาพ
และเพื่อให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างเงินทุน สามารถรองรับแผนการดำเนินงานเหล่านี้
จึงเป็นที่มาของการเพิ่มทุนผ่านการออกและจัดสรรหุ้นสามัญใหม่จำนวน 725,000,000 หุ้น
มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) 10 บาทต่อหุ้น
โดยกำหนดราคาจองซื้อที่ 34.48 บาทต่อหุ้น
โดยมีอัตราส่วนการเสนอขายหุ้น 2 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่และจะออกและเสนอขาย
ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ ในระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย. ที่จะถึงนี้
ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการเสนอขายหุ้น PPO (Record Date) ไป เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา
เป็นอีกหนึ่งโอกาสการลงทุนสำหรับผู้ถือหุ้น RATCH
รวมถึงนักลงทุนที่สนใจในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและหุ้นพื้นฐานแกร่ง
ที่จะร่วมเติบโตไปกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG และเทรนด์สิ่งแวดล้อมในอนาคต …
คำเตือน การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
References
- ข่าวประชาสัมพันธ์ของ บมจ. ราช กรุ๊ป
- เอกสาร ANALYST MEETING Quarter 1 2022 20 May 2022
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.