ตำนาน YAHOO! บริษัทที่เกือบเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ค และ กูเกิ้ล

ตำนาน YAHOO! บริษัทที่เกือบเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ค และ กูเกิ้ล

1 ม.ค. 2018
ตำนาน YAHOO! บริษัทที่เกือบเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ค และ กูเกิ้ล / โดย ลงทุนแมน
20 ปีที่แล้ว..
ปี 1998 มีเด็กหนุ่มสองคนยื่นเสนอขายบริษัทสตาร์ตอัพ ที่เขาได้สร้างมามูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ หรือ 33 ล้านบาท เพื่อที่เขาจะได้กลับเข้าไปเรียนต่อปริญญาเอกในมหาวิทยาลัย Stanford เพราะว่าบริษัทนี้ทำให้เขาเสียเวลาในการเรียน
บริษัทสตาร์ตอัพนี้ มีเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่าระบบ "PageRank"
YAHOO! บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ครองโลกอินเตอร์เน็ตเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว มองว่า ระบบ PageRank ไม่เข้ากับตนเอง เพราะระบบนี้จะส่ง traffic ออกไปนอกแพลตฟอร์มของตนเอง
YAHOO! อยากให้ผู้ใช้งานยังอยู่ในแพลตฟอร์มของ YAHOO! เองมากกว่า
YAHOO! จึงปฏิเสธข้อเสนอของบริษัทสตาร์ตอัพนั้นไป
บริษัทสตาร์ตอัพนั้น ชื่อ “Google” ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่า 729,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 23 ล้านล้านบาท เป็นบริษัทใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก (มูลค่าตอนนี้มากกว่าข้อเสนอแรกที่ขายให้ YAHOO! 729,000 เท่า)
ที่น่าสนใจคือตอนนี้ระบบ "PageRank" เป็น ระบบหลักของ Google
บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความที่แล้วเรื่อง “ Google และ Facebook มีรายได้จากไหนบ้าง https://www.longtunman.com/3871
ในบทความนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟังถึงบริษัทที่ทุกคนมองข้าม ชื่อ "YAHOO!"
เรื่องนี้สนุก สนุกเหมือนละครน้ำเน่า แต่เป็นเรื่องจริงในโลกธุรกิจ
ถ้าพร้อมแล้วก็ขอยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ เรื่อง
ตำนาน YAHOO!..
4 ปีต่อมา หลังจาก YAHOO! ปฏิเสธข้อเสนอของ Google..
ปี 2002 YAHOO! เริ่มกลับมาสนใจที่เข้าซื้อบริษัท Google โดยตอนนี้ YAHOO! ยื่นข้อเสนอซื้อ Google ไปที่ 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 100,000 ล้านบาท
ถ้าเราเป็น Google เราคงตาลุกวาว เพราะข้อเสนอเพิ่มขึ้นจาก 4 ปีที่แล้วถึง 3,000 เท่า
แต่..
ตอนนี้ Google ไม่สนใจข้อเสนอนี้แล้ว เพราะเขารู้ว่าตัวเองมีอะไรดีมากกว่านั้นเยอะ
หลังจากนั้น YAHOO! จึงไปซื้อบริษัท Inktomi ซึ่งเป็นบริษัทอันดับ 2 ในเรื่อง search engine ในขณะนั้น
แต่ในโลกของธุรกิจ search engine ไม่มีที่เหลือไว้ให้ลำดับที่สอง..
Inktomi เทียบชั้น Google ไม่ได้ และ YAHOO! ค่อยๆเสื่อมไป
3 ปีต่อมา..
ปี 2005 YAHOO! เริ่มมองหาการลงทุนใหม่ๆ และก็ได้มาพบกับเพชรเม็ดงามชื่อ Alibaba
เจอรี่ หยาง เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็น CEO ของ YAHOO! ในเวลานั้นพบกับ แจ๊คหม่า และตกลงให้ YAHOO! เข้าลงทุนใน Alibaba 1,000 ล้านดอลลาร์
จริงๆแล้วนี่ไม่ได้เป็นการเจอกันครั้งแรกของทั้งคู่
เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นแจ๊คหม่าเป็นแค่ไกด์ทัวร์พา เจอรี่ หยาง เที่ยวกำแพงเมืองจีน
ตอนนั้น แจ๊คหม่า ได้แรงบันดาลใจจาก เจอรี่ หยาง แต่ตอนนี้ เจอรี่ หยาง กลับอยากลงทุนในธุรกิจของแจ๊คหม่า
คราวนี้ YAHOO! จะต้องไม่พลาดเหมือนตอนพลาด Google นี่คงเป็นความคิดที่ดังในหัวของ เจอรี่ หยางในตอนนั้น
ดูเหมือนว่าตอนนั้น เจอรี่ หยาง จะคิดถูก เพราะต่อมา Alibaba ได้กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่างที่เราทราบกันดี
1 ปีต่อมา
ปี 2006 YAHOO! ยังคงเดินหน้าหาการลงทุนใหม่ๆ และคราวนี้ได้พบกับอีกบริษัทหนึ่งชื่อ Facebook
ตอนนั้น Facebook เพิ่งก่อตั้งมาได้ 2 ปี และ มีผู้ใช้งานไม่ถึง 9 ล้านคน
YAHOO! ยื่นข้อเสนอ 1,000 ล้านดอลลาร์ กับบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งได้ 2 ปี
ทุกคนที่อยู่ในบอร์ดบริหารของ Facebook คิดว่าน่าจะขาย เพราะข้อเสนอนี้ดีมาก
แต่ผู้ก่อตั้งชื่อ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งตอนนั้นอายุ 22 ปี ใช้เวลาคิดไม่นาน และกล่าวว่า เขาคงไม่รับข้อเสนอนี้
เหตุผลง่ายๆคือ YAHOO! ยังไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะเอา Facebook ไปทำอะไรต่อ..
ตอนนั้น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก มีแผนอยู่ในหัวไว้หมดแล้วว่า Facebook จะก้าวข้ามผ่านแพลตฟอร์มของเด็กมหาลัย เขากำลังจะสร้างระบบ News Feed ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของการอ่านหนังสือบนโลกนี้
ในเมื่อ YAHOO! ไม่รู้ว่า เขากำลังทำ News Feed แปลว่าข้อเสนอของ YAHOO! ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก คิด
และที่เด็ดกว่านั้นคือ ในปี 2012 มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ใช้หลักการเดียวกันไปขอเสนอซื้อ Instagram 1,000 ล้านดอลลาร์เช่นกัน ตอนนั้น Instagram มีพนักงานทั้งบริษัทรวมกันแค่ 13 คน และเพิ่งตั้งมาได้ 2 ปีเช่นกัน
แต่ที่ไม่เหมือนกัน คือ Instagram ตอนนั้นตกลงรับข้อเสนอ Facebook
บริษัท Facebook ตอนนี้มีมูลค่า 512,000 ล้านดอลลาร์ และ Instagram มีมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์
ดูเหมือนว่าตอนนั้น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก จะคิดถูกที่ไม่ขาย Facebook และ คิดถูกที่ซื้อ Instagram
1 ปีต่อมา..
ปี 2007 YAHOO! กลับถูก Microsoft ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของบริษัท มูลค่า 44,600 ล้านดอลลาร์ เพราะตอนนั้น Microsoft ต้องการ YAHOO! เข้ามาช่วย
Microsoft ตอนนั้นกลัวใคร?
คำตอบ คือ Microsoft ตอนนั้นเริ่มกลัว Google..
แต่ เจอรี่ หยาง ไม่อยากขาย ไม่ได้ต่อรอง หรือ เรียกราคาที่สูงขึ้นด้วย ตอนนั้นข้อเสนอของ Microsoft มีราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 62% เมื่อดีลล่ม ราคาหุ้นของ YAHOO! ก็เลยตกฮวบ
หลังจากนั้น เจอรี่ หยาง ก็ถูกกดดันเรื่อยมา และ ถูกบีบให้ลาออกจากบริษัทที่ตนเองก่อตั้งขึ้น
และ ในที่สุด
5 ปีต่อมา..
ปี 2012 เจอรี่ หยาง ลาออกจากทุกตำแหน่งใน YAHOO!
หลังจากเขาลาออก บอร์ดของ YAHOO! ก็อนุมัติการขายหุ้น Alibaba ครึ่งหนึ่งที่ YAHOO! ถืออยู่ ในราคาหุ้นละ 13 ดอลลาร์
แต่ไม่เป็นไร YAHOO! ยังเหลือการถือหุ้น Alibaba อีกครึ่งหนึ่ง
ปัจจุบัน..
หุ้น Alibaba มีมูลค่าหุ้นละ 172 ดอลลาร์ เป็น 13 เท่าของราคาที่ YAHOO! ขายไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว..
บริษัทที่ YAHOO! เคยเกี่ยวข้อง ทั้ง Google, Facebook และ Alibaba ต่างกำลังเติบโตอย่างร้อนแรงในตอนนี้ มูลค่า 3 บริษัทนี้รวมกัน คือ 1,700,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 55 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4 เท่าของ GDP ประเทศไทยทั้งประเทศ
ตรงกันข้าม
ปี 2017 ธุรกิจหลักของ YAHOO! ทั้งหมด ได้ถูกขายให้บริษัทโทรคมนาคมชื่อ Verizon ด้วยราคา 4,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็นแค่ 1% ของ GDP ประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าบริษัท Makro ในประเทศไทยเสียอีก
และบริษัท YAHOO! ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Altaba” หรือย่อมาจาก Alternative Alibaba ที่คงเหลือไว้แต่การถือหุ้นในบริษัท Alibaba
และชื่อบริษัท YAHOO! เดิมก็คงเหลือไว้เป็นแค่ ตำนาน ให้เราได้เรียนรู้เท่านั้น..
----------------------
ถ้าชอบเรื่องราวแบบนี้ อ่านบทความของลงทุนแมนแบบรวมเล่มได้ในหนังสือ ลงทุนแมน 1.0 หาซื้อได้ที่ ร้านหนังสือชั้นนำได้แล้ววันนี้
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ SE-ED https://m.se-ed.com/Product/Detail/9786160830985
หรือ ที่เว็บไซต์ shoptAt24 ส่งฟรีที่ร้าน 7-11 ทุกสาขา goo.gl/Z125LL
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.