ใครคือผู้ก่อตั้ง MUJI แบรนด์ไม่มีแบรนด์ แต่มูลค่าแสนล้าน

ใครคือผู้ก่อตั้ง MUJI แบรนด์ไม่มีแบรนด์ แต่มูลค่าแสนล้าน

6 มิ.ย. 2022
ใครคือผู้ก่อตั้ง MUJI แบรนด์ไม่มีแบรนด์ แต่มูลค่าแสนล้าน /โดย ลงทุนแมน
หากเราพูดถึงร้านค้าสไตล์มินิมัล หนึ่งในนั้นก็น่าจะมีชื่อของร้าน “MUJI” รวมอยู่ด้วย
รู้หรือไม่ว่าในปีที่ผ่านมา เจ้าของร้าน MUJI อย่างบริษัท Ryohin Keikaku Co., Ltd. มียอดขาย 121,000 ล้านบาท
แถมยังจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทราว 100,000 ล้านบาท
หนึ่งในภาพจำสำหรับแบรนด์นี้ก็คือ สินค้าทุกชิ้นจะเรียบง่าย ไม่มีโลโกแบรนด์ ไม่มียี่ห้ออะไรติดอยู่
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่ามันเป็นไอเดียและความตั้งใจของผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้เลย
ผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ คือใคร
แล้วทำไม MUJI ถึงอยากให้แบรนด์ไม่มีแบรนด์ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวของ MUJI เริ่มต้นมาจากชายที่มีชื่อว่า “คุณเซจิ ซึซูมิ”
เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย โดยคุณพ่อของเขาเป็นนักธุรกิจ
ที่ประกอบธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน โดยมี 2 ธุรกิจหลักคือ
- บริษัท Kokudo Keikaku land-management ซึ่งเป็นบริษัทจัดการที่ดิน
- บริษัท Seibu Railway ซึ่งในเวลานั้น คือหนึ่งในบริษัทเดินรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
นอกจากธุรกิจหลักแล้ว ครอบครัวของเขาก็ยังคงมีธุรกิจในส่วนอื่นอีกด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม, อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก ภายใต้บริษัทที่ชื่อว่า “Seibu Retailing Group”
ภายหลังจากที่คุณเซจิ ซึซูมิ จบการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก University of Tokyo
เขาก็ได้เริ่มทำงานเป็นเลขานุการให้กับคุณพ่อของเขาทันที ที่บริษัท Seibu Railway
ถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจจะคิดว่าเส้นทางธุรกิจของเขาน่าจะราบรื่น
แต่มันกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะคุณเซจิ ซึซูมิ ได้เผชิญเข้ากับจุดเปลี่ยนของชีวิต
ในวันที่คุณพ่อของเขาได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1964
ที่บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็เพราะว่า แทนที่มรดกจะถูกแบ่งให้ลูกในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน
แต่กลับกลายเป็นว่าธุรกิจเกือบทั้งหมด กลับถูกยกให้พี่ชายของเขา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่
อย่าง Kokudo Keikaku หรือแม้แต่บริษัทเดินรถไฟอย่าง Seibu Railway ก็ตาม
โดยส่วนของคุณเซจิ ซึซูมิ กลับได้รับเพียง Seibu Retailing Group ธุรกิจค้าปลีก เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าหรู ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นเพียงบริษัทลูกของ Seibu Railway เท่านั้น
แต่ในความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดี
ตรงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด
โดยเป็นผลมาจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทางผู้ชนะสงครามอย่างสหรัฐอเมริกา
ก็ได้สั่งห้ามญี่ปุ่นสะสมกำลังทหาร โดยให้มีกำลังทหารไว้เพียงแค่ป้องกันประเทศ
เรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะแย่ แต่มันกลับทำให้ญี่ปุ่นที่ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากด้านการทหาร จึงสามารถนำเงินงบประมาณที่เหลือ ไปใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่
ซึ่งก็ทำให้ในช่วงปี ค.ศ. 1960 ถึงปี ค.ศ. 1970 GDP ของญี่ปุ่นมีการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 10% ต่อปี เลยทีเดียว
เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง รายได้ของชาวญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอย ที่เพิ่มขึ้นด้วย และแน่นอนว่าธุรกิจที่ได้รับประโยชน์เข้าเต็ม ๆ ก็คือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า
แล้วอุตสาหกรรมค้าปลีกในญี่ปุ่นเติบโตมากขนาดไหน ?
ยอดขายโดยรวมของร้านค้าปลีกในญี่ปุ่น
เพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านล้านเยน ในปี ค.ศ. 1958
เป็น 21.8 ล้านล้านเยน ในปี ค.ศ. 1970
คิดเป็นการเติบโต 6 เท่า ภายในระยะเวลา 12 ปี
ในขณะที่ยอดขายของห้างสรรพสินค้า
เพิ่มขึ้นจาก 0.41 ล้านล้านเยน ในปี ค.ศ. 1960
เป็น 1.8 ล้านล้านเยน ในปี ค.ศ. 1970
คิดเป็นการเติบโตเกิน 4 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี
ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกของคุณเซจิ ซึซูมิ เติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งเขาก็ได้ทำการขยายกิจการ โดยใช้วิธีเพิ่มรูปแบบของร้านค้า ให้มีหลากหลายประเภทมากขึ้น
รู้หรือไม่ว่า หนึ่งในร้านสะดวกซื้อที่เรารู้จักกันดีอย่าง FamilyMart
ก็ถูกก่อตั้งโดย Seibu Retailing Group ของคุณเซจิ ซึซูมิ เช่นเดียวกัน
โดยสาขาแรกได้เปิดให้บริการที่เมือง Sayama ในปี ค.ศ. 1973
เมื่อกิจการเติบโตขึ้น ในที่สุด Seibu Retailing Group ก็ได้ทำการแยกธุรกิจออกจากบริษัทแม่อย่าง Seibu Railway
แต่แล้วการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกที่ร้อนแรงนี้ ก็ได้ทำให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกเต็มไปด้วยการแข่งขัน จนนำไปสู่สงครามราคา เพื่อแก่งแย่งลูกค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดกันเองในญี่ปุ่น
เหล่ากลุ่มบริษัทค้าปลีก เริ่มที่จะแข่งขันกันด้วยการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และขายในราคาที่ต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม ราคาขายที่ถูกซึ่งเกิดจากการลดต้นทุนในการผลิต ทำให้สินค้าไม่มีคุณภาพตามไปด้วย
ส่งผลให้ในตอนนั้น ญี่ปุ่นเต็มไปด้วยแบรนด์สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ
แต่ก็เป็นจุดนี้เอง ที่ทำให้แบรนด์ MUJI ถือกำเนิดขึ้นมา
เพราะในวันที่ตลาดกำลังเดือด ต่างคนต่างพากันลดต้นทุน เพื่อแข่งขันกัน
คุณเซจิ ซึซูมิ กลับมองอีกมุมหนึ่งว่า การกระทำเหล่านี้ไม่ใช่แผนธุรกิจที่ยั่งยืน
เขาจึงเลือกที่จะใช้วิธีตรงข้ามกัน และปรับเปลี่ยนมุมมองจาก “แบรนด์สินค้า ที่ไม่มีคุณภาพ”
เป็น “สินค้ามีคุณภาพ ที่ไม่มีแบรนด์” จนกลายมาเป็นการก่อตั้งแบรนด์ MUJI ที่เรารู้จักกัน
คำว่า MUJI ย่อมาจากคำว่า Mujirushi Ryōhin แปลว่า สินค้าคุณภาพ ที่ไม่มีแบรนด์
ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนั้น ก็ยังเป็นเพียงธุรกิจส่วนเล็ก ๆ ภายใต้เชนร้านซูเปอร์มาร์เก็ต Seiyu เท่านั้น
จนในเวลาต่อมา ด้วยความที่ MUJI ออกแบบสินค้าได้ตอบโจทย์
สามารถใช้ได้ทุกเพศทุกวัย แถมยังเข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง
แฝงไปด้วยคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่งรายอื่น จึงทำให้แม้สินค้าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในตลาด แต่ผู้บริโภคก็ยังยอมจ่าย
ข้อแตกต่างเหล่านี้ ทำให้ MUJI โดดเด่นขึ้นมาจนกลายเป็นร้านขายดี
ถึงขนาดที่สามารถแยกตัวออกมาก่อตั้งเป็นอีกบริษัท ในชื่อ “Ryohin Keikaku Co., Ltd.”
หลังจากแยกตัวออกมา บริษัท Ryohin Keikaku Co., Ltd. ก็ได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
จนในปี ค.ศ. 1997 บริษัทเติบโตจนมีรายได้ 16,000 ล้านบาท และมีกำไร 730 ล้านบาท
และในปีถัดมา ซึ่งก็คือปี ค.ศ. 1998 บริษัท Ryohin Keikaku Co., Ltd. ก็สามารถจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้สำเร็จ
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน บริษัท Ryohin Keikaku Co., Ltd. เป็นบริษัทค้าปลีกที่มีสินค้าหลากหลาย
ตั้งแต่ของใช้ทั่วไป, เสื้อผ้า ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ รวม ๆ กันแล้วมีสินค้ามากกว่า 7,000 ชนิดด้วยกัน
ซึ่งนอกจากจะขยายธุรกิจค้าปลีกแล้ว บริษัทก็ยังมีธุรกิจอื่นอีกด้วย เช่น ร้านอาหารและคาเฟ
โดยบริษัทมีสาขาทั้งหมดจากทั่วโลกรวมกันอยู่ที่ 975 สาขา แบ่งเป็น
- ญี่ปุ่น 438 สาขา
- ยุโรปและอเมริกา 72 สาขา
- เอเชียตะวันออก 387 สาขา
- เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และอื่น ๆ 78 สาขา
ส่วนในประเทศไทย มีทั้งหมด 19 สาขาด้วยกัน โดย MUJI สาขาแรกคือ สาขาชิดลม
ซึ่งได้เข้ามาเปิดทำการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006
ในปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 121,000 ล้านบาท กำไร 9,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท
แล้วเราได้อะไรจากเรื่องนี้ ?
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ เราคงสังเกตเห็นกันแล้วว่า หนึ่งในเรื่องที่ส่งผลให้ MUJI ประสบความสำเร็จมาจนถึงวันนี้
คือ ความกล้าที่จะแตกต่าง
ในขณะที่หลายบริษัท กำลังใช้กลยุทธ์เดียวกัน เข้าตะลุมบอนในสงครามราคา
โดยมีจุดประสงค์เพียงหนึ่งเดียว คือการเอาชนะคู่แข่ง
แต่คุณเซจิ ซึซูมิ เลือกที่จะไม่เข้าร่วมในสงครามนั้น
ในทางกลับกัน เขาเลือกที่จะสร้างตลาดของตัวเองขึ้นมา
ด้วยความคิดที่ว่าไม่อยากแข่งขันกับใคร ไม่ต้องเหมือนใคร แต่ยังต้องแฝงไปด้วยคุณภาพ
ซึ่งจากความสำเร็จของ MUJI ในวันนี้ ก็เป็นตัวยืนยันแล้วว่า สิ่งที่เขาทำในวันนั้น.. ได้ผล
ในวันที่ทุกคนกำลังแข่งขันกัน เพื่อเอาชนะในเกมธุรกิจ
แต่เราอาจลืมไปว่า ความจริงแล้วในการทำธุรกิจนั้น ไม่ได้มีกฎกติกาตายตัวเสมอไป
หากเราลองถอยตัวเองออกมาสักก้าว แล้วลองมองในมุมที่กว้างขึ้น
เราอาจจะพบว่าบางทีชัยชนะ อาจไม่จำเป็นต้องมาจากการแข่งขันกับใคร
เพียงแค่ต้องหามุมที่แตกต่างออกไป แต่ต้องถูกใจผู้บริโภค..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.britannica.com/biography/Tsutsumi-Seiji
-https://en.wikipedia.org/wiki/Seiji_Tsutsumi
-https://en.wikipedia.org/wiki/Muji
-https://en.wikipedia.org/wiki/Credit_Saison
-https://en.wikipedia.org/wiki/Seiyu_Group
-https://en.wikipedia.org/wiki/Seibu_Department_Stores
-https://eastasianbusinesshistory.files.wordpress.com/2011/07/fujioka-cardiff.pdf
-https://core.ac.uk/download/pdf/230430628.pdf
-https://www.centralgroup.com/en/updates/corporate-news/580/muji-launches-a-new-concept-store-on-the-7th-floor-of-central-chidlom-highlighting-its-growth-despite-the-economy-with-japanese-products-that-have-won-the-heart-of-thais
-Ryohin Keikaku Consolidated Financial Results Year End 2021
-Ryohin Keikaku Annual Report 1998
-Ryohin Keikaku Annual Report 2020
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.